วันที่ 2 มิ.ย. นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ ในประเด็นข้อสงสัยต่อบทบาทกรมศิลปากร กรณีการก่อสร้างทางยกระดับและสถานีอยุธยา ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เนื่องจากมีเส้นทางผ่านเข้ามาใกล้พื้นที่มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment (EIA) เป็นอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ” ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งกรมศิลปากรไม่มีตัวแทนอยู่ในองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวทั้ง 2 ชุด และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่เคยมีหนังสือให้กรมศิลปากรเข้าร่วมประชุมหรือให้ความเห็นในการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ตลอดกระบวนการ
นายประทีป กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกหรือ Heritage Impact Assessment (HIA) นั้น ศูนย์มรดกโลกมีหนังสืออิเลกทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 ผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส มายังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ แจ้งให้ประเทศไทยรายงานการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดกับแหล่งมรดกโลกพิจารณจากการดำเนินโครงการการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา ซึ่งประเด็นนี้ได้ถูกนำเข้าในวาระการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 และคณะกรรมการฯ ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยาในพื้นที่ใหม่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับแหล่งมรดกโลก พร้อมจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (HIA) โดยมอบให้กรมศิลปากรในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ เป็นผู้ดำเนินการร่าง “กรอบข้อกำหนดประกอบรายงานประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment - HIA) นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกแล้ว ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ส่งร่างข้อกำหนดฯ ดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว