“ครูพร้อม” ผู้ปกครองกระอัก วิถีชีวิตนักเรียนยุคสู้โควิด


เพิ่มเพื่อน    

 

            ใครที่เฝ้าติดตามว่าเมื่อไหร่รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะมีนโยบาย “ลดค่าเทอม” จากการเรียนออนไลน์ที่ใช้กับนักเรียนในช่วงโควิด-19 ซึ่งไทยเจอการระบาดมา 3 ระลอก จนวันนี้ยังไม่คลี่คลาย พ่อแม่ผู้ปกครองเดือดร้อน ภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งค่าอุปกรณ์ดิจิทัล ค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าไฟ ค่าอาหารเมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านแทนการไปโรงเรียน

            ยังไม่รวมการจ่ายเงินล่วงหน้า ทั้งค่าอาหารกลางวัน ค่ารถรับส่ง ค่าที่พัก ค่าเรียนพิเศษแต่ไม่ได้ใช้ แต่กลับต้องจ่ายเพิ่มเข้าไปอีก มีแต่เงินออกจากกระเป๋า ทั้งที่ผู้ปกครองรายได้ลดลง บางบ้านพ่อแม่ตกงานเพราะบริษัทปิดกิจการเซ่นโควิด บางครอบครัวผู้ปกครองไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ลูกไม่ได้เรียนออนไลน์

            ในทางกลับกัน สถานศึกษามีค่าใช้จ่ายลดลงจากการให้เรียนออนไลน์ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบุคลากรต่างๆ เพราะเด็กไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียน ส่วนเว็บไซต์ “ครูพร้อม.com” ที่ ศธ.ทำขึ้นมา พ่อแม่ก็กุมขมับ เพราะผู้ปกครองไม่พร้อม ต้องออกไปทำงาน ไม่สามารถติดตามไปกับครูที่สอนออนไลน์ได้ แล้วยังพบนักเรียนจำนวนมากไม่พร้อมเรียนออนไลน์

            ล่าสุด มีสัญญาณตอบรับจากภาครัฐในเรื่องนี้ ศธ.ออกประกาศ เรื่อง แนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นแล้ว เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองในสถานการณ์โควิด-19

            ประกาศดังกล่าวสั่งโรงเรียนทั่วประเทศ โดยให้แนวปฏิบัติ 3 เรื่อง คือ 1.ในกรณีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว ให้คืนเงินบำรุงการศึกษาหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นในระหว่างที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น ค่าเรียนว่ายน้ำ ค่าห้องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

            2.ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น เพื่อใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อาจพิจารณาผ่อนผันหรือขยายระยะเวลาการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา หรือค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป

            3.พิจารณาให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ผู้ปกครองของนักเรียน นักศึกษา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามความจำเป็นเหมาะสม

            อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า แนวทางทั้ง 3 ข้อเป็นเพียงการขอความร่วมมือ และให้พิจารณาคืนเงินกันเอาเองหรือให้ผ่อนค่าเทอม ไม่ได้ใช้มาตรการบังคับหรือสั่งลดค่าเทอมย้อนหลังแต่อย่างใด

            ด้านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รมต.ก็เพียงขอความร่วมมือให้มหาวิทยาลัยลดค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้นิสิตนักศึกษา พบว่า มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมนับจำนวนได้

            นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถือเป็นโรงเรียนของรัฐที่ได้รับการสนับสนุนตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี แต่โรงเรียนในสังกัด สพฐ.เอง ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในหลายรูปแบบ เช่น ห้องเรียน English Program หรือ EP ห้องเรียน MINI EP เป็นต้น มีลักษณะเป็นห้องเรียนที่มีความพิเศษเฉพาะ และมีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ ส่วนนักเรียนห้องเรียนปกติ บางโรงเรียนจะมีการจัดกิจกรรมเสริม เพื่อให้เกิดคุณภาพที่ดีขึ้น รายละเอียดดังกล่าว สพฐ.ได้ออกประกาศอย่างชัดเจน เรื่อง การเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุงการศึกษามีกี่ประเภทที่สามารถเก็บได้ และจำนวนไม่เกินเท่าไร รวมถึงการจะดำเนินการจัดเก็บค่าใดๆ ต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของ ศธ.ดังกล่าว สพฐ.จะสื่อสารให้เชื่อมโยงกับหลักเกณฑ์ที่เราเคยประกาศไว้

            “ถ้ามีค่าธรรมเนียมส่วนไหนที่ไม่มีความจำเป็น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเดือดร้อนและภาระให้กับผู้ปกครอง ที่โรงเรียนสามารถปรับลดหรือไม่จัดเก็บได้ ก็ควรมีการปรับ แต่จะต้องยึดอยู่ภายใต้บริบทและความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ รวมถึงความสมัครใจของผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาด้วย” เลขาฯ กพฐ. กล่าว

            ขณะที่นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาฯ กช.) กล่าวว่า ปีการศึกษา 2564 นี้ ถือเป็นปีแรกที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้กำหนดให้โรงเรียนเอกชนในระบบทุกแห่งจะต้องส่งประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้ผู้อนุญาตรับทราบ กรณีกรุงเทพมหานครคือ เลขาฯ กช. ในส่วนภูมิภาคคือ ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบ อีกทั้งยังกำหนดให้ท้ายประกาศฯ ของแต่ละโรงจะต้องมีลายเซ็นของผู้อนุญาตลงนามรับทราบ พร้อมตรวจสอบข้อมูลค่าใช้จ่ายของโรงเรียน

            “จากสถานการณ์โควิด-19 เราได้เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมของปีที่ผ่านมาว่ามีการลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร ทั้งนี้กรณีโรงเรียนเพิ่มค่าธรรมเนียมจะต้องชี้แจงเหตุผลประกอบ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ใช่เป็นการแสวงหากำไรจนเกินควร หรือเป็นภาระแก่ประชาชน จะดำเนินการรับทราบให้ แต่ถ้าโรงเรียนชี้แจงแล้วฟังไม่ขึ้นจะต้องคืนเรื่องให้โรงเรียนกลับไปทบทวน” นายอรรถพลกล่าว

            อย่างไรก็ตาม เลขาฯ กช.ให้ข้อมูลเบื้องต้นพบค่าธรรมเนียมของโรงเรียนเอกชนหลายแห่งลดลง มาตรการนี้จะช่วยให้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมของโรงเรียนเอกชนมีความพิถีพิถันมากยิ่งขึ้น และฝากไปยังผู้ปกครอง หากประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของโรงเรียนใดไม่มีลายเซ็นของผู้อนุญาตรับทราบ ถือว่าประกาศค่าธรรมเนียมฉบับนั้นไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อเรียกเก็บได้

            ความไม่พร้อมของการศึกษาไทยในช่วงโควิดยังต้องเร่งแก้ปัญหา และมีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กไทยและลดความเครียดของพ่อแม่ผู้ปกครอง

        /////////////////////////////////////////////////////////

 

จากใจ..พ่อแม่เฝ้าลูกเรียนออนไลน์

 

            การเรียนออนไลน์เข้ามาแทนที่การเรียนในห้องเรียน อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เสียงสะท้อนของพ่อแม่ผู้ปกครองถือเป็นข้อเท็จจริงในชีวิตยุคนิวนอร์มอลที่มองข้ามไม่ได้

             นายธนาวุฒิ ขันทะชา คุณพ่อวัย 42 ปีของ “น้องบัวหอม” นักเรียนชั้น ป.3 วัย 9 ขวบ บอกว่า “ตอนนี้น้องบัวหอมเรียนออนไลน์กับมือถือ ส่วนปัญหาที่เจอนั้นเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายในการซื้อกับข้าวและของกิน เพราะเวลาที่เด็กต้องหยุดเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ก็จะมีเวลาว่างที่เหลือจากการเรียนออนไลน์ค่อนข้างมาก และทำให้เด็กออกไปซื้อของกินได้ด้วยตัวเองบ่อยขึ้น เพราะถ้าอยู่โรงเรียนน้องบัวหอมไม่ได้ออกมาซื้ออาหารกินเอง แต่จะกินเป็นเวลา คือ เวลาเที่ยงที่โรงเรียน ดังนั้นส่วนแรกเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายในการบริโภคที่จะเกิดได้บ่อยขึ้นในแต่ละวัน นอกจากนี้หลังจากที่เด็กเรียนออนไลน์ ก็มีแนวโน้มว่าจะชอบดูยูทูบต่อ นั่นจึงทำให้เด็กติดโทรศัพท์และอยู่กับโซเชียลมากขึ้นเช่นเดียวกัน

            “ทั้งนี้สิ่งที่อยากขอภาครัฐคือ ถ้าเป็นไปได้การให้อินเทอร์เน็ตฟรีในกลุ่มของผู้ปกครองที่มีลูกเล็กซึ่งต้องเรียนออนไลน์เสริม เพราะแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตโทรศัพท์มือถือเพิ่มเดือนละ 900 บาท และถ้าคิดเป็นวันที่ต้องเสียเงินเพิ่มค่าอินเทอร์เน็ตตกวันละประมาณ 30 บาท ก็น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองไปได้ครับ นอกจากนี้การที่เด็กเรียนออนไลน์ก็จะมีค่าไฟเพิ่มขึ้นต่อเดือนประมาณ 300-400 บาทจากการใช้ไฟฟ้าใช้พัดลม ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มองและช่วยเหลือเรื่องนี้ด้วยครับ”

            ด้านตัวจริงเสียงจริงของผู้ปกครองที่ลูกหลานต้องเรียนออนไลน์เพื่อฝึกอ่านฝึกเขียนอยู่บ้าน ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ตการ์ตูนสอนอ่านออกเสียง อย่าง “พรนภา ศรีดี” คุณป้าของหลานสาววัย 4 ปีที่กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนวัดนางนอน บอกว่า “บอกตามตรงว่าการที่เด็กเรียนออนไลน์ เด็กจะเรียนไม่ค่อยรู้เรื่องค่ะ เพราะเด็กวัยนี้ส่วนหนึ่งก็จะชอบเล่นมากกว่า แต่เมื่อครูให้เรียนเด็กก็ต้องทำตามนโยบายของโรงเรียนค่ะ การเรียนที่บ้านก็ต้องบอกว่าสิ้นเปลืองในระดับหนึ่งค่ะ เพราะแต่ละเดือนประกอบกับที่เด็กหยุดเรียนออนไลน์นั้น ทำให้ค่ามือถือเพิ่มเป็นเกินเดือนละ 1,000 บาท นอกจากนี้ก็ค่อนข้างเปลืองไฟฟ้า เพราะต้องเปิดพัดลม เนื่องจากอากาศนอกบ้านจะค่อนข้างร้อนมากค่ะ ก็เสียค่าไฟเพิ่มเดือนละ 400-500 บาท ตรงนี้ถ้าภาครัฐสามารถช่วยเหลือได้ อย่างน้อยๆ ถ้าสามารถช่วยได้สักครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายก็จะดีไม่น้อยค่ะ”

            ขณะที่ “กัลยา” เจ้าของร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ที่ลูกชายอายุ 9 ปี เรียนอยู่ชั้น ป.3 โรงเรียนซางตาครู้สศึกษา บอกว่า “ปกติทางโรงเรียนจะให้ลูกชายเรียนออนไลน์ แบบที่ครูวิดีโอคอลคุยกับนักเรียน ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ก็จะเรียนทุกวันค่ะจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่ 08.00-15.00 น. วิชาละประมาณ 1 ชั่วโมง ถามว่าเด็กสนใจเรียนแค่ไหนนั้น เราต้องคอยดูเวลาที่ลูกเรียนค่ะ เด็กจึงจะตั้งใจเรียนค่ะ แต่ถ้าให้โรงเรียนเปิดเทอมเร็วขึ้นนั้นก็ยังเป็นห่วงเกี่ยวกับโรคโควิด-19 อยู่ ดังนั้นการที่อยากให้เด็กได้ความรู้จากการเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองก็ต้องคอยดูควบคุมเด็กๆ ค่ะ ส่วนเรื่องค่าน้ำค่าไฟและอินเทอร์เน็ตก็เพิ่มขึ้นเป็นธรรมดาค่ะ เพราะลูกชายต้องเรียนออนไลน์วันละหลายชั่วโมง ตั้งแต่เช้าถึงบ่ายสามโมงเย็น ตรงนี้ถ้าภาครัฐเข้าช่วยเหลือค่าใช้จ่ายได้เท่าที่สามารถช่วยประชาชนได้ก็รู้สึกยินดีค่ะ โดยส่วนตัวไม่ได้เรียกร้องค่าใช้จ่ายค่ะ แล้วแต่จะช่วยเหลือค่ะ”

            ไม่ต่างจาก “วันชัย บุญชา” เจ้าของร้านขายของชำที่มีลูกสาวเรียนอยู่ชั้น ป.5 และหลานเรียนอยู่ชั้น ป.1 โรงเรียนวัดบางสะแกใน บอกว่า “ที่ผ่านมาลูกสาวคนโตเรียนออนไลน์ จากการที่ครูสั่งงานผ่านคลิปวิดีโอการสอนทางแอปพลิเคชันเมสเซนเจอร์ในเฟซบุ๊ก และให้นักเรียนส่งการบ้านผ่านทางแอปพลิเคชันดังกล่าว ส่วนหนึ่งในฐานะผู้ปกครองอยากให้โรงเรียนเปิดเทอมเร็วขึ้นครับ เพราะมองว่าเด็กๆ เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง และเวลาที่เราเห็นลูกเรียนไม่เข้าใจ เราก็รู้สึกไม่ค่อยโอเคครับ อยากให้เด็กได้เรียนกับครูมากกว่า เพราะเวลาที่เด็กไม่เข้าใจ ครูจะสามารถอธิบายให้เด็กเข้าใจได้ดีกว่าการให้ผู้ปกครองช่วยสอนครับ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย น้ำ ไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ต โดยส่วนตัวยังรับได้กับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ครับ”

            ปิดท้ายกันที่ “ป้านิด” วัย 68 ปี อาชีพขายสินค้าเบ็ดเตล็ด ที่หลานชายวัย 15 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.2 โรงเรียนวัดไทร ให้ข้อมูลว่า “ทุกวันนี้หลานชายเรียนออนไลน์ โดยคุณครูจะส่งคลิปวิดีโอการเรียนการสอนมาให้เปิดดูในไลน์ และทำการบ้านส่งให้ครูดูโดยส่งผ่านไลน์ ก็ต้องบอกว่าการเรียนนั้นหลานก็รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างครับ เพราะถ้าหลานไปโรงเรียนก็ทำให้เรียนเข้าใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งเด็กอยู่ใกล้ครู เวลาไม่เข้าใจ ครูก็จะอธิบายให้เด็กเข้าใจ สำหรับปัญหาในการเรียนออนไลน์ของหลานนั้น คือ เวลาที่หลานยังทำการบ้านไม่เสร็จ ป้าก็จะยังไม่ออกไปทำธุระ เพราะต้องรอให้หลานทำการบ้านให้เสร็จก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่บ้าน เดือนละประมาณ 680 บาท เพื่อเชื่อมต่อกับมือถือให้หลานได้เรียนออนไลน์ ประกอบกับตัวป้าก็ออกมาขายถุงเท้า บางวันก็ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตรงนี้หากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือตามที่สามารถช่วยได้ก็ยินดี โดยส่วนตัวไม่เรียกร้องอะไรค่ะ ก็พยายามที่จะจัดสรรค่าใช้จ่ายให้เพียงพอโดยการประหยัดค่ะ”


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"