หลังผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งแต่ระดับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลายแห่งทั่วประเทศ ออกมาเคลื่อนไหวจะใช้เงินสะสมของท้องถิ่น ที่บางแห่งมีหลายพันล้านบาทมาจัดซื้อ วัคซีนทางเลือก เพื่อนำไปฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ แต่ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ กระทรวงมหาดไทย ยังไม่มีท่าทีสนับสนุนในเรื่องนี้
ขณะที่ฝ่าย ศบค. โดย พล.อ.ณัฏฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (ศปก.ศบค.) บอกไว้เกี่ยวกับการให้ อปท.จัดซื้อวัคซีนทางเลือกได้เอง ว่าจะรับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข และหารือกับ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานกรรมการในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม จากนั้นจะเสนอแนวทางให้นายกฯ พิจารณาต่อไป
ประเด็นดังกล่าวมีทัศนะจาก รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งได้ให้ความเห็นไว้ว่า ยืนยันได้ว่า อปท.สามารถจัดซื้อวัคซีนโควิดได้แน่นอน เพราะเป็นการใช้เงินสะสมท้องถิ่นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการสาธารณสุขและการป้องกันโรคระบาด ดังนั้น โดยข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ท้องถิ่นทำได้ แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน รัฐบาลก็ทำได้เพียงแค่ ตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธาน ศบค.ก็บอกมาเลยเรื่องนี้จะเอาอย่างไร หากพลเอกประยุทธ์บอกว่าท้องถิ่นสามารถจัดซื้อวัคซีนเองได้โดยใช้งบของท้องถิ่น ทุกอย่างก็จบ เพราะท้องถิ่นพร้อมจะเดินหน้าเรื่องนี้อยู่แล้ว
ดร.วีระศักดิ์-กรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งข้อสังเกตท่าทีของกระทรวงมหาดไทยว่า กระทรวงมหาดไทยไปอาศัยผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นตัวเขี่ยลูกตั้งแต่ต้น จนผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยแนวข้อหารือว่า ท้องถิ่นไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนได้ ซึ่งจริงๆ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจอะไรในเรื่องนี้ จุดที่กระทรวงมหาดไทยไปอ้างอิงความเห็นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงโมฆะตั้งแต่ต้น โดยกระทรวงมหาดไทยไม่กล้าเขี่ยบอลเอง เลยยืมมือผู้ตรวจการแผ่นดินเขี่ยลูกแทนให้ พอผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นแบบนี้ออกมา กระทรวงมหาดไทยก็รีบรับลูกโดยออกหนังสือมาหนึ่งฉบับว่าเป็นแนวทางที่ผู้ตรวจการแผ่นดินทำความเห็นมาแล้ว จึงขอให้ทางท้องถิ่นยึดถือปฏิบัติ ดังนั้น หากต้องการให้ท้องถิ่นซื้อวัคซีนได้ หนังสือดังกล่าวของกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายรัฐบาลก็สั่งยกเลิกเสีย เพราะคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้มีผลผูกพันอะไรเลย พอนายกฯ ไฟเขียว ศบค.รับลูก ขั้นตอนต่อไปก็เป็นเรื่องของการออกแบบรายละเอียดแล้วว่า วิธีการจัดการในการบริหารวัคซีนของท้องถิ่นต้องทำอย่างไร ไม่ให้ซ้ำซ้อนและทำให้วัคซีนกระจายได้ทั่วถึง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่
“เรื่องนี้เข้าใจว่า เบื้องลึกน่าจะไปตกลงกันมาแล้ว ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นคนเริ่มเรื่องว่าท้องถิ่นซื้อวัคซีนไม่ได้ ทั้งที่โดยบทบาทแล้ว ที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เคยมีบทบาทอำนาจอะไรเลยต่อท้องถิ่น โดยมหาดไทยไม่กล้าออกตัวเองเพราะว่ามหาดไทยกลัวโดนท้องถิ่นด่า โดยเรื่องนี้ถ้าผมมองแบบรัฐศาสตร์ก็คือ กระทรวงมหาดไทยรู้อยู่แล้วว่าท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนได้ แต่ลึกๆ ไม่อยากให้ท้องถิ่นทำ เลยไปยืมปากคนอื่นมาพูดแทนว่าท้องถิ่นทำไม่ได้ เพื่อปัดสวะพ้นตัวเอง
สิ่งนี้คือสไตล์มหาดไทย เป็นเกมการเมืองที่ต้องการขวางท้องถิ่น หรือจะได้ใบสั่งมาผมก็ไม่แน่ใจ แต่จุดยืนคือต้องการขวาง ที่มองได้ 2-3 อย่างคือ หนึ่ง มหาดไทยไม่อยากให้ท้องถิ่นได้หน้า หรือไม่ชอบท้องถิ่นอยู่แล้ว ก็เลยไม่อยากให้ทำอะไรทั้งนั้น หรือมองแง่ร้ายไปกว่านั้น อันนี้คือเรื่องผลประโยชน์การจัดซื้อจัดจ้าง คือหากคนอื่นมาแบ่งซื้อวัคซีนออกไปด้วย เค้กที่ตัวเองเคยได้จะก้อนเล็กลงหรือไม่ เป็นไปได้ทั้งนั้น"
ดร.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้เรื่องการซื้อวัคซีนของท้องถิ่น ประเด็นมีความพยายามเบี่ยงประเด็นไป โดยเท่าที่มองรูปการณ์คือ เสียงต้านที่จะไม่ให้ท้องถิ่นซื้อวัคซีนด้วยการใช้เรื่องข้อกฎหมายอ่อนลง เพราะอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ยังบอกทำได้ ส่วนคนที่เกี่ยวข้องในมุมท้องถิ่นก็บอกว่าท้องถิ่นทำได้ แม้กระทั่งก่อนหน้านี้ ผมได้คุยกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ (ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ และอดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) ก็ได้เคยถามเป็นการส่วนตัวเมื่อไม่นานมานี้เรื่องท้องถิ่นซื้อวัคซีนเอง ซึ่งนายมีชัยก็บอกว่าท้องถิ่นทำได้ โดยใช้แนวทางแบบการซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้า จึงทำให้การซื้อวัคซีนสามารถทำได้แน่นอน
เมื่อเรื่องข้อกฎหมายอ่อนลงไป เกมการเมืองใหม่ของรัฐบาลก็คือ เบี่ยงประเด็นมาเรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยอ้างว่าหากให้แต่ละท้องถิ่นซื้อวัคซีนกันเอง ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องเล็กมาก เพราะแต่ละท้องถิ่นที่ใดมีงบประมาณของท้องถิ่นเอง ก็ปล่อยให้เขาบริหารงบซื้อวัคซีนกันไป แต่หากท้องถิ่นแห่งใดไม่มีงบประมาณ เราอย่าไปติดภาพว่าแต่ละท้องถิ่นจะทำอะไรโดดๆ เพียงแห่งเดียว เพราะท้องถิ่นแต่ละรูปแบบในภาพของจังหวัดสามารถร่วมมือกันได้ เช่นตกลงร่วมกัน แล้วลงขันในระดับจังหวัดเพื่อให้มีงบเพียงพอไปจัดซื้อ หรือหากกังวลว่าบางจังหวัด อปท.ทั้งหมดรวมกันแล้วงบก็ไม่เพียงพอ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลแล้วในการไปเติมเงินให้เพียงพอเพื่อให้ท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนได้ แต่ทีท่าของรัฐบาลคือต้องการขวาง พอขวางก็เลยตั้งแง่ว่าติดเรื่องกฎหมาย พอเอาข้อกฎหมายมาขวางไม่ได้ ก็มาเอาเรื่องเหลื่อมล้ำเพื่อขวางท้องถิ่น เพราะลึกๆ ไม่อยากให้ท้องถิ่นทำอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาจะจบด้วยเหตุผลต่างๆ เช่นท้องถิ่นไม่พร้อม ไม่ให้ท้องถิ่นจัดซื้อ ทั้งที่เวลาท้องถิ่นจะทำ เขาก็แค่ไปหาวิธีการเพื่อจัดซื้อจัดจ้างวัคซีนมา แต่เวลาลงมือดำเนินการ ท้องถิ่นก็ไม่ได้ไปฉีดวัคซีนเอง เขาก็ไปให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ไปดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่
เป็นทัศนะจากนักวิชาการ-กรรมการกระจายอำนาจฯ ที่เป็นบอร์ดใหญ่สุดของคณะกรรมการที่ดูเรื่องภาพรวมโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเทศไทย ต่อการเคลื่อนไหวของท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่ต้องการจะซื้อวัคซีนทางเลือกด้วยงบท้องถิ่นเอง เพราะรอรัฐบาลกลางไม่ไหวแล้ว!!!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |