เครือข่ายคนจนเรียกร้อง ‘ศักดิ์สยาม’ รมว.คมนาคมจัดประชุมแก้ปัญหาที่ดิน รฟท. หลังชาวบ้านโดนฟ้องขับไล่เกือบ 60 ราย


เพิ่มเพื่อน    

เครือข่ายสลัมสี่ภาคและ ชมฟ.แถลงข่าวเรียกร้องให้ รมว.คมนาคมจัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน

 

ริมทางรถไฟกรุงเทพฯ / เครือข่ายสลัม 4 ภาค-เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) แถลงข่าวเรียกร้องให้ ‘ศักดิ์สยาม’ รมว.คมนาคมเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟหลังจากเลื่อนประชุมมาแล้วหลายเดือน  ทำให้การแก้ไขปัญหายังไม่คืบหน้า  แต่ชาวบ้านโดนฟ้องร้องขับไล่แล้วเกือบ 60 ราย แถมต้องจ่ายค่าเสียประโยชน์ให้ รฟท. ตรม.ละ 513 บาทต่อปี  โดยชาวบ้านยืนยันพร้อมรื้อย้ายแต่ขอให้ รฟท.แบ่งปันที่ดินในเมืองให้เช่าสร้างที่อยู่อาศัยใหม่  เพราะคนจนจำเป็นต้องอยู่อาศัยและหากินในเมือง                                              

ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศ  เช่น  โครงการรถไฟรางคู่  รถไฟความเร็วสูง  และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม สนามบิน คือ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา  ฯลฯ  โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวชุมชนริมทางรถไฟในกรุงเทพฯ ที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวรถไฟ  จนนำไปสู่การจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563  แต่การแก้ไขปัญหายังไม่คืบหน้า  ขณะที่ชาวบ้านหลายชุมชนถูกการรถไฟฯ ฟ้องร้องขับไล่

 

ชาวบ้านโชว์หมายศาลฟ้องขับไล่และต้องจ่ายค่าเสียประโยชน์ให้ รฟท.ตารางเมตรละ 513 บาทต่อปี

 

เรียกร้อง ‘ศักดิ์สยาม’ รมว.คมนาคม เปิดประชุมแก้ปัญหาที่ดิน

ล่าสุดวันนี้ (1 มิถุนายน) เวลา 11.00 น. ที่ชุมชนบุญร่มไทร  ถนนเพชรบุรี  ซอย 5  เขตราชเทวี  กรุงเทพฯ  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  และเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ได้แถลงข่าวเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย  และออกแถลงการณ์เรื่อง “ทวงสัญญาประชาชน  เปิดประชุมแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ  ชะลอหมายศาล” โดยมีเนื้อหาสรุปว่า

“ตามที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค  และเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.)  ร่วมกับภาคประชาชนอื่นๆ ในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม”  เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา  และมีบันทึกร่วมกับรัฐบาลว่าจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม  โดยทางผู้ว่าการ รฟท. แจ้งว่าจะมีการประชุมในวันที่ 7 เมษายน  โดยมีนายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รมว.คมนาคมเป็นประธาน  แต่การประชุมต้องเลื่อนออกไป  เนื่องจากนายศักดิ์สยามติดเชื้อโควิด

ขณะที่การประชุมเพื่อพิจารณาการขอเช่าที่ดินเพื่อรองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟเชื่อม 3สนามบิน ถูกเลื่อนออกไป  และประชาชนกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  แต่การรถไฟฯ กลับเป็นโจทย์ฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน  เช่น ชุมชนหลังอาร์ซีเอ  ชุมชนย่าน กม.11 และล่าสุดที่ชุมชนบุญร่มไทร  เพชรบุรีซอย 5 สะท้อนถึงความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ  ทั้งที่ชาวบ้านเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหากับการรถไฟฯ มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา  เครือข่ายฯ ได้ไปทวงถามเพื่อให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอการเช่าที่ดินของชาวบ้าน  โดยมีที่ปรึกษา รมว.คมนาคมรับหนังสือและรับปากว่าจะประสาน รมว.และผู้ว่าการ รฟท.ให้มีการประชุม  และชะลอการดำเนินคดี

แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการกำหนดวันประชุมแต่อย่างใด  แต่กลับมีคดีความเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ดังนั้นเครือข่ายสลัม 4 ภาค และ ชมฟ. จะไปติดตามความคืบหน้าที่กระทรวงคมนาคมทุกวัน  ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายนเป็นต้นไป  จนกว่าจะมีการประชุมแก้ไขปัญหา  โดยมีนายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รมว.คมนาคม เป็นประธาน”  แถลงการณ์ระบุในตอนท้าย

 

ทางรถไฟสายตะวันออกผ่านชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี ซึ่งบริษัทซีพีได้สัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

เสียงจากคนจนริมทางรถไฟ

จากการสำรวจข้อมูลชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากแผนการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟของ รฟทโดยเครือข่ายสลัมสี่ภาค  สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เบื้องต้นพบว่า  มีชุมชนผู้ที่มีรายได้น้อยที่ตั้งอยู่ริมทางรถไฟและที่ดินที่ รฟท.จะนำมาพัฒนาทั่วประเทศรวม 36 จังหวัด  จำนวน 394 ชุมชน  รวม 39,848 หลังคาเรือน 

ส่วนเส้นทางรถไฟที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือมีแผนจะพัฒนา  สายใต้  เช่น  นครปฐม  ราชบุรี  เพชรบุรี  ประจวบคีรีขันธ์  ตรัง  สงขลา  ฯลฯ  สายเหนือ  นครสวรรค์  อุตรดิตถ์  พิษณุโลก  แพร่  เชียงราย  ฯลฯ  สายอีสาน  เช่น  สระบุรี  นครราชสีมา  ขอนแก่น  หนองคาย  ฯลฯ  สายตะวันออก เช่น  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี  ระยอง  ฯลฯ 

ทั้งนี้ในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมา  มีชุมชนริมทางรถไฟหลายสิบชุมชนที่ถูกฟ้องร้องขับไล่ออกจากที่ดิน รฟทส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่ไม่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับ รฟทเช่น  ชุมชนริมทางรถไฟ อ.ห้วยยอด  และ อ.เมือง จ.ตรัง  ชุมชนหินเหล็กไฟ  อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์   ชุมชนพัฒนา กม.11   ชุมชนริมคลอง กม. 11 เขตจตุจักร ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ

 

เชาว์  เกิดอารีย์  ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ

 

เชาว์  เกิดอารีย์  ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ (ชมฟ.) บอกว่า  ผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ ในกรุงเทพฯ  ทำให้ชาวชุมชนต่างๆ เหล่านี้รวมตัวกันเป็น เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ หรือ ชมฟ. ในปี 2563  เพื่อหาทางออกร่วมกับการรถไฟฯ 

โดยการรถไฟฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท.ขึ้นมา  มีตัวแทนชาวบ้าน  สลัมสี่ภาค  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และการรถไฟฯ  ร่วมเป็นคณะกรรมการ  มีการประชุมร่วมกันเพื่อจะหาทางออกหลายครั้ง  แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป  ชุมชนก็โดน รฟท.ฟ้องขับไล่เสียก่อน  เช่น  ชุมชนในที่ดิน รฟท. กม. 11  เขตจตุจักร  รวมประมาณ 300 ครัวเรือน  โดนฟ้องร้องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563  ประมาณ 30 ราย  และชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวีเกือบ 400 ครัวเรือน  ตอนนี้โดนฟ้องไปแล้วจำนวน 21 ราย  ชุมชนหลังอาร์ซีเอ  มักกะสัน  จำนวน 7 ราย  รวมทั้งหมด 58 ราย

ชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ  ทำงานรับจ้างอยู่ในเมือง เช่น เป็นแม่บ้านทำความสะอาด เป็น รปภขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  หรือขายอาหารเล็กๆ น้อยๆ  เมื่อการรถไฟฯ จะเอาที่ดินคืน  พวกเราก็ไม่ได้ต่อต้าน  แต่มีข้อเสนอคือ  ขอเช่าที่ดินรถไฟฯ อย่างถูกต้อง  เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ให้เป็นระเบียบ  ไม่เป็นชุมชนแออัดเหมือนแบบนี้  โดยจะขอเช่าอยู่ในที่ดินเดิม  หรือไม่ไกลจากที่เดิมเกิน 5 กิโลเมตร  แต่ที่ผ่านมา  การรถไฟฯ เสนอที่ดินแถวหลัก  6 ปทุมธานี  มันไกลกว่าที่เดิมที่อยู่ย่านราชเทวีประมาณ 30 กิโลฯ  ถ้าไปอยู่นอกเมืองแล้วไม่รู้จะทำมาหากินอะไร  เพราะที่ตรงนั้นยังเป็นทุ่งเป็นป่าหญ้า  ถ้าจะเข้ามาหากินที่เดิมจะต้องใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง เชาว์บอก

 

ชาวชุมชนบุญร่มไทรลงขันทำอาหารราคาถูกอิ่มละ 10 บาทช่วยเหลือกันในช่วงสถานการณ์โควิด

 

เขาบอกด้วยว่า  ที่ดินบริเวณนิคมรถไฟมักกะสัน  เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 497 ไร่  ซึ่งบริษัทซีพีได้สัมปทานจาก รฟท.ไปแล้ว  เพื่อทำโครงการธุรกิจเนื้อที่ 150 ไร่  เชื่อมกับโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น  ยังมีเนื้อที่เหลืออีกหลายร้อยไร่  เครือข่ายชุมชนคนเมืองฯ จึงขอแบ่งปันที่ดินแปลงนี้จำนวน 5 %  หรือประมาณ 28 ไร่  และที่ดินย่าน กม. 11 ย่านจตุจักรและบางซื่อ  ขอแบ่งปัน 13 ไร่  เพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัยรองรับชาวชุมชนริมทางรถไฟในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 1 ,000 ครัวเรือน  แต่ยังไม่ได้รับคำตอบก็โดนหมายศาลบังคับให้รื้อย้ายและต้องชำระค่าเสียประโยชน์ในที่ดินอัตราตารางเมตรละ 513 บาทต่อปีให้แก่ รฟท.ด้วย

ดังนั้นเครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีคำสั่งให้มีการประชุมคณะกรรมการฯ โดยเร่งด่วน  เพื่อแก้ไขปัญหา  และในระหว่างที่มีการแก้ไขปัญหานี้  ขอให้การรถไฟฯ ชะลอการดำเนินคดีเอาไว้ก่อน  เพื่อหาทางออกร่วมกัน  โดยชาวชุมชนพร้อมที่จะทำสัญญาเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง  โดยขอให้การรถไฟฯ แบ่งปันที่ดินที่ไม่ไกลจากชุมชนเดิมให้ชาวชุมชนเช่า  เพราะพวกเราต้องทำมาหากินในเมือง  และอยากอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย”  ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองฯ บอกถึงข้อเรียกร้อง  และว่า ขณะนี้ชุมชนต่างๆ ได้เตรียมพร้อมที่จะเช่าที่ดินสร้างบ้านโดยการรวมกลุ่มกันออมทรัพย์เป็นรายเดือนตั้งแต่ปลายปี 2563 แล้ว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"