เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อนุมัติรับรองวัคซีนซิโนแวคใช้ได้กรณีฉุกเฉิน นับเป็นวัคซีนจากประเทศจีนชนิดที่ 2 ที่ได้รับการอนุมัติ หลังจากวัคซีนซิโนฟาร์มได้รับการรับรองไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้รายชื่อวัคซีนที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเป็นสัญญาณให้กับผู้บังคับใช้กฎหมายของชาติต่างๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดทั้งหลาย และจะเป็นการเปิดทางให้รวมเอาวัคซีนที่อยู่ในรายชื่อไปร่วมกับโครงการ COVAX โครงการระดับโลกที่จะช่วยส่งวัคซีนไปยังประเทศยากจน ซึ่งเวลานี้กำลังประสบปัญหา ผลจากอินเดียระงับการส่งออกวัคซีน
โดยการตัดสินใจรับรองดังกล่าวมีขึ้นหลังกลุ่มที่ปรึกษาเชิงเทคนิคของ WHO ซึ่งประชุมกันตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. ทบทวนข้อมูลล่าสุดจากการทดลองเชิงคลินิกเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค รวมไปถึงพิจารณาทบทวนวิธีการผลิตของบริษัทผู้ผลิตแล้ว
ที่ผ่านมา WHO ได้มีการเรียกร้องขอรายละเอียดเกี่ยวกับความปลอดภัย รวมไปถึงข้อมูลกระบวนการผลิตวัคซีนของบริษัทซิโนแวคมาโดยตลอด เพื่อจะนำเอาข้อมูลมาประเมินว่ากระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานของ WHO หรือไม่ ซึ่งในการอนุมัติฉุกเฉินของทาง WHO นั้น ถือว่าเป็นใบเบิกทางสำคัญที่จะนำไปสู่การแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก และวัคซีนที่ได้รับการอนุมัตินั้นจะสามารถเข้าไปสู่โครงการโคแวกซ์ซึ่งเป็นโครงการของ WHO และองค์กรนานาชาติอื่นๆ ในการแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน
โดย ณ เวลานี้มีรายงานว่าทางโคแวกซ์มีการติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายแห่งในการจัดซื้อวัคซีนสำหรับประเทศยากจนต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการวัคซีนที่ยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามทางซิโนแวคไม่ได้ระบุว่ามีวัคซีนจำนวนเท่าไรที่จะบริจาคให้กับทางโคแวกซ์ ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่ทาง WHO ที่รับผิดชอบโครงการโคแวกซ์เองก็พยายามทำงานเพื่อที่จะบรรลุข้อตกลงในการจัดซื้อวัคซีนโคโรนาแวค ทั้งในเรื่องของการหารายละเอียดราคา ข้อมูลตารางการส่งมอบ และจำนวนวัคซีนที่จะมีการส่งมอบ แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าทางโครงการโคแวกซ์ต้องพบกับความยากลำบากในการหาคำตอบที่พึงพอใจสำหรับกรณีเรื่องวัคซีนดังกล่าว
ย้อนกลับไปในช่วงเวลาการอนุมัติวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าบริษัทยาจากตะวันตก อาทิ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และบริษัทไฟเซอร์นั้น มีความคุ้นเคยกับขั้นตอนและกระบวนการอันเกี่ยวข้องกับคุณภาพของทาง WHO มากกว่า และวัคซีนของบริษัทเหล่านี้ก็ได้รับการอนุมัติให้มีการใช้งานในโครงการโคแวกซ์เช่นกัน
ส่วนในกรณีวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องมากนัก ส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าในการอนุมัติฉุกเฉินวัคซีน โดย WHO ทั้งนี้ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมานั้น WHO ได้เคยอนุมัติวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบของบริษัทซิโนแวคมาแล้ว อย่างไรก็ตามบริษัทซิโนแวคค่อนข้างที่จะมีขนาดเล็กมากในช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่พอมาถึงช่วงปี 2563 ยอดขายของบริษัทซิโนแวคก็เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จากในช่วงปี 2562 ที่บริษัทซิโนแวคมียอดขายน้อยกว่า 246 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,699,800,000 บาท)
ก่อนหน้านี้ ทางผู้เชี่ยวชาญสุขภาพและนักไวรัสวิทยาในระดับโลกหลายคนล้วนคาดหวังว่าทาง WHO จะต้องมีการอนุมัติการใช้งานวัคซีนซิโนแวคในที่สุด แม้ว่าจะมีข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคที่ค่อนข้างหลากหลายในกระบวนการทดลองทางคลินิก ขณะที่ WHO เองก็กำลังถูกกดดันอย่างหนักเช่นกันว่าจะต้องอนุมัติฉุกเฉินวัคซีนหลายยี่ห้อมากกว่านี้ เพื่อที่จะรองรับในโครงการโคแวกซ์ ทำให้มีจำนวนวัคซีนเพียงพอต่อจำนวนประชากร อย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มประเทศที่ยากจน
สำหรับความคืบหน้าของโครงการโคแวกซ์นั้น มีการจัดส่งวัคซีนได้เพียงแค่ 70 ล้านโดส จากจำนวนทั้งหมด 2 พันล้านโดสที่โครงการรับปากไว้ว่าจะจัดหาให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดต่างๆ ที่ส่งผลไปถึงตัวผู้ส่งออกวัคซีนด้วย อาทิ กรณีสถาบันเซรุ่มของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเสาหลักของความพยายามของโคแวกซ์ ณ เวลานี้ก็ถูกบังคับให้ส่งกำลังการผลิตทั้งหมดเพื่อไปรับมือกับการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย
ซึ่งการอนุมัติวัคซีนแต่ละตัว เรื่องข้อมูลด้านความปลอดภัยสำหรับการฉีดวัคซีนจากทาง Real-World Study คือสิ่งสำคัญ และต้องการผลสำรวจจากผู้ฉีดวัคซีน โดยรายงานที่เปิดเผยโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ขององค์การอนามัยโลก (SAGE) ระบุว่า วัคซีนของซิโนแวคมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการโควิด-19 ได้ที่ระดับ 67%, ป้องกันการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากโควิด-19 ได้ 85%, ป้องกันการเข้า ICU เนื่องจากโควิด-19 ที่ระดับ 89% และป้องกันการเสียชีวิตเนื่องจากโควิด-19 ที่ระดับ 80% เมื่อเว้น 14 วันหลังฉีดวัคซีนครบ 2 โดส
โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สรุปผลการทดลองวัคซีนไว้ดังนี้ การทดลองในตุรกี (กลุ่มตัวอย่าง 13,000 คน) พบว่าสามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ได้ 84% และป้องกันการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคโควิด-19 ได้ 100%
การทดลองในชิลี (กลุ่มตัวอย่าง 10.5 ล้านคน) พบว่าสามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ได้ 67% และป้องกันการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคโควิด-19 ได้ 85%
และการทดลองในบราซิล (กลุ่มตัวอย่าง 12,688 คน) พบว่าสามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ได้ 51% และป้องกันการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคโควิด-19 ได้ 100%
โดยสรุปแล้วซิโนแวคป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 100% ในกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการวิจัย แต่สำหรับการใช้งานในกลุ่มผู้สูงอายุ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ยังไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มคนที่อายุเกิน 60 ปีได้ เนื่องจากมีผู้สูงอายุเข้าร่วมการทดสอบวัคซีนจำนวนไม่มาก
เมื่อผ่านการอนุมัติจาก WHO จึงทำให้สร้างความมั่นใจให้กับคนไทยที่ยังไม่กล้าฉีดวัคซีนให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมถึงลดการแพร่กระจายของโรคในไทยได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |