ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร อุณหภูมิสูงขึ้น อากาศร้อนจัด แม้บางวันจะมีเมฆครึ้มในบางช่วง แต่ก็เคลื่อนคล้อยลอยผ่านไป ฝนไม่ตกอย่างที่คิด ทิ้งไว้แต่อากาศที่ร้อนอบอ้าว ทั้งที่เป็นเดือนพฤษภาคมย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว
ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า วันที่ 15 พฤษภาคม ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว แต่ฝนก็ไม่ตกอย่างที่ประมาณการไว้ จึงมีข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับสภาพอากาศในปีนี้ นายอนุรัตน์ ศฤงคารภาษิต ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง เห็นได้จากอากาศที่ร้อนอบอ้าวมากขึ้นในทุกช่วงฤดู รวมถึงฤดูหนาวที่อากาศไม่หนาวเย็นนัก และไม่หนาวต่อเนื่องเหมือนในอดีต
ผอ.กองพัฒนาอุตุฯ ยังกล่าวอีกว่า ความแตกต่างของอุณหภูมิในช่วงเวลากลางวันกับกลางคืนไม่แตกต่างกันมาก ลมที่พัดประจำฤดูก็มีความผิดปกติไปจากที่เคย ส่งผลให้สภาพอากาศอื่นๆ รวมทั้งฝนมีความผันแปรไปจากเดิม เอื้อต่อการเกิดสภาวะอากาศที่รุนแรงทั้งในทางที่น้อยผิดปกติและมากผิดปกติ
“ ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นในแต่ละปี แต่ความผันแปรของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและลดต่ำลงในแต่ละปี มีปัจจัยมาจากปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศต่างๆ อย่างปรากฏการณ์ลานีญากำลังปานกลางในครั้งนี้ พัฒนาตัวมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 และยังคงอยู่ในสภาวะลานีญามาจนถึงตอนนี้ แต่ค่อยๆ อ่อนกำลังลง โดยมีแนวโน้มสูง ที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะปกติ ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2564 ส่งผลให้ภาคใต้ของไทยมีปริมาณฝนมากขึ้นจากปกติ รวมถึงอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนปี 2564 ไม่ร้อนอบอ้าวมากนัก “ นายอนุรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผอ.กองพัฒนาอุตุฯ สรุปสภาพอากาศร้อนในเดือนเมษายนปีนี้ เหตุที่ทำให้ไม่ร้อนเหมือนทุกปี เพราะลานีญาส่งผลให้ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เป็นระยะๆ ในขณะที่ไทยมีอากาศร้อน ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงต้นเดือนและกลางเดือน ทำให้ไทยตอนบนมีฝนและฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ช่วยคลายความร้อนลงไปได้มาก ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนเมษายนต่ำกว่าค่าปกติในทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ 1.2 และ 1.1 องศาเซลเซียส
“ มวลอากาศสูงที่เบียดเข้ามาบ่อยๆ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เดือนเมษายนที่ผ่านมา ไทยมีพายุฤดูร้อนตั้งแต่ต้นเดือนและปลายเดือน มีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ บางช่วงฝนไม่มา แต่มีลมแรง ทำให้บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหาย พบว่า ปริมาณฝนเมษายนปีนี้สูงกว่าค่าปกติในทุกภาค โดยเฉลี่ยทั้งประเทศเดือนนี้ประเทศไทยมีปริมาณสูงกว่าค่าปกติ 96 เปอร์เซ็นต์ “ นักอุตุนิยมวิทยาบอก
จากการติดตามสภาพภูมิอากาศเดือนเมษายน 2564 ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 28.7 องศา ต่ำกว่าค่าปกติ 0.8 องศาเซลเซียส (ค่าปกติอุณหภูมิเฉลี่ยของไทยในเดือนเมษายน คือ 29.5 องศา)
ขณะที่อุณหภูมิสูงที่สุดในเดือนเมษายน 2564 วัดได้ 41.7 องศาที่สถานีบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัด ลพบุรี เมื่อวันที่ 2 เม.ย. เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 และ 2562 พบว่า เดือนเมษายนปีนี้มีอากาศร้อนน้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมานอกจากนี้ จากสถิติที่ผ่านมา พบว่า อุณหภูมิสูงสุดในฤดูร้อนของไทยวัดได้ 44.6 องศาเซลเซียส ที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 28 เม.ย. 2559
“ สำหรับฤดูร้อนปีนี้มีจำนวนวันที่มีอากาศร้อน อุณหภูมิสูงสุด 35.0 - 39.9 องศา และร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่ 40.0 องศา น้อยกว่าปีที่ผ่านมาชัดเจน โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม “ นายอนุรัตน์ กล่าวเสริม
แม้ว่าเดือนเมษาปีนี้ไม่ร้อนปรอทแตก แต่ในเดือนพฤษภาคมอยู่ในช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ระยะครึ่งแรกของเดือนเกือบทุกภาคของประเทศยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าว และเกิดพายุฝนฟ้าคะนองหรือพายุฤดูร้อนได้บ่อย
เขาอธิบายว่า ปกติคนจะคุ้นเคยการพูดถึงดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 27 เมษายน มักมีคำทำนายว่าอากาศจะร้อนที่สุด ซึ่งปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี แต่ปีนี้แนวโคจรดวงอาทิตย์ค่อยๆ เคลื่อนมาตั้งฉากที่บริเวณภาคเหนือของไทยต้นเดือนพฤษภาคม ทำให้มีอากาศร้อนเกือบทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ของ จ.อุตรดิตถ์ ล่าพูน ลำปางและแม่ฮ่องสอน อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ 43 องศา ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ อุณหภูมิสูงสุดของเดือน พ.ค. วัดได้ 40.8 องศา ถือว่าร้อนจัด แต่มีอุณหภูมิเฉลี่ย อยู่ที่ 33-35 องศา
“ คนกรุงเทพฯ จะรู้สึกร้อนมาก เพราะเป็นเมืองแห่งความร้อน ที่เรียกว่า ฮีท โดม (HEAT DOME) สภาพแวดล้อมเมือง เต็มไปด้วยตึกสูงคอนโดมิเนียมหนาแน่นแออัด กักเก็บความร้อนไว้ ทำให้ความร้อนที่ได้รับไม่สามารถระบายออกไปได้คล้ายกับมีฝาแก้วครอบอบู่ แล้วยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ส่วนตัว รถขนส่งสาธารณะ และการใช้งานเครื่องปรับอากาศ ซึ่งระบายความร้อนออกมา ทำให้สภาพอากาศในกรุงเทพฯ ร้อนขึ้นไปอีก เห็นได้ชัดเจนฤดูหนาวทุกปี กทม. มีแค่อากาศเย็น เพราะปัญหาโดมความร้อนสูง ขณะที่ภาคเหนืออากาศหนาวถึงหนาวจัด “ นายอนุรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า ครึ่งหลังของเดือน พ.ค. เข้าสู่ต้นฤดูฝน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มพัดปกคลุมประเทศไทยชัดเจนและร่องความกดอากาศต่ำเลื่อนจากประเทศมาเลเซีย ขึ้นมาพาดผ่านภาคใต้และภาคกลางตามล่าดับ ทำให้มีฝนตกชุก
เวลานี้ประเทศไทยเข้าฤดูฝนแล้ว ผอ.กองพัฒนาอุตุฯ บอกว่าจากการพยากรณ์คาดว่า ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนจะมากกว่าค่าปกติ ประมาณร้อยละ 5 และจะมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10
ช่วงครึ่งหลังฤดูฝน เดือนสิงหาคมถึงประมาณกลางตุลาคม ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติ ฤดูฝนของไทยปีนี้จะสิ้นสุดกลางเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคมยังคงต้องระมัดระวังเกิดฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณและการกระจายของฝนลดลงไป
สำหรับช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุดในหน้าฝน คือ ช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน มีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงน้ำล้นตลิ่งได้
อย่างไรก็ตาม นักอุตุนิยมวิทยา เตือนว่า ในฤดูฝนนี้พื้นที่กรุงเทพฯ ต้องระวังเรื่องฝนตกหนัก จนเกิดการระบายน้ำไม่ทัน เนื่องจากสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปและมีจ่านวนประชากรเพิ่มมากขึ้น มีการก่อสร้าง มีถนน และมีขยะที่กีดขวางทางระบายน้ำ ส่งผลให้ความสามารถของพื้นที่ในการรองรับต่อปริมาณฝนในระดับหนักถึงหนักมากลดน้อยลงไป มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น
ในความน่ากังวลของ กทม. นั้น นายอนุรัตน์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เกิดฝนตกหนักรุนแรงมาก ผลจากการเติบโตเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ยกมวลอากาศสูง เกิดทั้งในและฝนกระโชกแรง เรียกว่า กระแสลมปั่นป่วน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อผ่านบริเวณอาคารหนาแน่น
“ 30 ปีก่อน ฝนพันปีทำให้เกิดน้ำท่วม กทม. ทุกวันนี้แค่ฝนตกหนักหนาแน่น 60 มิลลิเมตรต่อวัน ก็น้ำท่วมแล้ว สาเหตุไม่ใช่จากปริมาณน้ำฝน มาจากปัจจัยเสี่ยงของมหานครแห่งนี้ ถ้ายังไม่รักษาสภาพของเมือง ไม่ดูแลรักษาคูคลองให้ทำหน้าที่ระบายน้ำ แล้วก็ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม จะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เกิดการแปรปรวนสภาพอากาศ “
นักอุตุนิยมวิทยาคนเดิม กล่าวว่า แนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่แต่สูงขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนมีสูงมีลดต่ำลง ตอนนี้บ้านเรากว่าจะเข้าฤดูหนาวต้องเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์อากาศเริ่มอุ่นแล้ว แนวโน้มฤดูหนาวสั้นลง ขณะที่อุณหภูมิต่ำสุดก็มีแนวโน้มขยับสูงมากขึ้น อุณหภูมิสูงสุดมีแต่ขยับเพิ่มขึ้น ต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปล่อยก๊าซ ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร และฟื้นฟูป่าปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้จะช่วยรักษาความชื้นในอากาศ ทำให้สภาพอากาศโดยรวมเย็นลง ต้องสร้างสังคมสีเขียว นอกจากช่วยลดอุณหภูมิ ยังยกระดับคุณภาพชีวิตสุขภาพคนไทนให้ดีขึ้น
ส่วนการพัฒนาอุตุนิยมวิทยาในไทย ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุตุฯ เร่งพัฒนาแบบจำลองคาดหมายอุณหภูมิและภูมิอากาศให้ยาวไกลและแม่นยำมากขึ้น โดยนักอุตุนิยมวิทยาไทยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาต่างประเทศ ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จะมีแบบจำลองที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น โดยพยากรณ์ระยะสั้น 24 ชั่วโมง ถึง 3 วัน แม่นยำมากกว่า 80% ส่วนพยากรณ์ระยะปานกลางและระยะนานถูกต้องเกิน 75% เกิดประโยชน์ต่อการวางแผนจัดการทรัพยากรน้ำและป้องกันภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ลดผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตสภาพอากาศ ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |