ตอนนี้พูดกันเยอะ
ไม่เชื่อมั่นวัคซีนโควิด-๑๙ โดยเฉพาะการบริหารจัดการของรัฐบาล
สาเหตุมาจากอะไรกันแน่
เท่าที่เห็นหลักๆ มีอยู่ ๒ ประเด็น
ไม่เชื่อมั่นเพราะฝ่ายค้านโจมตี กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ยกแต่ข้อเสียของวัคซีนมาขยายความ
หรือไม่เชื่อมั่นเพราะรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ เปลี่ยนนโยบายไปมาจนประชาชนงง
มาดูกันว่าต้นตอเกิดจากอะไร
สัปดาห์ก่อน "ธนาธร" เจ้าเก่าแทงม้าตัวเดิมจะใช้วัคซีนถล่มรัฐบาลให้ได้ ออกมาสร้างความสับสนอีกรอบ
แต่เหตุผลประกอบ "ธนาธร" เริ่มจะสับสนความคิดตัวเอง
ตามนี้ครับ....
"....นโยบายเปลี่ยนไปมา ประชาชนสับสน วางแผนอนาคตไม่ได้ ไม่เชื่อมั่นรัฐบาล
ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือประชาชนรู้สึกสับสน ไม่เชื่อมั่น ไม่แน่ใจว่าจะวางแผนอนาคตอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนนโยบายไปมาหลายครั้งของรัฐบาล ซึ่งสะท้อนภาวะผู้นำที่ล้มเหลวของนายกรัฐมนตรี ผมขอยกตัวอย่างความสับสน ๕ ประการเกี่ยวกับวัคซีน
๑.การเปลี่ยนเป้าหมายและจำนวนวัคซีนถึง ๔ ครั้งภายในระยะเวลาไม่ถึง ๑ ปี
จากแผนเดิมปลายปีที่แล้ว จะฉีด ๖๕ ล้านโดส ภายในปี ๒๕๖๖ พอต้นปีนี้ ก็เปลี่ยนเป็นฉีด ๖๓ ล้านโดสภายในสิ้นปี ๒๕๖๔
ต่อมาในเดือนเมษายน ก็เปลี่ยนอีก เป็น ๑๐๐ ล้านโดสในสิ้นปี ๒๕๖๔
และล่าสุด นายกฯ ก็ประกาศเปลี่ยนเป้าหมายเป็น ๑๕๐ ล้านโดสภายในปี ๒๕๖๕
แน่นอนว่าการเพิ่มจำนวนวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชนเป็นเรื่องดี แต่การเปลี่ยนจำนวนไปเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่า แต่ละครั้งที่ประกาศออกมา รัฐบาลคิดรอบคอบหรือไม่ ตัดสินใจบนพื้นฐานของอะไร และมีการวางแผนอย่างถี่ถ้วนหรือไม่
ตัวเลขเป้าหมายว่าเราจะต้องซื้อวัคซีนเท่าไหร่ เป็นเรื่องสำคัญมาก หากเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ย่อมหมายความว่าเราจะไม่สามารถวางแผนการกระจาย การบริหารวัคซีนล่วงหน้าได้เลย
ที่สำคัญกว่านั้น ในการเปลี่ยนเป้าหมายแต่ละครั้ง คุณประยุทธ์ไม่เคยทำให้ประชาชนเห็นเลยว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร มีเพียงคำพูด เช่นที่ผมตั้งคำถามไปว่า ทุกวันนี้ฉีดได้มากที่สุดวันละ ๑๖๐,๐๐๐ โดส แล้วจะฉีดให้ครบ ๑๐๐ ล้านโดสภายในสิ้นปีได้อย่างไร
หรือตั้งเป้าไว้ว่าจะหาให้ได้ ๑๕๐ ล้านโดส แต่ตอนนี้ได้เพียง ๗๐ ล้านโดส ที่เหลือคุณจะหามาจากไหน วัคซีนอะไร หาอย่างไร ไม่มีใครรู้
และคุณประยุทธ์ไม่เคยทำให้ประชาชนเชื่อว่าจะหาได้...."
ครับ....นี่คือความคิดของทายาทธุรกิจหมื่นล้าน
เริ่มจะไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมา "ธนาธร" มีส่วนบริหารไทยซัมมิทมากแค่ไหน
ถ้า "ธนาธร" เขี้ยวในเชิงธุรกิจจริง น่าจะรู้ว่าการวางแผนธุรกิจขึ้นกับปัจจัยหลักคือ "สถานการณ์"
และการปรับเปลี่ยนเป้าหมายทางธุรกิจมี "สถานการณ์" เป็นตัวบังคับ
การบริหารจัดการวัคซีนก็เช่นกัน
ในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนที่บริหารจัดการวัคซีนได้นิ่งจนไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
ประเทศที่ฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรเยอะที่สุดอย่างอิสราเอล ต้องปรับเปลี่ยนการจัดหาวัคซีนอยู่ตลอดเวลา
และซื้อในราคาที่แพงถึง ๒ เท่า
ไต้หวัน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ของการบริหารวัคซีนตามสถานการณ์ แต่ไต้หวันดูจะมีปัญหามากในขณะนี้ เพราะไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้
พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า ไม่ใช่หรือที่เคยออกมาชมรัฐบาลไต้หวันว่า จัดการกับการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ได้อย่างยอดเยี่ยมกระเทียมดอง
โควิดในไต้หวันเพิ่งระบาดหนักช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ทั้งที่ก่อนหน้านั้นได้รับคำชมว่าสามารถป้องกันการระบาดได้ดีเป็นลำดับต้นๆ ของโลก
แต่ขณะนี้ไต้หวันขาดแคลนวัคซีนอย่างรุนแรง การจัดหาเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้แต่สหรัฐฯ ประเทศมหามิตรก็มีทีท่าไม่ส่งวัคซีนให้ อ้างว่าโควิดที่ไต้หวันยังระบาดไม่มากพอ
ไม่มากของสหรัฐฯ คือติดเชื้อเป็นพันเป็นหมื่นต่อวัน
สำหรับไต้หวันแล้วจากประเทศที่ติดเชื้อตัวเลขหลักหน่วยต่อวัน กลายเป็นวันละ ๔-๕ ร้อยคนถือว่าหนักหนาสาหัส
สถานการณ์ของไต้หวันไม่ต่างจากไทยช่วงก่อนเดือนเมษายนมากนัก
แต่ไทยยังดีกว่าตรงที่เรามีวัคซีนของตายรออยู่คือ AstraZeneca
ขณะที่ไต้หวัน ไม่มีอะไรในมือเลย
หาก "ธนาธร" เป็นนักการเมืองไต้หวัน ก็อยากรู้ว่าท่าทีจะเป็นอย่างไร
รู้สึกประหลาดใจที่ "ธนาธร" ยกเอาการเปลี่ยนแปลงจำนวนการจัดหาวัคซีนมาเป็นข้อโจมตีว่ารัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายจนประชาชนสับสน
ทั้งที่การจัดหาวัคซีนเพิ่มเป็นเรื่องที่ทำกันทั่วโลก บางประเทศจัดหาสำเร็จตามเป้า แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ
เพราะวัคซีนยังกระจายอยู่ในประเทศร่ำรวยเป็นหลัก
และการจัดหาเพิ่มของแต่ละประเทศ ล้วนเป็นไปตามสถานการณ์การระบาด
ฉะนั้นเรื่องเป้าหมายจัดหาวัคซีน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องนำมาโจมตีเลย
กลับต้องชื่นชมด้วยซ้ำ เพราะเป้าหมายคือให้ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีน
เรื่องนี้ "ลุงตู่" ไม่ได้คิดคนเดียว คิดเอาเอง แล้วเคาะเองว่า ต้องเพิ่มวัคซีนเท่าไหร่ แต่ทีมแพทย์ ทีมผู้เชี่ยวชาญใน ศบค.คิดอย่างรอบคอบแล้วว่า ต้องปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมอะไรอย่างไร จึงประกาศออกมาเป็นนโยบาย
เชื่อมั้ยว่าถ้ารัฐบาลยังคงเป้าหมายฉีดวัดซีนเพียง ๖๕ ล้านโดสโดยไม่เปลี่ยนอะไรเลย "ธนาธร" ก็จะเอามาโจมตีว่า รัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการวัคซีนตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-๑๙
สรุปแล้ว "ธนาธร" แทงม้าตัวเดิม
โจมตีรัฐบาลสถานเดียว ไม่สนใจว่าข้อเท็จจริงต้องเป็นอย่างไร
อีกประเด็นที่พูดถึงกันมากในขณะนี้ มีการยกรัฐธรรมนูญขึ้นมาอ้างว่ารัฐบาลกำลังละเมิดรัฐธรรมนูญ
นี่คือหนึ่งในประเด็นที่ยกขึ้่นมาโจมตีวัคซีนทางเลือก
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ บัญญัติว่า....
"บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย"
อ้างว่าวัคซีนทางเลือกที่ต้องใช้เงินขัดกับรัฐธรรมนูญ
มันจะบ้ากันไปใหญ่!
ไอ้พวกร้องหาวัคซีนทางเลือกไม่ใช่หรือ ที่เอาแต่ด่าว่ารัฐบาลผูกขาดวัคซีน
พอเปิดให้มีทางเลือก มันก็จิกด่าว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ
ตรรกะนรกชัดๆ!
ประชาชนทั่วไปน่าจะทราบกันดีแล้วว่า รัฐบาลประกาศฉีดวัคซีนฟรีสำหรับทุกคน นั่นคือ สิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้
คือวัคซีนหลัก เบื้องต้นมี ๒ ยี่ห้อคือ AstraZeneca และ sinovac
ใครที่อยากฉีดวัคซีนทางเลือกซึ่งขณะนี้ที่แน่ๆ แล้วคือ Sinopharm ก็ไม่ขัดข้อง
แต่ Sinopharm มีดีลพิเศษคือ หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนที่ซื้อไป ต้องฉีดให้คนในองค์กรฟรี ห้ามเก็บเงิน
ส่วน Pfizer, Moderna ที่ร้องหากัน หากเข้ามาในฐานะวัคซีนทางเลือกก็ควักเงินฉีดกันตามสะดวก
แต่หากเข้ามาเสริมวัคซีนหลักโดยรัฐบาล ก็ต้องฉีดฟรี
หลักเกณฑ์มันมีอยู่แค่นั้น จึงมองไม่เห็นว่าจะขัดรัฐธรรมนูญได้อย่างไร
น่าจะขัดใจคนบางพวกมากกว่า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |