แบงก์ชาติรับเศรษฐกิจไทยโคม่า หลังเจอพิษโควิด-19 หลายระลอก ชี้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทำกิจกรรมเศรษฐกิจสะดุด ลุ้นฟื้นตัวสู่ภาวะปกติได้ไตรมาส 1/2566 แจง มิ.ย.นี้ เตรียมปรับจีดีพีใหม่อีกรอบ
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “โครงการประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ว่า จากผลกระทบของความรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 รวมถึงการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงการระบาดที่เกิดขึ้นในหลายระลอก ประกอบกับมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องสะดุดเป็นช่วงๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และการใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงเอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งรายใดที่สายป่านสั้น ก็ต้องหยุดดำเนินกิจการ หลายธุรกิจขาดสภาพคล่องจึงจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเร่งด่วน จากปัจจัยดังกล่าวทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะต้องรอถึงไตรมาส 1/2566 กว่าจะกลับมาเป็นปกติในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19
โดยที่ผ่านมาภาครัฐและ ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แต่ยังมีข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือ ทำให้ความช่วยเหลือเดิมไม่เพียงพอ จึงมีการยกระดับการช่วยเหลือเพิ่มขึ้น ในการออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท โดยปลดล็อกข้อจำกัดของซอฟต์โลนเดิม เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ขยายเวลาการชวยเหลือเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ขยายวงเงินช่วยเหลือเพื่อให้เพียงพอในการฟื้นตัว และกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และได้เพิ่มกลไกการค้ำประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปด้วย
“แม้จะมีการขยายเงื่อนไขการช่วยเหลือตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูให้ครอบคลุมแล้ว แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการบริหารจัดการมาตรการ การให้ลูกหนี้เข้าถึงมาตรการมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่ามีข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะเอสเอ็มอีมีความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอนสูง ขณะที่สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงของเอสเอ็มอีได้ยาก เนื่องจากขาดข้อมูลในการพิจารณา ขาดคนกลางในการชี้เป้าหมายว่าเอสเอ็มอีใดที่พอจะมีศักยภาพและจะกลับมาฟื้นตัวได้ เพื่อช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากขึ้น” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
ทั้งนี้ มองไปข้างหน้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลา ทำให้ระหว่างนี้ต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะด้านสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 ส่วนต้องร่วมมือกัน คือ รัฐบาล สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยยกระดับบทบาทของตัวเองในการช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสภาพคล่องอย่างทันการ รัฐบาลและ ธปท.มีบทบาทในการลดความเสี่ยงภาพรวมของผู้ประกอบการเอสเอ็มดี ด้วยการเตรียมความพร้อมและเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู
ขณะที่สถาบันการเงินมีบทบาทในการประสานและเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ ปรับแนวทางการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ก็มีบทบาทสำคัญในการประสานความช่วยเหลือกับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลของคู่ค้าที่เดิมเข้าถึงยากให้กับสถาบันการเงิน เพื่อประกอบการประเมินสินเชื่อ ด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเองก็ต้องปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมให้อยู่รอด และรับโอกาสในการสนับสนุนสภาพคล่อง ยกระดับการจัดการธุรกิจ เช่น การจัดการด้านการเงินและบัญชีให้ได้มาตรฐานสากล ดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยบริหารจัดการต้นทุน กำไร และสต๊อกสินค้าได้ดีขึ้นด้วย รวมถึงเป็นการช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ข้อมูลและฐานะทางการเงินของเอสเอ็มอี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการพิจารณาความเสี่ยงด้วย
ด้าน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ได้สร้างความรุนแรงและขยายวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3/2564 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ จึงได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้เหลือเพียง 0.5-2.0% ซึ่งได้รวมผลลัพธ์จากมาตรการของรัฐบาลที่ได้มีการประกาศออกมาแล้วด้วย
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.มีการทบทวนสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีความรุนแรง และอาจส่งผลให้การเปิดประเทศทำได้ล่าช้าออกไป โดยปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากเดิมที่คาดว่าจะกลับสู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ไตรมาส 2-3/2565 ล่าช้าออกไปเป็นไตรมาส 1/2566
ทั้งนี้ ในเดือน มิ.ย.2564 ธปท. จะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะในปี 2565 ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาในหลายปัจจัย ทั้งในแง่วัคซีนป้องกันโควิด-19 และการกระจายวัคซีน สถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ดังนั้นจะต้องพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและมุมมองในอนาคตที่สุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |