การเดินหมากล็อกดาวน์ วัคซีน และ พ.ร.ก.กู้เงิน


เพิ่มเพื่อน    

 

ขณะนี้มาเลเซียต้องยอมหันกลับมาประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบทั่วประเทศอีกครั้ง หลังจากที่พบว่ายอดผู้ติดเชื้อโควิดได้พุ่งเป็น 8,000 คนต่อวัน ญี่ปุ่นเองที่กำลังจะจัดแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ในอีกสองเดือนข้างหน้า ก็กลับมีประชาชนกว่าร้อยละ 80 จากการสำรวจที่ต้องการให้ยกเลิกหรือเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิก-พาราลิมปิกออกไป เพราะกังวลว่าอาจจะก่อให้เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามมา ไต้หวันก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงในการควบคุมโควิดเมื่อปีที่แล้ว แต่ล่าสุดก็พบว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่สะสมเพิ่มขึ้นเป็น 2,260 รายในอาทิตย์ที่สามของเดือนที่แล้วหรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับสามอาทิตย์ก่อนหน้านั้น  สิงคโปร์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความเข้มงวดของการรักษากฎระเบียบ ก็ยังเกิดมีช่องโหว่เรื่องการจัดการบริหารสนามบิน ‘Changi’ ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นในเดือนที่แล้ว และเวียดนามที่เคยคุมโควิดได้ดีมากในช่วงที่ผ่านมา ก็ต้องหันมาขยายมาตรการล็อกดาวน์ในบางจังหวัดนิคมอุตสาหกรรมทางเหนือและพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มจากเดิมทีเคยมีอยู่เพียง 190 คนมาเป็น 457 คนเมื่อกลางเดือนที่แล้ว 

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ที่เคยคุมโควิดได้ดีด้วยการเดินหมาก “ล็อกดาวน์” และเสริมด้วยมาตรการใส่หน้ากากและการเว้นระยะห่างทางสังคมนั้น ต้องพลาดท่าเสียทีให้กับเชื้อโควิดในรอบนี้

คำอธิบายที่ดูมีเหตุมีผลก็คือ ประเทศเหล่านี้ได้เริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมโควิดเพราะความชะล่าใจ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หลายประเทศมีความจำเป็นต้องเริ่มเปิดกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจให้มีมากขึ้นด้วย เช่น กรณีของรัฐบาลญี่ปุ่นที่อยากจัดโอลิมปิกเกมส์ แม้จะมีความเสี่ยงเรื่องการระบาดของเชื้อโควิดก็ตาม  

มีอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของความเพลี่ยงพล้ำที่มองข้ามไม่ได้ คือการเดินหมาก “วัคซีน” ที่ผิดพลาด

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้รายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายประเทศในกลุ่มเอเชียและแปซิฟิกต้องพากันเพลี่ยงพล้ำให้กับโควิด-19 ในปีนี้ ก็เพราะว่าประเทศเหล่านี้ขาดแรงจูงใจที่มากพอในการสั่งจองซื้อวัคซีน (ที่มีอุปทานจำกัด) ให้เพียงพอไว้ล่วงหน้า ซึ่งต่างจากกลุ่มประเทศตะวันตกที่เร่งกักตุนวัคซีนกันเป็นจำนวนมาก เพราะเคยถูกเชื้อโควิดโจมตีอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว

ประเทศไทยเองก็ได้เลือกเดินหมาก “ล็อกดาวน์” ในระยะแรก และสามารถคุมโควิดได้ดีเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก สำหรับเรื่องของวัคซีนนั้น เราก็มีจุดอ่อนทั้งในเรื่องจำนวนจอง ประเภทวัคซีนที่จอง และจังหวะเวลาในการจองวัคซีนที่ไม่ทันกับสถานการณ์ ซึ่งต่อมารัฐบาลก็ได้มีการปรับแผนวัคซีนใหม่เพื่อให้มีวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านโดส และล่าสุดก็มี “วัคซีนทางเลือก” ที่เป็นจริงแล้ว

ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงในเรื่องการฉีดวัคซีนฟรีแก่ประชากรจำนวนมากในประเทศให้ได้ทันเวลา เพื่อหยุดยั้งการระบาดรอบใหม่ โดยไม่ต้องพึ่งมาตรการล็อกดาวน์อีก

และการเดินหมากเรื่อง “วัคซีน” ที่ได้ผลนั้น ยังจะเปิดโอกาสให้เราสามารถเดินหมากเรื่อง “นโยบายทางการคลังเชิงรุก” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดได้

ตัวอย่างความสำเร็จในเรื่องนี้ อาจดูได้จากกรณีของประเทศสหรัฐเอมริกา ที่เมื่อปลายปีที่แล้วก็ยังประสบปัญหาเรื่องการระบาดหนักของโควิดอยู่ แต่ทว่ารัฐมนตรีคลังคนใหม่ของสหรัฐคือ นางเจเน็ต เยลเลน ที่อาศัยจังหวะการใช้ยุทธศาสตร์การกระจายฉีดวัคซีนจำนวนมากเพื่อช่วยสกัดการระบาดของโควิค-19 ของสหรัฐมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิค-19 โดยไม่กังวลเรื่อง “เสถียรภาพทางการคลัง” และ “เสถียรภาพราคา” ให้มากนักในตอนแรก เพราะเชื่อว่าการเร่งฉวยโอกาสแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าในทันทีที่หยุดโควิดได้นั้น จะเป็นยุทธวิธีที่สำคัญกว่า

ผลปรากฏว่า สหรัฐสามารถใช้วัคซีนสกัดกั้นโควิดได้เป็นที่น่าพอใจ และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐก็สามารถฟื้นกลับมาขยายตัวได้ดีด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว พ.ร.ก.กู้เงิน (เพิ่มเติม) จึงมีความสำคัญต่อประเทศไทยมากในเวลานี้เช่นกัน

ถ้าหากเราพิจารณาจากรายละเอียดของ พ.ร.ก.กู้เงิน (เพิ่มเติม) ที่ได้กำหนดแผนการใช้เงินกู้ตามวัตถุประสงค์เป็น (1) โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท  (2) โครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในทุกสาขาอาชีพซึ่งได้รับผลกระทบ วงเงิน 300,000 ล้านบาท และ (3) โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 170,000 ล้านบาท เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค แล้ว

ก็จะเห็นได้ว่า การใช้เงินกู้ตามวัตถุประสงค์ข้อ (1) เพื่อหยุดการระบาดของโควิด-19 ให้สำเร็จได้โดยเร็วเท่าไหร่ ก็จะสามารถหยุดความเสียหายที่จะมีต่อชีวิตผู้คนและระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นเท่านั้น ประตูสู่ความสำเร็จ คงหนีไม่พ้นต้องใช้ยุทธศาสตร์เร่งฉีดวัคซีนโควิดฟรีให้กับประชาชนทั่วไปที่ควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ “วัคซีนทางเลือก” ที่ภาคเอกชนรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายวัคซีนให้กับแรงงานของตน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นธรรม

สำหรับวัตถุประสงค์ข้อ (2) และ (3) ของ พ.ร.ก. กู้เงิน (เพิ่มเติม) นี้ หากไม่นับเรื่องการแจกเงินด้วยวิธีแบบเดิม ๆ และโครงการสร้างงานที่มักซ้ำซ้อนกับโครงการในงบประมาณปกติที่เป็นเบี้ยหัวแตกกันแล้ว 

ภาครัฐควรมุ่งใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนสามประการคือ (ก) การหาแนวทางเพื่อช่วยลดภาระหนี้ของครัวเรือนยากจนที่ต้องขาดรายได้ในช่วงการระบาดของโควิด (ข) การหามาตรการช่วยเหลือที่ปฏิบัติได้จริงสำหรับธุรกิจขนาดกลางและย่อมที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องอันเป็นผลจากวิกฤติโควิด เพื่อไม่ให้ต้องล้มหายตายจากไปมากกว่านี้ และ (3) การเร่งรีบช่วยเหลือชดเชยค่าแรงให้กับแรงงานอุตสาหกรรมตลอดช่วงการหยุดงานเพราะมีการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเหล่านั้นไม่ต้องดิ้นรนหนีไปแพร่กระจายเชื้อโควิดยังพื้นที่อื่น

จุดจบของหมากเกมนี้จะเป็นอย่างไร เราคงได้เห็นกันในไม่ช้านี้

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ วันพุธที่ 2 มิถุนายน

ศ. ดร.อาริยะ ปรีชาเมตตา

กนิษฐา หลิน

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"