เตรียมตัวเตรียมใจกับโควิดที่จะอยู่ยาว


เพิ่มเพื่อน    

 

ถึงเดือนนี้การระบาดของโควิดทั่วโลกก็ดำเนินมากว่าปีครึ่งแล้ว และไม่มีท่าทีว่าจะสงบหรือยุติลงง่าย ๆ เห็นได้จากในหลายประเทศ เช่น อินเดีย บราซิล สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมันนี การระบาดยังมีมากแม้มีการระดมฉีดวัคซีนเต็มที่ในหลายประเทศ ที่สำคัญ การระบาดรอบใหม่ได้ย้ายจุดศูนย์กลางจากประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐ เข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาอย่าง อินเดีย และบราซิลที่ระบบสาธารณสุขในประเทศเหล่านี้เข้มแข็งน้อยกว่าประเทศอุตสาหกรรม ทำให้ประเมินได้ว่าการแพร่ระบาดคงมีอยู่ต่อไป และจะใช้เวลาอีกเป็นปีกว่าที่สถานการณ์การระบาดทั่วโลกจะสามารถควบคุมได้ คำถามคือ เราจะอยู่อย่างไรที่ภาวะที่การระบาดของโควิดจะเป็นภัยสาธารณสุขประจำวันอย่างน้อยอีกระยะหนึ่ง และรัฐควรให้ความสำคัญกับอะไรในแง่นโยบาย นี่คือ ประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ผมคิดว่ามีอย่างน้อยสามปัจจัย หรือสาเหตุที่ทำให้การระบาดของโควิด-19 จะอยู่กับเราต่อไปอีกอย่างน้อยหนึ่งถึงสองปี

หนึ่ง การระบาดเกิดขึ้นเป็นรอบ ๆ และในแต่ละรอบเชื้อไวรัสก็มีการกลายพันธุ์ ทำให้การป้องกันรวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะปกป้องคนจากการระบาดต้องปรับตัวตาม เห็นได้จากที่เรามีสายพันธุ์ดั้งเดิมจากอู่ฮั่นประเทศจีน สายพันธุ์อังกฤษ อัฟริกาใต้ และล่าสุดอินเดีย การกลายพันธุ์เหล่านี้ทำให้วิธีการรักษาและวัคซีนป้องกันต้องปรับตาม และยังไม่สามารถดักทางการกลายพันธุ์ของไวรัสได้ ทำให้การระบาดจะมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศที่มีสมรรถภาพทางสาธารณสุขต่ำ ที่จะเป็นจุดหรือพื้นที่เสี่ยงทำให้การระบาดจะปะทุขึ้นอีก จนกว่าทุกจุดจะสามารถควบคุมได้ซึ่งจะใช้เวลามาก

สอง วัคซีนขณะนี้เป็นแนวป้องกันเดียวที่โลกมีที่จะช่วยหยุดการระบาด และนำเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนกลับสู่ภาวะปรกติ จึงได้มีการระดมฉีดวัคซีนมาก ปัญหาคือ ความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนที่แตกต่างกันระหว่างประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญแล้ว กับประเทศยากจน คือ ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีพลังทางการเงินที่จะระดมฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ ความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้การระบาดจะไม่จบตราบใดที่ประเทศยากจนยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ กลายเป็นจุดเสี่ยงของโลกเพราะยังมีการระบาดและเป็นความเสี่ยงที่การระบาดอาจจะปะทุขึ้นทั่วโลกได้ จากจำนวนประชากรในประเทศกำลังพัฒนามีมาก

สาม คือเหตุผลทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ต้องการเร่งให้มีการเปิดประเทศ หยุดข้อจำกัดเรื่องการเดินทางข้ามพรมแดน และข้อจำกัดที่ลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้เหมือนเดิม เห็นได้ว่าในทุกครั้งที่การระบาดรอบใหม่เกิดขึ้นจะเป็นเพราะมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมต่าง ๆ เร็วเกินไป ล่าสุดที่อินเดียจนทำให้เกิดการระบาดใหญ่ นอกจากนี้ความสะดวกของการเดินทางระหว่างประเทศก็เป็นแรงส่งให้การระบาดสามารถกระจายตัวได้เร็วและหยุดยาก เพราะการเดินทางมีอยู่ตลอดเวลาด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจและครอบครัว

ทั้งสามปัจจัยนี้โดยเฉพาะปัจจัยที่สองเรื่องความเหลื่อมล้ำจะทำให้สถานการณ์การระบาดจะไม่จบง่าย ๆ เพราะการป้องกันการระบาดทำกันในระดับประเทศ ซึ่งประเทศยากจนเสียเปรียบไม่มีทรัพยากร ขณะที่โรคระบาดเป็นปัญหาระดับโลก ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ ดังนั้นถ้าจะหยุดการระบาดให้ได้เร็ว หรือรับมือกับการระบาดของไวรัสตัวใหม่ ๆ ในอนาคตได้จริงจัง การหยุดการระบาดต้องเป็นมาตรการหรือความพยายามระดับโลก ที่มาจากความร่วมมือของประเทศทั่วโลกไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างในปัจจุบัน

ในประเด็นนี้ น่าสนใจว่ารายงานขององค์การอนามัยโลกล่าสุด ที่ศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ทำงานให้องค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นให้ข้อสรุปว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นเรื่องที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ที่การระบาดใหญ่เกิดขึ้นก็เพราะมีจุดอ่อนในทุกจุดที่เกี่ยวกับการเตรียมการ (Preparedness) และการตอบโต้ (Response) นอกจากนี้ระบบเตือนภัยขององค์การอนามัยโลกก็ทำงานช้าเกินไป และเบาเกินไป คือ ไม่หนักแน่น รวมถึงขาดภาวะผู้นำระดับโลกที่จะสนองตอบกับปัญหา ทำให้การแก้ไขเกิดขึ้นช้า จนไม่สามารถหยุดการระบาดที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

รายงานได้เสนอให้มีการปฏิรูปหล่ายอย่างเพื่อการเตรียมตัวที่ดีขึ้นในระดับโลกที่จะตั้งรับสถานการณ์การระบาดในอนาคต เช่น จัดตั้งสภาสาธารณสุขโลกเป็นผู้นำความร่วมมือและความรับผิดรับชอบทางการเมืองในการป้องกันปัญหา มีระบบเฝ้าระวังที่โปร่งใสและให้อำนาจองค์การอนามัยโลกที่จะเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการระบาด รวมถึงส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบสถานการณ์ ผลักดันความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความพร้อมด้านสาธารณสุขระดับประเทศ รวมถึงสรรหาบุคคลากรและเงินทุนช่วยเหลือเมื่อเกิดการระบาด เป็นต้น

คำถามต่อมาคือ ประเทศเราต้องเตรียมการอะไรหรือไม่ ถ้าโควิดจะอยู่กับเราอีกนาน คือ ประชาชนต้องระวังภัยทางสาธารณสุขขณะเดียวกันก็ต้องทำมาหากิน ผมว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนต้องเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นระบบ เพราะคงเกิดขึ้นแน่ ๆ และรัฐไม่ควรทำนโยบายแบบตามสถานการณ์อย่างที่เกิดขึ้น เพราะทำให้เสียเวลาและสูญเสียมาก ผมว่ามีสามเรื่องที่ต้องคิด

 

หนึ่ง ความเข้มแข็งของระบบสาธารสุขสำคัญที่สุด เพราะต้องดูแลคนทั้งประเทศให้อยู่รอดปลอดภัย ซึ่งรัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเตรียมตัวในเรื่องอุปกรณ์ ยา บุคคลากร จำนวนเตียงคนไข้ และระบบงานต่าง ๆ ให้พร้อม ที่ผ่านมาคนไทยมีความภูมิใจมากกับความสามารถของบุคคลากรการแพทย์ และระบบสาธารณสุขของเรา สร้างความสบายใจให้กับประชาชนและประชาชนไว้วางใจ ความเข้มแข็งเหล่านี้เหล่าต้องรักษาไว้ โดยมาตรการของภาครัฐที่จะเสริมสร้างความพร้อม โยกย้ายทรัพยากรต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ ภายใต้หลักการว่าทำมากดีกว่าทำน้อย เพราะความไม่แน่นอนมีมาก ความเข้มแข็งนี้บวกกับการช่วยเหลือแบ่งปันระหว่างประชาชนด้วยกันและโดยภาคธุรกิจจะเสริมให้สังคมมีความพร้อมและเข้มแข็งที่จะอยู่กับปัญหาจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ดังนั้นรัฐต้องให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องนี้

สอง ภาคธุรกิจและประชาชนต้องปรับตัวและยอมรับความจริงว่า โลกต่อไปอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้าจะไม่เหมือนเดิม ทำให้การใช้ชีวิตต้องเปลี่ยน ต้องระมัดระวังมากขึ้นในแง่สาธารณสุข ต้องช่วยเหลือกันมากขึ้น มองความอยู่รอดของสังคมเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งความคิดหนึ่งที่คนไทยยอมรับมากจากเหตุการณ์โควิดระบาดครั้งนี้ คือ ชีวิตจากนี้ไปโดยเฉพาะหลังโควิดจะกลับไปเหมือนเดิมไม่ได้ เราต้องใช้ชีวิตให้ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการมีความสุขกับสิ่งที่เรามีในชีวิตมากกว่าการแสวงหาอย่างไม่สิ้นสุด ปรับปรุงชีวิตของเราให้มีคุณค่ากับตัวเองและสังคม ศรัทธาในตัวเองและสร้างความภูมิใจกับชีวิตเราเอง 

สาม บทบาทภาครัฐก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน การระบาดครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าความอ่อนแอในสังคมของเรามีมาก ที่คนจำนวนมากคือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรของประเทศไม่สามารถดูแลตัวเองได้เมื่อมีวิกฤติหรือตกงาน ขณะที่ความยุ่งยากและความสลับซับซ้อนของปัญหาก็เลยความสามารถ (Capacity) ของภาครัฐ โดยเฉพาะนักการเมือง และระบบราชการที่จะบริหารจัดการ ในหลายกรณี ช่องว่างระหว่างภาครัฐและปัญหามีมาก ทำให้การแก้ไขออกมาครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ทันการและไม่ตรงจุด เหมือนอยู่กันคนละโลก คือ โลกของภาครัฐที่เน้นการประชุมสั่งการ การปฏิบัติตามขั้นตอนตามระเบียบและพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งต่างกับภาคเอกชนและประชาชนที่อยากเห็นการทำนโยบายที่มองไปข้างหน้าเพื่อบริหารความเสี่ยง ลดโอกาสของการเกิดปัญหาต่าง ๆ ไม่ใช่ตัดสินใจตามสถานการณ์ และขาดสำนึกหรือ sense ของความเร่งด่วน เช่น กรณีสิ่งผิดกฎหมายที่เปิดพื้นที่ให้เชื้อเข้ามาระบาดในประเทศจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะการทำหน้าที่ที่หละหลวมหรือถูกแทรกแซงด้วยเป้าหมายทางธุรกิจหรือการเมือง ทำให้การแก้ไขปัญหาอย่างที่ควรต้องทำไม่เกิดขึ้น 

จากวิกฤติคราวนี้ เราเห็นชัดว่า ภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลมีอำนาจมากและอาจมีอำนาจมากเกินไป ส่วนดีในเรื่องนี้ก็คือ ถ้าอำนาจถูกนำมาใช้อย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมทุกปัญหาก็จะแก้ไขได้ เราจะได้การตัดสินใจที่ดีที่ประชาชนเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุน แต่ถ้าการใช้อำนาจถูกบิดเบือนด้วยเหตุผลอื่น เช่น เหตุผลทางการเมือง หรือผลประโยชน์ส่วนตัว สิ่งที่ภาครัฐทำก็จะไม่ตรงจุดและแก้ปัญหาไม่ได้ เป็นการเผาผลาญทรัพยากรของประเทศโดยประชาชนไม่ได้ประโยชน์

 

ดังนั้นในโลกใหม่จากนี้ไป ภาครัฐเองก็ต้องไม่กลับไปเหมือนเดิมเช่นกัน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงานและการใช้อำนาจเพื่อสนับสนุนให้สังคมปรับตัวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น มีคุณค่าขึ้น เพื่อให้ประเทศและคนในสังคมมีที่ยืนในสังคมเศรษฐกิจโลก และสามารถก้าวต่อไปได้ด้วยศักดิ์ศรีและความภูมิใจตามศักยภาพที่ประเทศมี

ท้ายสุด ในระดับปัจเจกบุคคล เราเองก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและปรับตัวมาก เพื่อความอยู่รอดของตนเองและครอบครัว สำคัญที่สุดคือ หนึ่ง พยายามทำงานหรือมีงานทำเพราะการมีรายได้สำคัญมาก ต้องพร้อมปรับตัวเพื่อให้มีรายได้ และรักษางานไว้ สอง ดูแลรักษาสุขภาพ เพราะร่างกายที่แข็งแรงจะเป็นภูมิต้านทานที่ดีสุดในโลกที่การระบาดยังมีอยู่ ทำให้เราจะสามารถทำงานได้ สาม ประหยัดมากขึ้นเพราะโลกจะมีแต่ความไม่แน่นอน ถ้าเราฟุ่มเฟือยเราก็จะหมดเงินเร็วหรือไม่มีเงินออม และถ้าพลาดพลั้งไม่มีงานทำเราก็จะไม่มีเงินใช้จ่าย ทำให้ชีวิตจะลำบากมาก การประหยัดก็คือ การปรับตัวที่จะหาความสุขจากสิ่งที่เรามี โดยไม่สร้างปัญหาให้กับตนเองครอบครัวและคนอื่น ๆ เพราะถ้าทำให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนไม่ได้ ชีวิตก็จะมีปัญหามาก

นี่คือประเด็นที่อยากฝากไว้


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"