ปลัด สธ.ยันทุกจังหวัดมีวัคซีนโควิด-19 ฉีดวันที่ 7 มิ.ย. เผยทยอยจัดส่งวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคแล้ว สัปดาห์นี้รวม 2 ล้านโดส โดยจัดส่งพื้นที่ห่างไกลก่อน หลายจังหวัดได้รับแล้ว บางพื้นที่อยู่ระหว่างการขนส่ง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์แจงฉีดซิโนฟาร์มยี่ห้อเดียว ส่วนเรือนจำปูพรมฉีดเข็มแรกแล้ว
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 64 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ทยอยจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว โดยสัปดาห์นี้จัดส่งวัคซีนทั้งของแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวครวมแล้วประมาณ 2 ล้านโดส ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้แก่ประชาชน ยืนยันว่าทุกจังหวัดจะมีวัคซีนโควิด-19 ฉีดในวันที่ 7 มิ.ย.64 ซึ่งเป็นวันคิกออฟฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวนมากพร้อมกันทุกพื้นที่ตามนโยบายของ ศบค.และนายกรัฐมนตรี
"การจัดส่งวัคซีนจะทยอยจัดส่ง โดยจังหวัดที่อยู่ไกล การขนส่งลำบาก จะมีการจัดส่งไปก่อน ซึ่งขณะนี้หลายจังหวัดได้รับวัคซีนแล้ว เช่น เขตสุขภาพที่ 1, เขตสุขภาพที่ 7 เป็นต้น ส่วนบางพื้นที่ยังอยู่ระหว่างการขนส่ง โดยจะทยอยส่งไปเรื่อยๆ เป็นรายสัปดาห์ ซึ่งการจัดส่งมีความยืดหยุ่นสามารถปรับให้เหมาะสมได้ตามสถานการณ์ โดยตลอดเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนจัดส่งไปประมาณ 5-6 ล้านโดส" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ทั้งนี้ การจัดสรรวัคซีนขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่มีและความต้องการในการฉีดบนหลักการทั่วถึงและเป็นธรรม คือจัดสรรวัคซีนให้ทุกจังหวัด และปรับเกลี่ยโดยพิจารณาทั้งอัตราส่วนวัคซีนต่อประชากร พื้นที่ระบาด ซึ่งจังหวัดที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 มากกว่าจะได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่สูงกว่าจังหวัดที่มีการระบาดน้อย และพื้นที่จำเพาะตามนโยบายด้วย เช่น พื้นที่ท่องเที่ยว เป็นต้น
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เผยว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อยู่ระหว่างรอนโยบายในการกระจายวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มจากรัฐบาล ขอให้หน่วยงาน องค์กรและบริษัทต่างๆ ติดตามความคืบหน้าอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม จากเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทาง FB และสื่อต่างๆ ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เท่านั้น
"อย่างที่เรียนไว้ก่อนหน้านี้ว่า ถึงเวลานี้เราวัคซีนทั้งปริมาณและคุณภาพมากขึ้นแล้ว รอแต่หาพยาบาลมือเบาๆ นะครับสำหรับซิโนฟาร์มรอนิดครับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขอโทษประชาชน ต้องปิดให้บริการฉีดวัคซีนเข็มแรก เนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวคอีกต่อไป"
ขณะที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์แจ้งทางเพจเฟซบุ๊กว่า เนื่องจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่ได้รับการจัดสรร “วัคซีนหลัก” (ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า) เพื่อให้บริการอีกต่อไป โรงพยาบาลจุฬาภรณ์จึงต้องขออภัยทุกท่านที่ไม่สามารถให้บริการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับผู้ที่ได้ลงทะเบียนผ่านระบบราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไว้แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป รวมถึงสถานศึกษาและหน่วยงานของรัฐที่ได้ขอติดต่อเพื่อรับการฉีดวัคซีนหลักทั้งสองชนิดด้วย
เร่งฉีดวัคซีนในเรือนจำ
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจลงทะเบียนเพื่อมารับการฉีดวัคซีนกับเรา และขอขอบคุณจิตอาสาและเจ้าหน้าที่จากองค์กรต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนการบริการฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์มาโดยตลอด
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรงหากได้รับเชื้อ หรือมีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้อ ขอให้ท่านรีบลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีนกับศูนย์ฉีดวัคซีนของส่วนกลางโดยเร็วเพื่อลดการแพร่ระบาด
ส่วนผู้ที่มีปัญหาในการหาสถานที่ลงทะเบียนที่อื่น และยังมั่นใจประสงค์ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยฯ จะพยายามอย่างเต็มความสามารถในการหาวัคซีนอื่นที่มีคุณภาพมาให้บริการเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามพระปณิธานขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว ท่านยังสามารถมารับการฉีดเข็มที่สองได้ตามนัดหมาย
ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 แก่ผู้ต้องขังเรือนจำกลางสมุทรปราการ โดยมีว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม, นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ, นายยงยุทธ สุวรรณบุตร ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ, นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายยุทธนา นาคเรืองศรี ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสมุทรปราการ ร่วมงาน
นายสมศักดิ์กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในวันนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลกระทบต่อการเจ็บป่วยรุนแรง หรือการเสียชีวิตของผู้ต้องขัง ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นต่อญาติผู้ต้องขังและสังคมภายนอก ว่ากรมราชทัณฑ์สามารถจะควบคุมสถานการณ์ได้ และสามารถให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างมีศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับภายนอก จึงได้จัดทำโครงการฉีดวัคซีนป้องกันแก่ผู้ต้องขังทั้งหมด 6,515 คน โดยเป็นวัคซีนซิโนแวค ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมควบคุมโรค และบุคลากรจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ และโรงพยาบาลบางบ่อ ในฐานะโรงพยาบาลแม่ข่าย และอาสาสมัครพยาบาล รวม 40 คน ในการฉีดวัคซีนแก่ผู้ต้องขัง ระหว่างวันที่ 3-6 มิ.ย. 4 รวม 4 วัน หรือวันละประมาณ 1,800 คน
ตรังได้วัคซีนแค่ 3,600 โดส
นายสมศักดิ์กล่าวว่า จากนี้เราจะทยอยฉีดให้แก่เรือนจำอื่นๆ อีก โดยเฉพาะเรือนจำที่ปลอดเชื้อแต่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ตามที่ตนได้อภิปรายในการประชุมสภาไปแล้ว และขอฝากให้ข้าราชการทุกท่านช่วยกันสอดส่องดูแล รวมทั้งผู้ต้องขังทุกท่านต้องป้องกันตัวเองปฏิบัติตามมาตรการด้วย เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยทางรัฐบาลจะเริ่มคิกออฟวันที่ 7 มิ.ย. 2564 แต่เราต้องเริ่มก่อน เพราะรอไม่ได้ เมื่อเราได้วัคซีนจากกรมควบคุมโรคเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2564 แล้วเราจึงต้องดำเนินการฉีดทันที
ที่จังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การฉีดวัคซีนนำร่องนั้น ทางจังหวัดนครราชสีมาได้รับวัคซีนมาทั้งหมด 8 หมื่นโดส ส่วนในการฉีดรอบต่อไป ก็จะเป็นในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยจะพยายามนัดหมายประชาชนที่ลงทะเบียน ในระบบเอาไว้ให้ทยอยกันมาฉีด ว่าจะมาฉีดกันวันไหนอย่างไร โดยในต่างจังหวัดก็ได้น้อยลงมา เพราะวัคซีนจะนำไปใช้กับประชาชนที่อยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ติดเชื้อมากขึ้น โดยทางรัฐบาลก็จะจัดสรรทยอยให้วัคซีนมาเรื่อยๆ โดยวัคซีนที่จะนำมาครั้งนี้ก็จะมีทั้ง 2 ชนิด สำหรับเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อดังกล่าวมักจะมีภาวะแทรกซ้อนที่ปอด มีอาการปอดอักเสบ หายใจลำบาก จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในระหว่างการพักรักษาในสถานพยาบาล
ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานประชุมการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดตรัง (การบริหารจัดการวัคซีน) ซึ่งจังหวัดตรังได้รับวัคซีน 3,600 โดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค โดยจะมีการกระจายวัคซีนไปตามอำเภอต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน และจะฉีดให้ผู้ที่ลงทะเบียนหมอพร้อมที่ได้รับการตอบรับยืนยันก่อน
ทั้งนี้ ได้สั่งนายอำเภอทุกอำเภอให้กำชับท้องถิ่นเรื่องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการฉีดวัคซีนและถุงยังชีพ ให้ช่วยดูแลพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด และกำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องฉีดวัคซีนเรียงลำดับตามบัญชีลงทะเบียน ห้ามคนไม่มีชื่อเข้ามาฉีดโดยเด็ดขาดป้องกันปัญหาการดรามาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งวัคซีนมาเพียง 3,600 โดส ไม่เพียงพอจำนวนคน ดังนั้นจะฉีดให้กับคนลงทะเบียนหมอพร้อมก่อน และจะเตรียมรายชื่อแจ้งให้ทราบล่วงหน้า สำหรับวัคซีน ได้นัดมาซักซ้อมแนวปฏิบัติ ได้รับสนุนวัคซีน 3,600 โดส จัดเตรียมคน รวมถึงที่จะให้องค์กรท้องถิ่นได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ไม่สะดวกให้ท้องถิ่นลงไปพบประชาชน อำนวยความสะดวกมาฉีดตามสถานที่กำหนด รวมถึงกำหนดรายชื่อผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนตามสะดวกที่ทางผู้จองได้รับข้อมูล
นพ.ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า สำหรับการลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ผ่านระบบ “หมอพร้อม” ของจังหวัดอำนาจเจริญ ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรคและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จังหวัดอำนาจเจริญมีผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 73,000 คน โดยจะเริ่มฉีดวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ณ ศูนย์ประชุมพุทธอุทยานอำนาจเจริญ, โรงพยาบาลอำนาจเจริญ และโรงพยาบาลอำเภอทุกอำเภอ ส่วนกลุ่มของช่วงอายุ 18-60 ปี ซึ่งมีการลงทะเบียนผ่านระบบ “อำนาจพร้อม” อสม.รพ.สต. และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |