ถ้าเราไม่ปรับแผนสู้โควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและเร่งร้อน ก็อาจจะมีสภาพเหมือนมาเลเซีย
มาเลเซียเพิ่งประกาศ “ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ” เริ่มวันที่ 1 ถึง 14 มิถุนายนนี้
เพราะตัวเลขคนติดเชื้อต่อวันล่าสุดเมื่อวันเสาร์พุ่งทำสถิติใหม่กว่า 9,000 คน
ขณะที่วันเดียวกันนั้น ไทยเรามีผู้ติดเชื้อใหม่กว่า 4,800 คนหรือใกล้ๆ ห้าพัน
ผู้เสียชีวิตของเขาต่อวันเกิน 60 ของเราเกิน 30
ที่เปรียบเทียบว่าเราอยู่ห่างเขาครึ่งหนึ่งนั้นประมาทไม่ได้เป็นอันขาด เพราะโคโรนาไวรัสตัวนี้สามารถกระจายตัวได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงน่ากลัว
ยอดผู้ติดเชื้อสะสมของมาเลเซียอยู่ที่ประมาณ 550,000 เสียชีวิตแล้วกว่า 2,500
ของไทยเราติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปีที่แล้วประมาณ 150,000 และเสียชีวิตสะสมใกล้ 900 คน
สาเหตุของการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ที่แพร่เชื้ออย่างกว้างขวางจนกลายเป็นการระบาดระลอกใหม่นั้นคล้ายกัน
ไทยของเราเป็นเพราะมีการผ่อนผันให้เดินทางและทำกิจกรรมช่วงสงกรานต์
ของมาเลเซียก็เป็นช่วงการเฉลิมฉลองรอมฎอน
เพียงแค่ในเดือนเดียวตัวเลขคนติดเชื้อของมาเลเซียพุ่งขึ้น 40%
เฉพาะปีนี้ตัวเลขติดเชื้อและเสียชีวิตของเขาเพิ่มขึ้น 5 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
นายกฯ มูห์ยิดดิน ยัสซิน ประกาศว่าจะต้องระงับกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งหมดในช่วง 14 วันนี้
ยกเว้น “กิจกรรมเศรษฐกิจที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น”
มีความเหมือนกันระหว่างมาเลเซียกับไทย ตรงที่รัฐบาลตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากหลายกลุ่มที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน
บางกลุ่มเรียกร้องให้มีการล็อกดาวน์เต็มที่แบบ “เจ็บแต่จบ”
แต่อีกบางกลุ่มต่อต้านมาตรการเข้มข้นเพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน
แรกๆ รัฐบาลก็โอนอ่อนผ่อนตามเสียงต่อต้านการล็อกดาวน์
แต่เมื่อตัวเลขคนติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างน่ากลัว นายกฯ มาเลเซียก็ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องล็อกดาวน์เต็มที่
มาเลเซียเจอคลัสเตอร์ที่เป็นจุดแพร่เชื้อใหญ่ 24 จุดที่มีกรณียืนยันติดเชื้อแล้ว 850 ราย
ในจำนวนนี้มีลักษณะติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้การระบาดของเชื้อเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางรุนแรง
มาตรการควบคุมของมาเลเซียใช้ชื่อว่า Movement Control Order (MCO) ขณะที่ของสิงคโปร์เรียกว่า Circuit Breaker
แรกๆ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า Lockdown ซึ่งฟังดูขึงขังเกินไป
แต่ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นที่จะต้องใช้คำว่า Lockdown เพราะเป็นการสื่อความหมายของวิกฤติถึงประชาชนที่ตรงไปตรงมาที่สุด
ความจริงรัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศภาวะ “ฉุกเฉิน” มาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่เดือนมกราคม
พอมีถึงต้นเดือนพฤษภาคม เมื่อสถานการณ์ทำท่าจะเอาไม่อยู่ก็ประกาศ MCO เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม
ตอนนั้นใช้คำว่า near-lockdown หรือ “ล็อกดาวน์แบบอ่อนๆ” เพราะไม่ต้องการสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชน
ตอนนั้นก็ยังให้กิจกรรมด้านเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ แต่ก็ห้ามจัดงานที่มีคนรวมตัวกันเยอะ และห้ามกินอาหารในร้าน อีกทั้งยังห้ามการเดินทางข้ามรัฐ
แต่ตัวเลขคนป่วยก็ไม่ลดลง กลับพุ่งสวนทางกับเป้าหมายของรัฐบาล
ผลที่ตามมาคือโรงพยาบาลเริ่มล้น และบุคลากรทางการแพทย์รับไม่ไหว
นายกฯ มาเลเซียจึงไม่มีทางเลือกต้องใช้ “ค้อน” ทุบ โดยหวังว่าจะกดให้ตัวเลขคนติดเชื้อลดลง
เศรษฐกิจมาเลเซียหดตัวลง 5.6% ในปีที่แล้ว และไตรมาสแรกของปีติดลบไป 0.5%
จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำงบประมาณขาดดุล เพราะต้องทุ่มเงินประมาณ 340,000 ล้านริงกิต หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านบาทเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากเพราะวิกฤติครั้งนี้
หนีไม่พ้นว่าเราต้องพยายามอย่างสุดฤทธิ์ที่จะไม่เดินไปในเส้นทางเดียวกับมาเลเซีย เพราะนั่นคือหลุมดำที่ลึกกว่าของเรา
ผู้รู้บางคนที่ติดตามสถานการณ์โควิดล่าสุดของไทยเราและเพื่อนบ้านบอกผมว่า
ตอนนี้เรามีทางเลือกอยู่สองทาง...คือล็อกดาวน์เต็มรูปแบบเพื่อสกัดการแพร่ระบาด
หรือเร่งฉีดวัคซีนที่รวดเร็วและกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่นี้อย่างจริงจัง
ทางเลือกแรกต้องแลกกับความเจ็บปวดอย่างหนัก
ทางเลือกหลังต้องมีผู้นำที่ชัดเจน, โปร่งใส, กล้าตัดสินใจ และสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับประชาชน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |