ปลัด สธ.ยันทุกจังหวัดซ้อมระบบฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย ดีเดย์ฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ 7 มิ.ย.แน่นอน ส่วนการลงทะเบียนรับวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไป 76 จังหวัด ไม่รวม กทม. เริ่ม 14 มิ.ย. ทางไลน์ แอปพลิเคชันหมอพร้อม แอปพลิเคชันของจังหวัด อสม. และ รพ.สต. หรือติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน กรมอนามัย เผยมติประชุม คกก.อนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ หญิงท้อง-หญิงให้นมลูกฉีดวัคซีนโควิดได้ พิจารณาตามความเสี่ยง มีโรคประจำตัว
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง, นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานจัดบริการวัคซีนโควิด-19 เตรียมความพร้อมสำหรับการฉีดให้ประชาชนในเดือนมิถุนายน 2564
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ในการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้ ทุกจังหวัดได้มีการซักซ้อมระบบและฉีดได้ตามเป้าหมาย ก่อนที่จะฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 7 มิถุนายน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะกระจายวัคซีนไปยัง 76 จังหวัดตามแผนการจัดสรรของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาการฉีดในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ และให้ทุกจังหวัดจดบันทึกข้อมูลการให้บริการ และจำนวนคงคลังในระบบ MOPH Immunization Center (MOHP IC) ให้ครบ เตรียมความพร้อมในการออกเอกสารรับรองในผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม สำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศ โดยจะมอบอำนาจให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลระดับจังหวัด ในการออกเอกสารรับรองตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ย้ำให้ทุกจังหวัดเน้นการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษา รองรับการเปิดภาคการศึกษา สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ที่ลงทะเบียนมาแล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ จะได้รับวัคซีนในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
โดยการลงทะเบียนรับวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปในต่างจังหวัด (76 จังหวัด ไม่รวม กทม.) มีหลากหลายช่องทาง เริ่มลงทะเบียนวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ได้แก่ ไลน์ แอปพลิเคชันหมอพร้อม แอปพลิเคชันของจังหวัด ผ่าน อสม. และ รพ.สต. หรือติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะสู่ระบบฐานข้อมูล MOHP IC และหมอพร้อมจะติดตามอาการ นัดหมายฉีดครั้งที่ 2 รวมทั้งออกเอกสารการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม
ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า ได้ประชุมทำความเข้าใจเรื่องการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ทุกจังหวัด ซึ่งตามนโยบายของ ศบค. มีเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด- 19 เข็มแรก จำนวน 50 ล้านโดสให้เสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 กำหนดเริ่มฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ยืนยันว่าทุกจังหวัดจะมีวัคซีนฉีดแน่นอน วัคซีนที่รัฐบาลจัดหาทั้งวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค สามารถฉีดได้ในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปเหมือนกัน โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาฉีดให้ โดยยึดหลักวิชาการทางการแพทย์
ส่งวัคซีนเป็นรายสัปดาห์
สำหรับการกระจายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทาง ศบค.จะเป็นผู้กำหนดในการจัดส่งให้แต่ละจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดส่งวัคซีนไปตามนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาการฉีดในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยพิจารณาทั้งจากจำนวนประชากร, สถานการณ์การระบาด, กลุ่มเป้าหมาย, พื้นที่นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เช่น จ.ภูเก็ต ที่จะเปิดเรื่องท่องเที่ยวเดือนกรกฎาคมนี้ จึงต้องฉีดให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน เป็นต้น, กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรังที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมที่ต้องพิจารณาฉีดให้เป็นกลุ่มแรกๆ
“การจัดส่งวัคซีนจากเดิมที่ส่งให้จังหวัดเป็นรายเดือนจะเปลี่ยนเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และมีการติดตามผลการฉีดว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ โดยขอให้รายงานจำนวนการฉีดและสต๊อกวัคซีนที่เหลือ หากฉีดได้ตามเป้าหมายจะจัดส่งวัคซีนไปเพิ่มเติม สำหรับการจัดสรรวัคซีนในกลุ่มประชากรของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมและ กทม. เมื่อรับวัคซีนแล้วจะไปดำเนินการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนเอง” นายแพทย์โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสให้สัมภาษณ์ กรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวมีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเพื่อนหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวคประมาณ 2 สัปดาห์ว่า กระทรวงสาธารณสุขขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับรายงานเบื้องต้นว่า ขณะนี้ศูนย์ประสานงาน AEFI ของโรงพยาบาลหาดใหญ่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ประวัติการรักษา เพื่อเสนอต่อคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์การไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
จังหวัดสงขลากำหนดประชุมร่วมกันในวันที่ 30 พ.ค.2564 เพื่อสรุปสาเหตุการเสียชีวิต ตามระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (Adverse Events Following Immunization : AEFI) ที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม จะต้องรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมตามแนวทางปฏิบัติการการเฝ้าระวัง AEFI กรณีที่มีผู้เสียชีวิต โดยประสานขออนุญาตครอบครัวทำการพิสูจน์ศพ หรือการตรวจศพ โดยการเอกซเรย์และเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต รวมทั้งติดตามผู้รับวัคซีนในล็อตเดียวกัน โดยเฉพาะหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยข้อสรุปจากคณะกรรมการ AEFI จังหวัด จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ AEFI ระดับประเทศ ที่ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจกับครอบครัว สังคมต่อไป
