ซูเปอร์โพลเผยคนไทยต้องการวัคซีนเข็มแรกถ้วนหน้า ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ เปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจ สธ.ออกประกาศเพิ่มสิทธิเบิกจ่ายอาการแพ้ หอการค้าไทยประสานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซื้อฉีด 1 ล้านคน สอท.จอง 3 แสนโดส มท.จ่อหารือท้องถิ่นจัดหาวัคซีนทางเลือก อบจ.-เทศบาลขานรับเตรียมทุ่มงบซิโนฟาร์ม รอแค่ไฟเขียว
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง "วัคซีนเข็มแรก ความต้องการถ้วนหน้า" กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,051 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-30 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.9 ต้องการวัคซีนเข็มแรกให้คนไทยทุกคนได้รับก่อน ส่วนเข็มที่สองยอมรับได้ให้ยืดเวลาออกไป รองลงมาคือร้อยละ 86.8 ต้องการให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนกระจายวัคซีนครอบคลุมคนต้องการทุกพื้นที่เร่งด่วนที่สุด และร้อยละ 83.7 ให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันถ้วนหน้า ตามจำนวนวัคซีนที่มีอยู่
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.6 ต้องการให้รัฐบาลจัดอันดับกลุ่มเสี่ยงพื้นที่เสี่ยง กระจายให้จังหวัดจัดการเอง ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.1 ไม่ต้องการให้เอาวัคซีนไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองในทุกระดับ และร้อยละ 79.6 ต้องการให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและภาคส่วนอื่นๆ นำเข้าวัคซีนหลากหลายยี่ห้อเร็วที่สุด
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.2 มั่นใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุดต่อการได้ใช้ชีวิตปกติ เช่น เดินทาง ทำงาน ทำธุรกิจ ช็อปปิ้งจับจ่ายใช้สอย หลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกถ้วนหน้า ในขณะที่ร้อยละ 15.6 มั่นใจปานกลาง และร้อยละ 6.2 มั่นใจค่อนข้างน้อย ถึงไม่มั่นใจเลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.6 มั่นใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุดต่อการเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังคนไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกถ้วนหน้า ในขณะที่ร้อยละ 14.6 มั่นใจปานกลาง และร้อยละ 6.8 มั่นใจค่อนข้างน้อย ถึงไม่มั่นใจเลย
"ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การที่รัฐบาลจะมุ่งกระจายให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกถ้วนหน้าเร็วที่สุดอย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชาชนทั้งประเทศ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น" ผศ.ดร.นพดล กล่าว และว่า รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงถึงการบริหารจัดการวัคซีนภาพรวมอย่างตรงไปตรงมา และสื่อสารกับประชาชนอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อบริหารความคาดหวังและสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนในช่วงวิกฤติของประเทศที่เราทุกคนต้องช่วยเหลือกันและกัน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรค ติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ฉบับที่ 1 และ 2 ให้ผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประชาชนชาวไทยผ่านการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการนำพาประเทศให้ก้าวพ้นวิกฤตการณ์การระบาดของโรค แต่ด้วยสุขภาพร่างกายของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกัน อีกทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในครั้งนี้มีผู้เข้ารับบริการนับล้านราย จึงอาจจะมีบางรายที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน กรม สบส.จึงดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฯ ฉบับก่อนหน้า ออกเป็นประกาศฉบับที่ 3 กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนให้บริการแก่บุคคลที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เฉกเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย
สำหรับประกาศฯ ฉบับที่ 3 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.2563 เว้นแต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-9 จากสถานพยาบาลเอกชนที่รัฐกำหนด สามารถเข้ารับการดูแลรักษาได้ฟรีจากสถานพยาบาลเอกชน ซึ่งนอกจากการเพิ่มสิทธิเบิกจ่ายในข้างต้นแล้ว ประกาศฯ ฉบับที่ 3 ยังได้เพิ่มสิทธิในการเบิกจ่ายค่าพาหนะขนส่งผู้ป่วยทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างราบรื่นและเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันด้วย
เอกชนแห่จองซิโนฟาร์ม
ทางด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นว่า ได้ประสานขอให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ส่งรายละเอียดเงื่อนไขการนำเข้าวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มในเบื้องต้นมายังหอการค้าไทย ทั้งในส่วนของจำนวน ราคา และระยะเวลาการนำเข้า รวมถึงเงื่อนไขข้อผูกพันต่างๆ เนื่องจากเวลานี้สมาชิกหอการค้าไทย รวมถึงหอการค้าต่างประเทศที่มีอยู่ในประเทศไทยกว่า 50 ประเทศ มีความสนใจที่จะสั่งจองวัคซีนในส่วนนี้ เพื่อที่จะใช้กับพนักงานของตนเอง โดยไม่ต้องรอวัคซีนจากรัฐบาล ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานเพราะไม่ได้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง
โดยหอการค้าไทยพร้อมจะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงให้กับบริษัทต่างๆ เป็นผู้ทำสัญญาในการสั่งจองซื้อวัคซีนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์โดยตรง โดยประเมินความต้องการของสมาชิกหอการค้าไทย ที่เคยแจ้งความจำนงไว้ก่อนหน้านี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน แต่บางส่วนอาจเป็นคนที่ได้ลงทะเบียนไว้กับรัฐบาลแล้วหลักแสนคน ในส่วนนี้หากสามารถเปลี่ยนมารับวัคซีนทางเลือกได้ วัคซีนที่ลงทะเบียนจองไว้กับรัฐบาลจะสามารถนำกลับไปใช้กับประชาชนทั่วไปให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้แจ้งความประสงค์วัคซีนซิโนฟาร์มไปราว 3 แสนโดส ซึ่งทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รับไว้พิจารณา แต่หากหลังจากนี้ราชวิทยาลัยฯ สามารถเพิ่มปริมาณการนำเข้าวัคซีนได้ ทาง ส.อ.ท.พร้อมที่จะเพิ่มคำสั่งจองวัคซีนเป็น 5 แสนโดส ภายใต้เงื่อนไขนำเข้าในช่วง มิ.ย.นี้ เพื่อเร่งฉีดให้กับกลุ่มแรงงานในโรงงาน โดยยินดีที่จะออกค่าวัคซีนให้กับพนักงาน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัด? (อบจ.)? หลายแห่งต้องการจะนำงบประมาณไปจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่ติดขัดระเบียบบางข้อ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ว่า อบจ.ควรไปหารือกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเท่าที่ตนทราบ มท.กำลังพิจารณาอยู่ โดยระเบียบที่ติดขัดอยู่เป็นเรื่องการใช้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางข้อที่ได้กำหนดไว้ว่าสามารถนำเงินไปใช้ในการพัฒนาหรือเรื่องอื่นใดได้บ้าง แต่ไม่ได้เขียนเผื่อไว้ให้นำไปจัดซื้อวัคซีนได้ ในอดีตยังไม่เคยเกิดกรณีเช่นนี้มาก่อน แต่เมื่อวันนี้เริ่มมีกรณีตัวอย่าง มท.สามารถนำมาพิจารณาและดำเนินการแก้ไขได้เอง เพราะเขามีคณะกรรมการที่รับผิดชอบตรงนี้อยู่แล้ว และไม่ต้องเสนอเรื่องมาขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี? (ครม.)?
ผู้สื่อข่าวถามว่า บางฝ่ายเสนอให้เปิดช่องแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นติดต่อขอซื้อจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนยังต้องการขายให้หน่วยงานภาครัฐ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถติดต่อขอซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง ดังนั้น ถ้าเขาต้องการจะจัดซื้อในช่วงนี้ สามารถติดต่อหน่วยงานอย่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งตัวแทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมาคมสันนิบาตเทศบาล สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย จะต้องมาหารือกันกับฝ่ายที่รับผิดชอบ จะแบ่งพื้นที่และจัดสรรกลุ่มคนอย่างไร เพื่อให้ได้รับการจัดสรรวัคซีนได้โดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลอีกเรื่องคือ หากให้ท้องถิ่นไปฉีดวัคซีนแล้วช่วงพักคอยอาการ 30 นาที ใครจะมาดูแลให้ หากมีแพทย์อาสามาดูแล หรือร่วมกับโรงพยาบาลระดับอำเภอ มีรถพยาบาลเตรียมพร้อม หากเกิดเหตุฉุกเฉินเข้ามารับ หากส่วนนี้พร้อมคงไม่มีปัญหาการกระจายวัคซีน ทั้งนี้ ท้องถิ่นมีงบประมาณในการดูแลเรื่องการจัดหาวัคซีนทางเลือกได้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ และจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนประสานข้อมูลนี้
ขณะที่นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ยืนยันว่า เทศบาลนครนนทบุรีมีความพร้อมในการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก โดยมีการจัดสรรงบประมาณไว้กว่า 180 ล้านบาท สำหรับการจัดหาวัคซีนให้กับ ประชาชนในพื้นที่ประมาณ 150,000 คน จากทั้งหมด 260,000 คน โดยเทศบาลนครนนทบุรีมีศักยภาพในการฉีดวัคซีน ได้ 5,000 คนต่อวัน เพราะมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 12 แห่ง และมีเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติการ ทั้งนี้ มั่นใจว่าหากรัฐบาลเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถจัดสรรวัคซีนได้เอง ทางเทศบาลนครนนทบุรีจะดำเนินการขอซื้อมาฉีดให้กับประชาชนอย่างแน่นอน
ท้องถิ่นรอ มท.ไฟเขียว
นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง เปิดเผยว่า ได้เตรียมจองวัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรก 80,000 โดสมาให้ชาวตรัง หากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ปลดล็อกระเบียบต่างๆ อนุญาตให้ท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ได้ ตนพร้อมที่จะทำทันที
ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครราชสีมารายงานว่า ก่อนที่นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จะเดินทางไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้ลงนามในหนังสือทิ้งทวน 2 ฉบับ โดยฉบับแรก ลงวันที่ 25 พ.ค.2564 ถึงเลขาธิการวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยขอจองวัคซีนจากราชวิทยาลัยฯ 100,000 โดส โดยหารือกับ อบจ.นครราชสีมาเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนชาวนครราชสีมาได้รับวัคซีนที่เพียงพอ อีกฉบับทำหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อหารือว่าสามารถจัดซื้อวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้หรือไม่ และมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร
ที่ จ.กาญจนบุรี นางสาวปุณยวีร์ โพธิพิพิธ นายกเทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า จัดสรรงบประมาณจากเงินสะสมของเทศบาลในการสั่งจองวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มจำนวน 8,000 โดสจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มาให้กับชาวเทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น อย่างไรก็ตาม การใช้งบประมาณดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยก่อน
นายสิริพงษ์ สืบเนียม นายกเทศบาลตำบลห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า เทศบาลตำบลห้วยกระเจาสนใจและอยากได้วัคซีดมาฉีดเพื่อหยุดเชื้อให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่ยังขาดงบประมาณซึ่งมีประชากร 9,800 คน 1 คนต้องฉีด 2 โดส โดสละ 1,000 บาท เท่ากับต้องใช้งบประมาณมากถึง 19,600,000 บาท ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนงบประมาณจำนวนดังกล่าว
เช่นเดียวกับแนวคิดนายสมศรี พันธ์เจริญวรกุล นายกเทศมนตรีเมืองลำตาเสา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ระบุว่า หากกระทรวงมหาดไทยปลดล็อกให้ท้องถิ่นเตรียมทุ่มงบประมาณจองซื้อวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภณ์ เพื่อชาวลำตาเสาทุกคนได้ฉีดวัคซีนฟรี
นายวิทยา คุณปลื้ม นายก อบจ.ชลบุรี กล่าวถึงกรณีการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนว่า อบจ.ชลบุรีมีเงินสะสมประมาณ 1,000 ล้านบาท หากจะจัดซื้อวัคซีน 500 ล้านบาท อบจ.ชลบุรีก็มีความพร้อม อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงมหาดไทยจะต้องปลดล็อกกฎระเบียบให้มีการซื้อวัคซีน
นายสุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ.อ่างทอง ประกาศนำเงินคงเหลือสะสมจำนวน 40 ล้านบาท เตรียมจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยจะเน้นกลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มที่เป็นด่านหน้าเป็นลำดับแรก โดยคาดว่าจะได้รับวัคซีนในกลางหรือปลายเดือน มิ.ย.นี้ และจะเร่งฉีดทันที
วันเดียวกัน นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกร้องกระทรวงมหาดไทยปลดล็อกให้ อปท.มีสิทธิ์จัดซื้อจัดหาวัคซีนได้โดยตรงจากผู้ผลิต เพราะจะสามารถแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการกระจายวัคซีนให้ประชาชน และเป็นการส่งเสริมให้ท้องถิ่นดูแลประชาชนตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อให้ประชาชนในเขตพื้นที่มีภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ได้
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความว่า เสนอให้ปลดล็อกวัคซีน โดยเร่งสั่งวัคซีนคุณภาพดีหลายๆ ชนิด และมีปริมาณมากพอ อย่างน้อยเดือนละ 15 ล้านโดส เพื่อฉีดให้คนไทยให้จบก่อนสิ้นปี 64 และให้เอกชนนำเข้าวัคซีนทางเลือกได้จริง โดยสามารถสั่งยี่ห้อซ้ำกับรัฐ และไม่ต้องรอให้ฉีดวัคซีนที่รัฐสั่งซื้อมา 2 ตัวแรกหมดก่อน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |