'บิ๊กตู่'นำทีมถกงบปี65วงเงิน3.1ล้านล้าน คาดศก.โต4-5%


เพิ่มเพื่อน    

31 พ.ค. 64 - เมื่อเวลา 09.40 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระรับหลักการ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เสนอร่าง พ.ร.บ.งบรายจ่ายประจำปี 65 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ตามความคืบหน้าของการอนุมัติและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม  ทั้งด้านการเงินและการคลังที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม รวมทั้งการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในปี 2564 ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้  จนนำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว  เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจท่ามกลางตลาดแรงงานและกิจกรรมทางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และความผันผวนของ เศรษฐกิจและระบบการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0  

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0 - 5.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของหลายประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวนับตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2564 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7  

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มี.ค. 2564 มีจำนวน 8.47ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เม.ย. 2564 มีจำนวน 3.72 แสนล้านบาท

“การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมามีการผ่อนคลายต่อเนื่อง  เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดระลอกแรกและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่  ทำให้รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในเดือนก.พ. และมี.ค. 2564 ที่ร้อยละ 0.5  เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมมีความผ่อนคลาย  สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการช่วยดูแลภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้และเอื้อให้ต้นทุนทางการเงินของการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ในระดับต่ำ” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า งบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ 2.4 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 7 แสนล้านบาท วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2.36 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76.1 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน  5.96 ร้อยล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.02รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน  2.49 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 รายจ่ายลงทุน จำนวน 6.24 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.1 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน  1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ทั้งนี้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน10.5 หมื่นล้านบาท

เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ส่งผลให้ประมาณการการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจำนวน  ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  จำนวน 1.85 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับรายจ่ายลงทุนที่ต้องดำเนินการ รัฐบาลได้มีมาตรการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี  เพื่อนำมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ได้แก่ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP)  โดยเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่จะดำเนินการในปี 2565 เร่งรัดการลงทุนของหน่วยงาน ตามแผนการใช้จ่ายจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) รวมทั้งการลงทุนโดยใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นอกจากนี้ รัฐบาลได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการภายใต้ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

นายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า งบประมาณรายจ่ายฯ จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3.87 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.5 ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3.38 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 10.9 ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น  5.48 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.7               

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 7.33 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.7 ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1.19 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.9  และยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5.59 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.0

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยืนยันรัฐบาลได้กลั่นกรองการใช้งบประมาณอย่างรอบคอบ จะเข้มงวด กวดขันป้องกันทุจริตการใช้งบประมาณ พร้อมให้องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ รวมถึงประชาชนก็แจ้งข้อมูลมาได้ จะใช้งบประมาณอย่างสร้างสรรค์ ให้เกิดความโปร่งใส  ทำเพื่อประชาชน  เพื่ออนาคตของลูกหลาน  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ได้ใช้เวลาชี้แจงต่อสภาฯ ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"