สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาโครงการประยุกต์ใช้แผนที่สถานการณ์ร่วมเพื่อจำลองภารกิจการช่วยเหลือทางทหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อสนับสนุนภารกิจทางทหารด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหม (กห.) ที่ต้องปฏิบัติหลายประการ รวมไปถึงภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจด้านการรบ เช่น การส่งกำลังเข้าสนับสนุนการพัฒนาประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ และการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ และภารกิจการตอบสนองขณะประเทศประสบสภาวะวิกฤตและขาดสัญญาณการสื่อสาร โดยการจัดทำแผนที่สถานการณ์ร่วมจากข้อมูลภาพถ่ายที่ได้จากอากาศยานไร้คนขับหรือ UAV
โครงการประยุกต์ใช้แผนที่สถานการณ์ร่วมเพื่อจำลองภารกิจการช่วยเหลือทางทหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงดำเนินการสถาปนาระบบสื่อสารขึ้นเอง เพื่อสนับสนุนการเข้าช่วยเหลือของทหารในพื้นที่ฉุกเฉิน และการขยายขีดความสามารถของแผนที่สถานการณ์ช่วยสร้างผลกระทบในเชิงบวกกับหน่วยงานด้านความมั่นคง อีกทั้งในด้านเศรษฐกิจเพื่อเตรียมการรับมือ ตอบสนอง และบรรเทาภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ
เพื่อให้หน่วยงานภายใต้สังกัด กห. ได้นำแผนที่สถานการณ์ร่วมไปประยุกต์ใช้เพื่อจำลองภารกิจการช่วยเหลือทางทหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้สถานการณ์ร่วมให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการที่ศูนย์ควบคุม และสั่งการในพื้นที่ห่างไกลได้ออกคำสั่งตามหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด รวมถึงการตัดสินใจต่อการปฏิบัติภารกิจฉุกเฉินให้ทหารที่ปฏิบัติการในพื้นที่รับคำสั่งไปปฏิบัติได้ทันที ในการนี้ สทป. และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย หรือ บก.ทท. (นทพ.) ได้ตกลงร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงในการวิจัยและพัฒนาร่วม เพื่อให้ได้เครื่องมือซึ่งเป็นต้นแบบให้ทหารนำไปใช้ฝึกก่อนการปฏิบัติภารกิจฉุกเฉินขณะเกิดเหตุฉุกเฉินจากภัยพิบัติและสาธารณภัย และเมื่อสิ้นสุดโครงการจะส่งมอบให้หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 31 หรือ นพค.31 ที่มีขอบเขตความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดน่าน นำเข้าประจำการทดสอบทดลองเพื่อปฏิบัติภารกิจในพื้นที่รับผิดชอบ
โครงการประยุกต์ใช้แผนที่สถานการณ์ร่วมเพื่อจำลองภารกิจการช่วยเหลือทางทหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการวิจัยและพัฒนาต่อยอดแผนที่สถานการณ์ร่วมในรูปแบบสามมิติด้วยภาพถ่ายจาก UAV มาถ่ายทอดสัญญาณและแสดงผลการปฏิบัติหน้าที่ของทหารขณะปฏิบัติภารกิจในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากนั้นจึงใช้เทคโนโลยีการสร้างตัวแบบและการจำลองภาพสถานการณ์ฉุกเฉินในระบบศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (Command, Control, Communication, Computer, Intelligence, Surveillance, Reconnaissance (C4ISR)) เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการในพื้นที่ห่างไกลได้ออกคำสั่ง รวมถึงการตัดสินใจต่อการปฏิบัติภารกิจฉุกเฉินให้ทหารที่ปฏิบัติการในพื้นที่รับคำสั่งไปปฏิบัติได้ทันที
การสื่อสารข้อมูลในการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือทางทหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิเช่น การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดอุทกภัย UAV จะทำหน้าที่บินถ่ายภาพพื้นที่ ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดอุทกภัยตามหลักการลาดตระเวน พร้อมกรรมวิธีการเฝ้าตรวจ และการสำรวจภาคพื้น เพื่อความถูกต้องของข้อมูลในการจัดเตรียมแผนที่สถานการณ์ 3 มิติ การเข้าบรรเทาเหตุอุทกภัยด้วย UAV ที่ทำหน้าที่ลาดตระเวน เพื่อสื่อสารสัญญาณข้อมูลจากอุปกรณ์สื่อสารสัญญาณแบบพกพา Manpack จากพื้นที่ เข้าสู่ระบบอำนวยการปฏิบัติแบบเคลื่อนที่ ห่างออกไปได้ถึง 150 กิโลเมตร เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ภาพ หรือ วีดิโอ ก่อนส่งข่าวสารที่ได้ผ่านโครงข่ายการสื่อสารปกติ เข้าสู่ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน
การดำเนินการที่สำคัญ
1. สร้างต้นแบบและองค์ความรู้ระบบโครงข่ายการสื่อสารด้วยระบบสื่อสารในช่วงคลื่น L-band ติดตั้งบน UAV บินทำการ 6 ชั่วโมง
2. สร้างต้นแบบและองค์ความรู้ระบบแผนที่สถานการณ์ร่วม 3 มิติ ด้วยภาพจาก UAV แทนภาพดาวเทียมเพื่อความถูกต้องและทันสมัยกว่า
3. สร้างต้นแบบและองค์ความรู้ระบบ C4ISR ด้วยองค์ความรู้ด้านข่าวกรอง, การเฝ้าตรวจ และการลาดตระเวน (ISR : Intelligence, Surveillance and Reconnaissance) เพื่อหนทางปฏิบัติที่ดีกว่า
ปัจจุบัน สทป. อยู่ระหว่างการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้แผนที่สถานการณ์ร่วมในรูปแบบ 3 มิติ ด้วยภาพถ่ายจาก UAV เพื่อสนับสนุนภารกิจทางทหาร และภารกิจอื่นของรัฐในประเทศเพื่อการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย การร่วมกับภาครัฐอื่นแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยคลี่คลายปัญหาได้อย่างทันเวลา เนื่องจากระบบสามารถสร้างโครงข่ายการสื่อสารขึ้นเองได้ขณะเกิดสถานกาณ์ฉุกเฉิน การนำต้นแบบโครงการฯ ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยได้ใกล้เคียงเวลาจริง ช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ เน้นภารกิจที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านการบรรเทาสาธารณภัย และภัยพิบัติ โดย สทป. นำเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่มีอยู่หลากหลายแขนงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการป้องกันประเทศ รวมถึงการประยุกต์ใช้ประโยชน์แก่ประเทศในภาพรวม ด้วยการวิจัยและพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้แผนที่สถานการณ์ร่วมในรูปแบบ 3 มิติ ด้วยภาพถ่ายจาก UAV เพื่อการจำลองเหตุการณ์น้ำท่วมแบบ 3 มิติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือสนับสนุนภารกิจการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติและสาธารณภัยของ นพค.31 ในพื้นที่ จังหวัดน่าน
สทป. ยังคงต้องวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่เป็นโครงการเดิมนี้ ควบคู่ไปกับการดำเนินการโครงการใหม่ภายใต้พระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 ในลักษณะของการบูรณาการและเป็นเทคโนโลยี 2 ทางที่ใช้งานได้ทั้งทหารและพลเรือน งานในโครงการใดที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ จะได้รับการพิจารณาดำเนินการ โดยเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่นอกจากจะทำให้กองทัพไทยพึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |