มอง"สมุดไทย"เอกสารโบราณสมัยอยุธยาผ่านละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว


เพิ่มเพื่อน    

สมุดไทย ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ 


   สมุดไทยแบบต่างๆ     

    หนึ่งด้าวฟ้าเดียว นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ที่ถูกหยิบมาสร้างเป็นละคร  และกำลังได้รับความสนใจ  ด้วยเนื้อหานำเสนอเรื่องราวของหนังสือสมุดไทย  เอกสารโบราณคดีชิ้นสำคัญที่บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตทั้ง ขนบธรรมเนียมประเพณี กฎหมาย ตำรายา  รวมไปถึงเกมกลบท กลอักษร ที่ได้ถูกบันทึกไว้ และกลายมาเป็นชนวนในการดำเนินเรื่องราวในละครได้อย่างแยบยล  ซึ่งผู้ชมจะได้ทั้งความรู้เชิงประวัติศาสตร์ไทยไปพร้อมกับเนื้อหาที่แต่งเติมขึ้น 

    ด้วยเหตุนี้ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จึงได้จัดโครงการพิพิธภัณฑ์เสวนา ประจำปี 2561 ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ  “โลกทัศน์จากสมุดไทยสมัยอยุธยา ผ่านหนึ่งด้าวฟ้าเดียว” พร้อมกับการบรรยายพิเศษเรื่อง การอนุรักษ์เอกสารโบราณของกรมศิลปากรในยุคดิจิทัล เจาะลึกเรื่องราวของสมุดไทยผ่านละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานเอกสารโบราณคดีของไทยสู่รุ่นต่อไป 

สมุดไทยฉบับหลวง

     นายพนมบุตร จันทรโชติ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวว่า การดูแลรักษาและอนุรักษ์ศิลปวัตถุ ตลอดจนการศึกษาค้นคว้าวิจัย ผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ นำไปเผยแพร่สู่สาธารณะที่นับว่าเป็นหน้าที่หลัก นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมการเสวนาหรือนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงและได้สัมผัสความเป็นมาของประวัติศาสตร์ไทย และที่ผ่านมากระแสของละครอิงประวัติศาสตร์ทำให้มีผู้ต้องการรับรู้และเข้าใจเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งในการจัดเสวนาครั้งนี้ จะทำให้ผู้ที่สนใจเอกสารโบราณได้เข้าใจในรายละเอียดที่ต่อยอดมาจากในละครเพิ่มมากขึ้นด้วย และยังเป็นแนวทางให้ประชาชนได้ดูแลรักษามรดกวัฒนธรรมของชาติร่วมกัน 

หนังสือสมุดไทยขาว เรื่อง ตำราคชลักษณ์

    นางสาวพิมพ์พรรณ  ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้เล่าถึงความเป็นมาของสมุดไทยว่า สมุดไทยทำจากเปลือกของต้นข่อย จึงนิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"สมุดข่อย" หรือเรียกสั้นๆ ว่าสมุดไทย มีการเขียนอักษรบนกระดาษยาวติดต่อกัน และมีลักษณะหน้าสมุดพับกลับไปมา  ทำให้เล่มสมุดมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้เป็นวัตถุรองรับการเขียน หรือชุบลายลักษณ์อักษร ซึ่งสามารถบันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเล่มสมุด  มี  2 สี เรียกว่าหนังสือสมุดไทยดำ และหนังสือสมุดไทยขาว ซึ่งในแต่ละภาคของประเทศไทยก็จะมีการเรียกที่แตกต่างกัน 

      พิมพ์พรรณ  กล่าวต่อว่า การใช้สมุดไทยแบ่งออกเป็น 2 ฉบับ คือฉบับหลวง สำหรับพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้าง เช่น พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ หนังสือสมุดไทยเก่าแก่ที่สุด สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2223 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 และฉบับราษฎร์ สำหรับประชาชนหรือชาวบ้านที่ใช้ในการบันทึกเรื่องราว เช่น หนังสือสมุดไทยดำ เรื่องตำราแมวคำโคลง 

หนังสือสมุดไทยดำ เรื่องตำราแมวคำโคลง 

    “ทั้ง 2 ฉบับ จะมีความแตกต่างจากฉบับหลวงทั้งตัวหนังสือที่อาจจะไม่ชัดเจน ลายมือแตกต่างกัน การสะกดหรือช่องไฟไม่เป็นระเบียบ และเนื้อหาเรื่องราวส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับ กฎหมาย พงศาวดาร คณิตศาสตร์ พระราชพิธี จดหมายเหตุ วรรณคดี ตำนาน หมายรับสั่ง ตำรา อักษรศาสตร์ ธรรมคดี ประวัติและจารึก ในส่วนของกลบท คำประพันธ์ร้อยกรองที่แต่งให้มีบทบัญญัติบังคับพิเศษ เพื่อให้ผู้แต่งได้แสดงชั้นเชิงในการประพันธ์
ยิ่งกว่าประพันธ์แบบธรรมดา”   พิมพ์พรรณ กล่าว

หนังสือสมุดไทย เรื่อง สมุดจินดามุนี ฉบับใหญ่บริบูรณ์ (กลบท)

     หัวข้อในการเสวนาครั้งนี้ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ  "วรรณวรรธน์ "หรือ วรรณวรรณ จันทรจนา ผู้แต่งเรื่องหนึ่งด้าวฟ้าเดียว  กล่าวว่า ได้ศึกษาความเป็นมาของกระดาษไทย และหนังสือสมุดไทยที่มีการผลิตและใช้จริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ในปี 2559 ได้รับโจทย์จากทางผู้จัดละครให้เขียนนวนิยายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าตากสิน หรือ 250 ปีที่แล้ว  ซึ่งนับว่าเป็นหัวข้อที่ยากและคิดหนัก เพราะเรื่องราวในสมัยพระเจ้าตากมีหลากหลายแง่มุม อีกทั้งข้อมูลต่างๆยังมีความละเอียดอ่อน การบอกเล่าหรือการศึกษาก็มีการนำเสนออยู่มาก จึงมีความคิดที่อยากนำเสนอเนื้อหาข้อมูลหรือเกร็ดความรู้ต่างๆในมุมมองใหม่ที่คนยังไม่ค่อยรู้จัก 

     “เลยเขียนให้พระเอกต้องเป็นขันทีในวัง ในส่วนของนางเอกหรือแม่แมงเม่า มีส่วนต้องเกี่ยวข้องกับกลบท ซึ่งจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระดาษด้วย จึงสร้างเรื่องให้บ้านนางเอกเป็นมีอาชีพทำกระดาษ และบ้านจะตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านนางเริง ซึ่งในอดีตเป็นหมู่บ้านที่มีการทำกระดาษ มีหลักฐานปรากฏว่ามีอยู่จริงในแผนผังของพระนครศรีอยุธยา จึงต้องทำการศึกษาการทำกระดาษไทย หรือสมุดไทย เพื่อเป็นการปูพื้นให้เป็นแม่แมงเม่าฉลาด และมีการศึกษา เพราะในสมัยก่อนผู้หญิงที่มีโอกาสจะได้เรียนนั้นมีน้อย”  ผู้ประพันธ์ หนึ่งด้าวฟ้าเดียว กล่าว

ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕

     ข้อมูลต่างๆที่ได้นำมาเขียนหนึ่งด้าวฟ้าเดียว วรรณวรรณ  ก็ได้ศึกษาและค้นคว้าผ่านเอกสารโบราณสำคัญทั้ง กฎหมายตราสามดวง จดหมายลาลูแบร์ การบันทึกเรื่องกลบท และข้อมูลอื่นๆ ที่ทำให้ทราบถึงประเพณี การปฏิบัติ หรือเหตุการณ์ที่เกิดในอดีตได้เพิ่มมากขึ้น  เพื่อให้เรื่องราวออกมาได้อย่างสมบูรณ์ สะท้อนให้เห็นว่าเอกสารโบราณเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมาก ที่จะทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวในอดีต  ซึ่งการเขียนออกมาเป็นหนังสือนวนิยายหรือละคร ก็เล้วนป็นการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดการสืบสานต่อไป

ผู้ร่วมฟังเสวนา

    ด้านนายอนันต์ ชูโชติ อธิดีกรมศิลปากร ได้กล่าวถึง การอนุรักษ์เอกสารโบราณของกรมศิลปากรในยุคดิจิทัล ว่า นับว่าเป็นการโหนกระแสละครประวัติศาสตร์อีกเรื่องหนึ่ง  และละครเรื่องหนึ่งด้าวฟ้าเดียว ได้รับความสนใจ เพราะมีการฉายให้เห็นภาพของสมุดไทยในอดีต ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารสำคัญชิ้นสำคัญทางโบราณคดี ในการอนุรักษ์เอกสารโบราณที่นอกจากสมุดไทยยังมีจารึก คัมภีร์โบราณหรือใบลาน ก็มีการดูแลรักษาและอนุรักษ์  

    “โดยใบลานได้มีการเก็บรักษากว่า 230,000 ใบ  สมุดไทยประมาณ 100,000 เล่ม และจารึกที่ได้ทำสำเนาไว้กว่า 1,500 หลัก ซึ่งได้มีการทำระบบบัญชีในการจัดเก็บ และมีการถ่ายสำเนาเพื่อเผยแพร่ในระบบดิจิตอล แต่อาจจะยังทำได้ไม่มากนัก อย่างใบลานกับสมุดไทยได้บันทึกไปแล้วประมาณ 2,000 กว่ารายการ เพื่อกระตุ้นให้คนที่สนใจนั้นสามารถจะค้นคว้าได้จากที่บ้าน และยังช่วยรักษาเอกสารต้นฉบับอีกด้วย” อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวทิ้งท้าย

  พิมพ์พรรณ(ซ้าย) -วรรณวรรธน์(ขวา)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"