3 มิ.ย.64 - นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตเลขาธิการแพทยสภา อดีตรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สังคมไทยได้รับการสนับสนุนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยที่ พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์(รจภ. )ได้เปิดเผยถึงแนวทางที่จะให้ จังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดต้นแบบวัคซีนทางเลือก หลังจากที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับสิทธิ์เป็นผู้นำเข้า วัคซีนทางเลือกตัวแรก คือ “ซิโนฟาร์ม”จากประเทศจีนในเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะร่วมมือกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ทำให้เป็นต้นแบบ เพราะเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมและมีประสบการณ์
“อย่างไรก็ตาม จะเป็นที่น่าเสียดาย หากพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย แกนนำรัฐบาล กลับขวางแนวคิดนี้ บอกให้ไปขออนุญาตจาก ศบค.ก่อน กลัวว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำกับ อบจ.ขนาดเล็ก ทัศนคติเช่นนี้จะซ้ำเติมวิกฤติ พาชาติบ้านเมืองถอยหลังเข้าคลอง “…นพ.ชูชัย กล่าวย้ำ
นพ.ชูชัย ให้ความเห็นในฐานะที่มีส่วนร่วมศึกษาวิจัยรัฐธรรมนูญพ.ศ.๒๕๔๐ และมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ ว่า ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมากว่าห้าทศวรรษได้บัญญัติไว้ว่า …”บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” สำหรับในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (๒๕๖๐)ปรากฏในมาตรา ๔๗ วรรคสาม บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวส่งผลให้ การควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตราย ดำเนินการอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง
ทั้งนี้เพราะ หากมีประชาชนคนไทยหรือบุคคลที่อาศัยหรือทำงานบนแผ่นดินไทย คนยากคนจนหรือผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนเปราะบาง หรือคนไร้รัฐ แรงงานข้ามชาติ หรือที่เรียกตามภาษาราชการว่า "แรงงานต่างด้าว" และอื่นๆ ต้องมาแบกรับหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับตนเองและครอบครัว นอกจากการดำเนินการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตรายเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไร้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ยังเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางสังคมมากยิ่งขึ้น หากคนที่มีฐานะเท่านั้น จึงได้รับวัคซีน สังคมจะเกิดความโกลาหล และไม่สามารถป้องกันควบคุมโรคติดต่ออันตรายได้เลย
อดีตรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขกระจายอำนาจไปสู่ จังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชนท้องถิ่น(อาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม. ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ ปราชญ์ชาวบ้าน ) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ การควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตราย ดำเนินการอย่างได้ผล ดังนั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตราย จึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนให้ดำเนินการ ไม่ใช่ยกอ้างเอาระเบียบกระทรวงที่รวมศูนย์อำนาจที่ล้าหลังมาเป็นอุปสรรคเพราะที่ผ่านมาไม่เพียงแต่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ หากยังเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาโรคติดต่ออันตราย อีกด้วย
ทั้งนี้เพราะ หากกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เช่น ให้เกาะภูเก็ต หรือ มณฑล(รูปแบบสมัยรัชกาลที่ห้า)อันดามัน(ห้าจังหวัด) หรือ จังหวัดอื่นๆ มีอำนาจจัดการตนเอง ย่อมส่งผลให้สุขภาพของผู้คน การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟูสภาพกลับมาสู่ปกติได้ดียิ่งขึ้น
“การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการดำเนินตามมาตรา ๔๗ วรรคสาม ยังจะทำให้ระบบการควบคุมป้องกันโรคของไทยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและประชาคมโลกว่า เป็นระบบดีที่สุดแห่งหนึ่งบนโลกใบนี้ ตลอดไป แต่ทำไมในสถานการณ์ปัจจุบันเรากำลังเดินเข้าสู่สภาวะวิกฤติ และกำลังเผชิญกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีน และทำไมเราจึงไม่สามารถแสดงศักยภาพให้สมกับเป็นประเทศที่มีระบบการควบคุมป้องกันโรคที่ดีสุดแห่งหนึ่งบนโลกใบนี้?” นพ.ชูชัย กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |