เปิดเส้นทางสู่มาตุภูมิ 55 ปี ทับหลัง”หนองหงส์-เขาโล้น “


เพิ่มเพื่อน    
 
 
 
 
     การเปิดหีบห่อบรรจุทับหลัง 2 รายการ จากสหรัฐอเมริกา  ได้แก่ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เพื่อให้ภัณฑารักษ์และนักวิทยาศาสตร์ ตรวจสภาพและบันทึกข้อมูลเบื้องต้น ก่อนทำพิธีบวงสรวงต้อนรับที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมศิลปากร เมื่อเย็นวานนี้  ถือเป็นการเสร็จสิ้นปฏิบัติการทวงคืนทับหลังของประเทศไทยที่ใช้ความพยายามมากกว่า 5  ปี หลังสูญหายไปนาน 55 ปี โดยพิธีบวงสรวงจัดอย่างเรียบง่ยตามประเพณีไทย พร้อมการแสดงชุด”ระบำโบราณคดี ชุดลพบุรี” เฉลิมฉลองต้อนรับทับหลังกลับสู่แผ่นดินแม่  
    ส่วนแผนงานดูแลทับหลัง 2 รายการนั้น นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานในพิธีบวงสรวงต้อนรับ กล่าวว่า หลังจากพิธีบวงสรวงจะดำเนินการตรวจสอบโบราณวัตถุ และนำทับหลังทั้ง 2 รายการจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ได้เรียนเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีรับมอบโบราณวัตถุอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดให้ชมนิทรรศการ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย” ให้ประชาชนเข้าชมเป็นเวลา 3  เดือน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อมีมาตรการผ่อนปรนของกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เตรียมความพร้อมของนิทรรศการพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 
 
 
     หากจะย้อนหลังถึงที่มาของการทวงคืนทับหลัง 2 รายการนี้ ซึ่งถูกเก็บไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะในสหรัฐอเมริกา  ปราสาทหนองหงส์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ห่างกันเพียง 36.1 กิโลเมตร ตามระยะทางของทางหลวง
แผ่นดินหมายเลข 348 สายอรัญประเทศ - นางรอง ปราสาททั้งสองถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถาน กำหนดอายุอยู่ในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงครึ่งแรกพุทธศตวรรษ
ที่ 17 ร่วมสมัยกับศิลปะขอมแบบบาปวนในประเทศกัมพูชา โดยมีชื่อปรากฎอยู่ในบัญชีโบราณสถานของประเทศ ที่กรมศิลปากรได้ดำเนินการประกาศกำหนดจำนวนโบราณ
สถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 95 เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2478
     ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น ได้สูญหายไปจากที่ตั้งในช่วงราวพ.ศ.2509-2511 แต่ไม่ปรากฎรายงานหรือบันทึกเกี่ยวกับการสูญหาย ต่อมาได้ปรากฏทับหลังสองรายการนี้อยู่ในฐานข้อมูลโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย เมืองซานฟรานชิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา บริจาคโดยนาย Avery Brundage
     ปฏิบัติการติดตามทับหลังทั้ง 2 รายการ เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อกรมศิลปากร(ศก. )  กระทรวงวัฒนธรรม นำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีทราบและพิจารณาลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย จากการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 20 มิ.ย. 2560 ณ ห้องประชุมศรีอยุธยา หอวชิราวุธานุสรณ์
     ประธานคณะกรรมการฯได้มอบหมายให้ ศก.ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ จัดทำข้อมูลโบราณวัตถุ 2 รายการ คือ ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ และทับหลังจาก
ปราสาทเขาโล้น โดยจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมจากที่นักวิชาการอิสระได้เคยนำเสนอไว้
       คณะทำงานได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบจากภาพถ่ายเก่า สภาพรอยชำรุดเสียหาย ซึ่งพบว่า มีตำหนิที่ตรงกัน ขนาดของทับหลังกับขนาดพื้นที่ติดตั้งเดิมที่ตัวปราสาท และรูปแบบศิลปกรรมของทับหลัง     เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลช่วยยืนยันว่า ทับหลังทั้ง 2 รายการ เป็นของประเทศไทย จนกระทั่งในวันที่ 1 ก.พ. 2561 กรมศิลปากรจึงดำเนินการส่งข้อมูล ผ่านกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส เป็นผู้ดำเนินการประสานกับหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาที่รับผิดชอบในคดีนี้ คือ สำนักงานสืบสวนความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา Homeland Security Investigations (HSI) โดยเจ้าหน้าที่ เดวิด เคลเลอร์ ได้ดำเนินการสืบสวนจากหลักฐานที่ฝ่ายไทยได้ส่งไป และได้ลงพื้นที่สืบสวนเก็บข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย พร้อมทั้งได้ประสานงานขอหลักฐานเพิ่มเติม 
       กรมศิลปากรจึงส่งสำเนาใบอนุญาตการนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักร ก่อนและหลังทับหลังทั้ง 2 รายการจะสูญหายไป เพื่อเป็นหลักฐานว่า ทางการไทยมีกฎหมายและมาตรการที่เคร่งครัดในการนำโบราณวัตถุออกนอกประเทศ รวมทั้งสำเนาจดหมายที่อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
นายชนิด อยู่โพธิ์ ส่งถึงนาย Avery Brundage เพื่อทวงคืนโบราณวัตถุทับหลังจากปราสาทกู่สวนแตงเมื่อ พ.ศ. 2510 เป็นหลักฐานว่า นาย Avery Brundage เคยมีประวัติในการรับซื้อโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบออกจากประเทศไทยมาก่อนแล้ว
    ทับหลังทั้ง 2 รายการได้ถูกนำขึ้นพิจารณาในขั้นศาล จนในที่สุดพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียได้ยอมรับว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของไทย และยินยอมให้สำนักงานสืบสวนความมั่นคงมาตุภูมิ (HS) ยึดทับหลังทั้ง 2 รายการเพื่อส่งคืนประเทศไทย โดยมีพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการ ณ สหรัฐ  วันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา จนนำมาสู่การจัดส่งกลับคืนแผ่นดินไทยในที่สุด
 
 
      นายสมชัย กอชัยศิริกุล นายกเทศมนตรีตำบลโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า มาร่วมบวงสรวงต้อนรับทับหลังปราสาทหนองหงส์ ในฐานะชาวโนนดินแดง ซึ่งปราสาทหนองหงส์ ถือเป็นโบราณสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนในพื้นที่ การมาครั้งนี้ตนได้พบอธิบดี ศก. และสอบถามหากชาวโนนดินแดงจะนำทับหลังปราสาทหนองหงส์กลับไปประดับที่ปราสาทจะเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งทางอธิบดี บอกว่า มีทางเป็นไปได้ หากท้องถิ่นมีความพร้อมและรับถ่ายโอน อย่างไรก็ตาม กระบวนการนำกลับไปในพื้นที่จะมีภารกิจตามมาทั้งด้านงบประมาณ การดูแลรักษาทับหลังไม่ให้สูญหายไปอีก รวมถึงการป้องกันความเสื่อมสภาพของโบราณวัตถุ 
     “ ท้องถิ่นมีความพร้อมในการดูแลรักษาปราสาทหนองหงส์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ลูกหลานชาวโนนดินแดงจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น ปัจจุบันที่ตั้งของปราสาทหนองหงส์อยู่ในพื้นที่ของวิทยาลัยเทคโนโลยีโนนดินแดง ซึ่งมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว หากได้ทับหลังกลับมาก็มีแนวทางจะเพิ่ม อปพร. เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย ขณะนี้ชาวโนนดินแดงดีใจและตื่นตัวที่ได้โบราณวัตถุกลับคืนมา ผู้เฒ่าผู้แก่อยากได้ทับหลังองค์จริงกลับไป แต่หากได้ทับหลังจำลองก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทั้งนี้ การติดตามทวงคืนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แม้ยาวนาน แต่ก็คุ้มที่ได้กลับคืนบ้านเกิด”นายสมชัย กล่าว
      ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยได้รับมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติกลับคืนมา ซึ่งมีเสียงเรียกร้องให้รัฐและภาคประชาชนติดตามโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุจำนวนมากกลับคืนบ้านเกิดให้ได้ ไม่หยุดแค่สองทับหลังนี้ 
 

 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"