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า จากการสอบสวนโรคของทีมสอบสวนควบคุมโรคระบาดวิทยา รพ.หาดใหญ่ ผู้เสียชีวิตเป็นหญิง อายุ 32 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ หลังฉีดสังเกตอาการ 30 นาทีไม่มีอาการผิดปกติ ไลน์หมอพร้อมติดตามอาการวันที่ 1 มีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ วันที่ 7 หลังฉีด มีอาการปวดศีรษะ เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เช้าวันที่ 27 พ.ค. หมดสติ รถพยาบาลส่งห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ แพทย์ประเมินอาการแรกรับ มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ได้ช่วยฟื้นคืนชีพ และผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์วินิจฉัยมีภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดเฉียบพลัน
หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนได้
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ในการเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีน ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายแข็งแรง ไม่มีไข้ ไม่มีอาการป่วย ดื่มน้ำให้เพียงพอ และแจ้งประวัติการแพ้ยาหรือวัคซีน โรคประจำตัว ให้แพทย์ทราบ สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ ส่วนใหญ่เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปหลังการฉีดวัคซีน เช่น เจ็บ บวม มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ส่วนอาการแพ้วัคซีนรุนแรง จะเหมือนคนแพ้อาหารทะเล ไรฝุ่น โปรตีนในนมวัว มีอาการตั้งแต่แพ้ไม่มาก มีผื่น จนถึงความดันตกรุนแรงได้ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มักพบหลังการฉีด 15 นาที
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้พบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน กลุ่มหญิงตั้งครรภ์จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิด อาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ จึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยจากการสำรวจของกรมอนามัยตั้งแต่ 1 ธ.ค.2563 ถึง 27 พ.ค.2564 พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 288 ราย ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จะไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย แต่ก็พบหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตจากภาวะปอดอักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จำนวน 6 ราย ทารกเสียชีวิตในครรภ์ จำนวน 1 ราย อัตราคลอดก่อนกำหนด ร้อยละ 18 เด็กทารกคลอดออกมาแล้วติดเชื้อจำนวน 17 ราย
จากผลการประชุมคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2564 โดยมี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมนั้น ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เลขาธิการแพทยสภา ผู้แทนจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมติเห็นชอบให้หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมลูกสามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่ต้องพิจารณาจัดลำดับตามความเสี่ยงในรายที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หอบหืด ปอด ไทรอยด์ หรืออ้วน รวมถึงในรายที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง แนะนำให้ได้รับการฉีดวัคซีนหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมลูกจะต้องได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ ผลข้างเคียงของวัคซีน ความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 และความรุนแรงของโรคก่อนการตัดสินใจ โดยสามารถรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ทั้งภาครัฐและเอกชน
“หลังการฉีดวัคซีนหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมลูกยังคงต้องปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHTTA อย่างเคร่งครัด ด้วยการเว้นระยะห่างจากบุคคลใกล้ชิด สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือเป็นประจำ งดออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น งดใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับคนในบ้าน และประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” สำหรับสมาชิกในบ้านควรให้ความสำคัญในการช่วยปกป้องหญิงตั้งครรภ์จากการสัมผัสเชื้อ โดยให้คิดไว้เสมอว่าหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเปราะบางและมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว
"อนุทิน"ยันวัคซีนไม่ขาด
ที่ จ.ชลบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้เยี่ยมให้กำลังใจตัวแทน อสม.ในจังหวัดชลบุรีที่มุ่งมั่นเสียสละทำงานเพื่อประชาชน โดยฝากให้ อสม.เป็นกำลังสำคัญนำประชาชนในพื้นที่มาฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนมากเพื่อความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่
นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนที่ประเทศไทยใช้อยู่ มี 2 ยี่ห้อคือ ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งมีคุณสมบัติเท่ากัน คือป้องกันการป่วยที่รุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-?19 และไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ ยกเว้นข้อจำกัดด้านกายภาพ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ในการเลือกใช้ นอกจากนี้ ขอให้เน้นในกลุ่มที่มีความจำเป็น เช่น ต้องสัมผัสกับคนจำนวนมาก ให้ได้รับการฉีดโดยเร็วที่สุด
“ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาและทำการฉีดให้กับประชาชนตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป มีความพร้อมไม่ขาดตามที่เป็นข่าว วันนี้จึงได้มาตรวจความพร้อมในการจัดสถานที่ฉีดวัคซีนให้มีความสะดวกในการให้บริการ รวมถึงจัดกระบวนการให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้ฉีดได้ทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมจะเปิดรับภาคเอกชน เช่น ศูนย์แสดงสินค้า ห้างสรรพสินค้า สนับสนุนพื้นที่จัดตั้งเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนจะทำให้การฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายอนุทินกล่าว
ด้านนายสาธิตกล่าวว่า ขอให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติงานในการควบคุมโรคในพื้นที่ ดูแลผู้ติดเชื้อ ทั้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม จากนี้ให้ทุกคนทำงานอย่างเต็มความสามารถในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ให้เกิดความครอบคลุมมากที่สุดและเร็วที่สุด
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ภาพรวมที่ผ่านมา เขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งมี 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ตราด สระแก้ว และปราจีนบุรี ได้รับการจัดสรรวัคซีนไปแล้ว รวม 318,960 โดส ฉีดให้กับประชาชนไปแล้ว 318,572 โดส นอกจากนี้ยังมีการฉีดวัคซีนในพื้นที่พิเศษท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้ฉีดให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในท่าอากาศยาน จำนวน 38,061 คน ภาพรวมมีการบริหารจัดการที่ดี ดำเนินการได้รวดเร็วตามเป้าหมายที่วางไว้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |