ถ้าเป็นไปตามความคิดของผู้ว่าแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ก็ต้องรอถึงไตรมาสแรกของปี 2566
นั่นแปลว่าครึ่งหลังของปีนี้และตลอดทั้งปีหน้าก็ยังเป็นช่วง
"เวลาแห่งความแปรปรวนและปั่นป่วน"
แต่ถ้าฟังรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ท่านก็ชวนให้มองในแง่บวกมากกว่า
ท่านพูดระหว่างการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64 ว่ามีสัญญาณด้านบวกอย่างน้อย 4 ด้าน คือ
1.ตัวเลขเศรษฐกิจติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน แต่พบว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบอยู่ที่ 2.6%
นับว่าเป็นตัวเลขติดลบที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะติดลบมากกว่านี้ดังที่หลายสำนักได้คาดการณ์ไว้
2.การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น
ในไตรมาส 1 มีสัญญาณบวกของราคาสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย และเห็นได้ชัดเจนขึ้นในเดือนเมษายน เมื่อพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนเมื่อปีที่ผ่านมา
3.มีการขยายตัวด้านการลงทุนของภาคเอกชน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีการขยายตัวของภาคเอกชนซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบ 4 ไตรมาสที่มีการระบาดของโควิด-19 แม้จะมีอัตราการขยายตัวไม่มาก
แต่นับเป็นสัญญาณที่ดี โดยพบว่ามีการนำเข้าสินค้าทุนสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงการลงทุนด้านเครื่องจักรต่างๆ ที่จะช่วยเสริมการผลิตของประเทศไทยในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาส 1 ของปีนี้ ซึ่งเติบโตมากกว่าในไตรมาส 1 ของปีที่แล้วถึง 80%
4.การจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของไทยยังอยู่ในสถานะที่ดี
จากข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 พบว่าประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนับเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน สถาบันการเงินในประเทศทั้งธนาคารของรัฐและธนาคารพาณิชย์อยู่ในสถานะที่เข้มแข็ง โดยหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในไตรมาส 1 อยู่ที่ 3.1% มีการตั้งสำรองสูง ทั้งยังมีการตั้งสำรองเพิ่มเติม และอัตราส่วนของกองทุนก็เกินมาตรฐานขั้นต่ำอยู่หลายเท่าตัว
ด้านผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมองในแง่น่ากังวลว่า
“เศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวเกือบจะมากที่สุดในภูมิภาค จากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรง อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสามและการกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง"
คุณเศรษฐพุฒิบอกว่า การระบาดที่เกิดขึ้นหลายระลอกและมาตรการที่ออกมาควบคุม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดเป็นช่วงๆ ส่งผลต่อไปยังกำลังซื้อและกิจกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ธุรกิจในภาคการค้าและบริการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ได้รับผลซ้ำเติมต่อเนื่อง
“ความรุนแรงของผลกระทบและความทนทานของธุรกิจต้องวัดกันที่สายป่านเป็นสำคัญ บางธุรกิจที่สายป่านสั้นต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว หลายธุรกิจขาดรายได้ กระทบสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกตินี้ ธุรกิจ SMEs จึงต้องการความช่วยเหลือเยียวยาโดยเร่งด่วน” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
คุณเศรษฐพุฒิบอกว่า เมื่อมองไปข้างหน้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลา ทำให้ต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของ SMEs ไม่ให้ลุกลามไปกว่านี้ ซึ่งทั้ง 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และ SMEs ต้องทำงานร่วมกัน และยกระดับบทบาทของตนในการช่วยให้ SMEs ได้รับสภาพคล่องอย่างทันการณ์
“ผมอยากจะขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ใช้แนวทางนี้ในการขยายผลออกไปเพื่อช่วยคู่ค้ารายย่อยของท่าน ซึ่งจะทำให้ SMEs กว่า 1.8 ล้านราย ที่จ้างงานกว่า 7.5 ล้านคน และเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจ มีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสูงขึ้น และแม้อาจไม่สามารถช่วยได้ทุกคน แต่การร่วมกันทำงานของทุกฝ่ายอย่างเต็มที่จะช่วยธุรกิจ SMEs ได้มากที่สุด และเป็นประโยชน์กับธุรกิจในภาพรวม” คุณเศรษฐพุฒิบอก
เรื่องเดียวกันแต่มองจากคนละมุม ก็มองเห็นคนละด้านได้เหมือนกัน
แต่ท้ายสุดรัฐบาลต้องลงเดินถนนเพื่อวัดชีพจรความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
นั่นจึงจะเป็นคำตอบแท้จริงที่เป็นหัวใจของปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |