ประยุทธ์ มีแบ็กอัพ


เพิ่มเพื่อน    

 รัฐไทย-ผู้มีอำนาจ-ชนชั้นนำ ต้องปรับตัวให้เข้ากับศตวรรษที่ 21

จากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทยที่รัฐบาลยังมีปัญหาการรับมือการแพร่ระบาด แล้วยิ่งมาเกิดปัญหาการบริหารจัดการเรื่องการฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่ล่าช้าและสร้างความสับสนให้ประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลให้กระแสหรือคะแนนนิยมของรัฐบาล  โดยเฉพาะในตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตกลงไปอย่างเห็นได้ชัด จริงอยู่แม้กระแสเคลื่อนไหวจากกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ที่เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออกอาจยังไม่มีเสียงขานรับมากนัก เพราะหลายคนเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่เหมาะสม แต่หลายคนก็ประเมินว่าจบโควิดเมื่อใด สถานการณ์ของพลเอกประยุทธ์อาจลำบากไม่น้อยในการประคองรัฐนาวาให้อยู่ครบเทอม

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่มีจุดยืน-แนวคิดทางการเมืองชัดเจน จนถูกเรียกว่าเป็นนักวิชาการสายประชาธิปไตย ที่วิพากษ์วิจารณ์หลายเรื่องแบบตรงไปตรงมา แม้คนที่ถูกวิจารณ์จะเป็นคนในปีกความคิดทางการเมืองเดียวกันก็ตาม จนเรียกเสียงฮือฮาให้แวดวงการเมืองมาตลอด โดย ดร.พิชิต ที่ระยะหลังร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมในนาม เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ให้มุมมองต่อสถานการณ์การเมืองเวลานี้ และแน่นอนรวมถึงความเห็นต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบคณะราษฎร 63 ที่เขามองว่าหลังจบโควิดเมื่อไหร่ สถานการณ์การชุมนุมการประท้วงต่างๆ คงกลับมาอีก

  เมื่อถามถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง เช่น  กลุ่มไทยไม่ทน, กลุ่มประชาชนคนไทย ที่เรียกร้องขับไล่พลเอกประยุทธ์และเสนอสูตรตั้งรัฐบาลสร้างชาติ โดยให้มีนายกฯ คนนอก มองเรื่องนี้อย่างไร ดร.พิชิต อ่านสถานการณ์ไว้ว่า หากมองการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ  เช่นกลุ่มของนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือประชาชนคนไทย ก็คือเสนอสูตรให้เอาคนนอกมาเป็นนายกฯ โดยใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับกลุ่มอดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสื้อเหลือง ที่ให้เอาทักษิณ ชินวัตรออก แล้วเอานายกฯ คนนอก แต่ถามว่านายกฯ คนนอกจะเข้ามาได้จริงหรือไม่ เพราะคนที่จะตัดสินว่าจะให้นายกฯ เป็นใคร มาจากไหน มันไม่ใช่คนพวกนี้ คนกลุ่มนี้ทำได้แค่เสนอ

“เพราะคนจะมาเป็นนายกฯ ได้จริงต้องมีทหารคอยแบ็กให้ สอง-ต้องจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  สาม-ต้องคุมสภาได้ ซึ่งทั้งสามข้อนี้ ณ วันนี้ คนที่มีคุณสมบัติครบก็มีแต่พลเอกประยุทธ์ คุณจะเอาใครมาอีก ที่มีการเสนอชื่อนายกฯ คนนอกกันมาสามสี่ชื่อ ถามว่ามีคุณสมบัติเหล่านี้หรือไม่ ทั้งเรื่องหนึ่ง-ทหารยอมรับ สอง-จงรักภักดี สาม-คุมสภาได้ คุมนักการเมือง คุมพรรคการเมืองได้ ถามว่ามีใครไหม ผมก็ยังเชื่อว่าประยุทธ์ก็คงอยู่ต่อไป เลือกตั้งอีกครั้งรอบหน้าประยุทธ์ก็มาอีก ถ้าสภาพการณ์ทางการเมืองยังคงเป็นอยู่แบบนี้ ก็ต้องประยุทธ์อีก”

-มองว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวต่างๆ ตอนนี้ สุดท้าย คงไม่สามารถทำให้เกิดผลในทางการเมืองได้?

            ก็คงประมาณนั้น เพราะเป็นข้อเรียกร้องที่พวกเขาไม่ได้ยืนอยู่บนความเป็นจริงของโครงสร้างทางอำนาจ ว่าคนที่จะมาอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ไม่ใช่คุณจะมาไล่ใครเอาได้ง่ายๆ แล้วจะมาเรียกร้องเปลี่ยนเอาคนโน้นเอาคนนี้ ผมว่ามันไม่ใช่

ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มไทยไม่ทน หรือกลุ่มประชาชนคนไทย ที่ออกมาเรียกร้องมาไล่ประยุทธ์ สิ่งที่เขาต้องตอบให้ได้ก่อน ซึ่งผมก็คิดว่าพวกเขาก็คงพอรู้ แต่คงอาจไม่ตอบก็คือ การที่พลเอกประยุทธ์อยู่มาได้ร่วมเจ็ดปี ตั้งแต่หลังรัฐประหารจนอยู่ต่อมาถึงทุกวันนี้ ประยุทธ์ไม่ได้อยู่คนเดียวโดดๆ คือข้างหน้ามีประยุทธ์ยืนอยู่คนหนึ่ง  แต่จริงๆ แล้วข้างหลังของประยุทธ์มีอะไรอีกตั้งเยอะแยะ  ประยุทธ์จะอยู่หรือไปมันขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ ข้างหลังเต็มไปหมดที่แบ็กอัพเขาอยู่ ซึ่งข้างหลังก็คือเรื่องของเครือข่ายทางการเมืองและผลประโยชน์เต็มไปหมดอยู่ในนั้น ดังนั้น ถ้าคุณจะเอาประยุทธ์ออก แล้วคนที่อยู่ข้างหลังประยุทธ์เขาจะเอาด้วยกับคุณหรือเปล่า เพราะถ้าตราบใดที่ประยุทธ์ยังมีประโยชน์ เขาก็ยังคงเอาประยุทธ์ไว้อยู่

“คนที่ออกมาเคลื่อนไหวจึงต้องตอบให้ได้ก่อนว่า ประยุทธ์อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะอะไร เพราะมันไม่ใช่ตัวประยุทธ์คนเดียว แต่ยังมีข้างหลังที่คอยแพ็กกันเต็มไปหมดอยู่ข้างหลังประยุทธ์ ที่ไม่ใช่แค่ 3 ป. เพราะก็ยังมีทหาร ชนชั้นนำทั้งหลายรวมกันเข้ามา”

...หากเหตุการณ์ต่างๆ เป็นแบบทุกวันนี้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังเดินต่อไปอยู่แบบนี้ หลังเลือกตั้งก็แน่นอนว่านายกฯ ก็ยังเป็นประยุทธ์ ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ประยุทธ์ก็กลับมา เพราะเพื่อไทยต่อให้ได้ ส.ส.เสียงมากยังไง ก็คงตั้งนายกฯ ไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตราบใดที่ฝ่ายประยุทธ์ยังมีเสียง ส.ว. 250 คน ส่วนที่มีการประเมินวิเคราะห์ทางการเมืองกันว่า นายกฯ อาจชิงยุบสภาปลายปีนี้ ก็ต้องถามก่อนว่าจะยุบสภาไปทำไม ถามว่าเขาจำเป็นต้องอิงกระแสอะไรหรือ เพราะเขาก็มี ส.ว. 250 คนอยู่ในมือ ต้องการ ส.ส.แค่อีกไม่เท่าไหร่ บวกเข้าไปก็กลับมาเป็นนายกฯ ได้อีก ที่บอกอาจมีการยุบสภา เลยต้องถามว่า ประยุทธ์มีเหตุผลอะไรต้องยุบสภา

-มองการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบคณะราษฎร 63  หลังจากนี้อย่างไร เมื่อแกนนำเกือบทั้งหมดต่างได้รับการประกันตัวแล้ว แต่ก็มีเงื่อนไขของศาลในการปล่อยตัวที่อาจทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่เหมือนเดิม?

             คงพักตัวไปสักระยะ อีกทั้งด้วยสภาพภายนอกที่โควิดยังระบาดไม่หยุด โดยรัฐบาลยังคุมการระบาดไม่ได้  หากจะมีการเคลื่อนไหวอะไรก็คงทำในลักษณะการเคลื่อนไหวแบบเล็กๆ เชิงสัญลักษณ์ แต่การชุมนุมขนาดใหญ่ทำได้ยาก เพราะหากจะนัดชุมนุมคนก็คงไม่มา เพราะคนก็กลัวติดโควิด อีกทั้งปัจจุบันก็ยังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินที่อ้างเหตุเรื่องโควิด รวมถึงแกนนำบางคนที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาตอนนี้ก็มีปัญหาสุขภาพ เช่นติดเชื้อโควิด เลยต้องรักษาตัวอีกสักระยะ

ทำให้โดยสภาพช่วงนี้การเคลื่อนไหวก็ต้องพักตัวไปโดยสภาพบังคับ แต่ผมคิดว่าไม่ว่าแกนนำคณะราษฎรจะเคลื่อนไหวต่อจากนี้หรือไม่ โดยบางส่วนอาจจะ  dropout หรือบางส่วนอาจจะเคลื่อนไหวต่อ หรือจะหยุดการเคลื่อนไหวกันหมด ก็แล้วแต่ แต่ผมก็คิดว่าการเคลื่อนไหวลักษณะอย่างที่กลุ่มคณะราษฎรเคยเคลื่อนไหวมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเดิมหรือคนกลุ่มใหม่ มันก็จะเกิดขึ้นอีก เพราะว่าปัญหามันเป็นปัญหาลึกในระดับของโครงสร้าง หากปัญหามันยังไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายมันก็จะต้องกลับมาเคลื่อนไหวกันอีก

มันก็เหมือนกับคนป่วยเป็นโรคอยู่ในร่างกายที่มีอาการหนักมาก แล้วร่างกายก็มีอาการออกมา เช่นปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ก็กินยาแก้ไขไปเรื่อย อาการก็อาจหายไป  ก็อาจรู้สึกดีขึ้นบ้างในช่วงหนึ่ง แต่โรคที่ป่วยอยู่ข้างในมันยังอยู่ สุดท้ายอาการป่วยก็ต้องกลับมาอีก กรณีแบบนี้ก็เหมือนกัน หากปัญหาพื้นฐานที่เป็นอยู่ยังไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายก็จะกลับมาอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมาตรา  112 ประเด็นเรื่องปัญหาสถาบัน เรื่องรัฐธรรมนูญ การเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง ทุกอย่างมันโยงกันหมด ซึ่งปัญหาเหล่านี้ตราบใดที่มันยังอยู่ เรื่องการประท้วง การออกมาเคลื่อนไหวต่างๆ สุดท้ายมันก็จะกลับมาอีกไม่ช้าก็เร็ว โดยคนกลุ่มเดิมหรือจะเป็นกลุ่มใหม่ก็แล้วแต่ เพราะปัญหาที่มีอยู่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

            ผมเชื่อว่าจบโควิดแล้ว ไม่ช้าก็เร็วการประท้วงอะไรต่างๆ ก็จะกลับมาอีก ส่วนการดำเนินคดี 112 ก็อาจมีเพิ่มขึ้นมาอีก อาจมีคนใหม่ๆ หรืออาจจะเป็นคนหน้าเก่าแต่โดนคดีเพิ่มขึ้น จนสุดท้ายหากไม่มีการแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า ที่เป็นต้นตอของปัญหา มันก็จะมีแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันจะไม่ไปไหน ส่วนในโซเชียลมีเดียก็จะว่าไปอย่างที่เราเห็น

            ผมว่ารัฐไทย ผู้มีอำนาจต้องปรับตัวให้เข้ากับศตวรรษที่ 21 อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเรื่องแนวคิด วิธีคิด ระบบการเมือง ระบบเลือกตั้ง นโยบาย แนวทาง ต้องมีการเปลี่ยนแบบมโหฬารให้ทันกับศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนรุ่นใหม่และรุ่นที่จะเติบโตตามขึ้นมาอีก  เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ารัฐไทยยังล้าหลังมาก ทั้งวิธีคิด แนวคิด ระบบการทำงานเชิงโครงสร้าง เชิงอำนาจ มันยังติดอยู่กับรูปแบบเมื่อ 40-50 ปีที่แล้วอยู่เลย ยังไม่มีการปรับตัวเลย อันนี้คือปัญหาใหญ่ หากคุณไม่ปรับให้ทันสมัยให้เข้ากับศตวรรษที่ 21 ให้เป็นแบบประเทศประชาธิปไตยที่เขาเจริญแล้ว มันก็ยากที่จะได้รับการยอมรับจากคนรุ่นใหม่ ส่วนที่เขายังไม่ปรับก็เพราะเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ เพราะปรับแล้วก็ต้องเปิดกว้างมากขึ้น ให้คนเข้ามาแชร์อำนาจมากขึ้น ให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น แล้วเขาจะรับได้หรือไม่ อย่างการให้มี ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือให้มีสภาเดี่ยว มีแต่สภาไปเลย แล้วผู้มีอำนาจ ชนชั้นนำเขาจะรับได้หรือไม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงใดๆ ดูแล้วในช่วงสั้นๆ ต่อจากนี้คงไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง คือการเปลี่ยนแปลงเชิงการเมืองอาจได้เห็นบ้าง แต่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบมันต้องใช้เวลานาน อาจต้อง 5-10  ปี

-หากสุดท้ายบางฝ่ายไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง มีการหวงอำนาจ ไม่ยอมให้ปรับเปลี่ยนอะไร  จะเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย?

            ก็อาจต้องอยู่กันอย่างนี้ ก็จับคนที่ออกมาประท้วงเข้าคุกไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็อาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ แบบเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภา 35 อันนี้เราไม่รู้อนาคต ก็อย่างใดอย่างหนึ่ง 

-การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 จนถึงขณะนี้คิดว่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่?

            มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางกฎหมาย เครื่องมือทางการเมือง มันไม่ได้อยู่ลอยๆ ด้วยตัวของมันเอง เมื่อเป็นเครื่องมือมันก็ต้องมีคนใช้ มันจึงอยู่ที่คนซึ่งเป็นเจ้าของและคนที่เป็นคนใช้ว่า จะหยิบอาวุธชิ้นนี้มาใช้เมื่อไหร่ จะไม่ใช้เมื่อไหร่ หรือจะเลิกใช้อาวุธนี้ไปเลย ซึ่งก็ต้องดูว่าคนที่จะใช้เขาคือใคร และเขาคิดอย่างไรกับมาตรา 112 เช่นเขาคิดไหมว่ามาตรา 112 จำเป็นสำหรับเขา หรือเขาคิดจะยกเลิกไปเลยหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือว่าจะใช้มันไปเรื่อยๆ  ในลักษณะอย่างปัจจุบัน ทำให้ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่มาตรา 112 เท่านั้น แต่อยู่ที่คนใช้ด้วย มาตรา 112 จึงเป็นเครื่องมือ มันก็เหมือนค้อน จะไปโทษค้อนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องโทษคนที่หยิบค้อนด้วย ก็ต้องถามคนที่หยิบค้อนว่าคุณจะเลิกมันหรือไม่ หรือจะโยนมันทิ้งหรือไม่ หากคนที่หยิบค้อนบอกว่าจะใช้ต่อไปเรื่อยๆ เคยใช้อย่างไรก็จะใช้ต่อไปอย่างนั้น ถ้าแบบนี้ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ค้อนแล้ว แต่อยู่ที่คนใช้

            การใช้มาตรา 112 ในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าเกิดขึ้นหลังเกิดการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา หลังมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีกลุ่มนักเรียนนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวกันตลอด ที่ช่วงแรกการเคลื่อนไหวก็เป็นเรื่องของการทำงานของรัฐบาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง จนกระทั่งมาถึงช่วงสิงหาคมปีที่แล้วการเคลื่อนไหวต่างๆ จุดโฟกัสก็ลามขึ้นไปถึงสถาบันฯ มีการวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องสถาบันฯ ในแง่มุมต่างๆ เลยมีการนำมาตรา 112  กลับมาใช้เพื่อระงับการโฟกัส การอ้างอิงไปถึงสถาบัน เพื่อระงับและห้ามการอภิปราย การพูดจาและการตั้งคำถามที่เกี่ยวกับสถาบันฯ

 การใช้มาตรา 112 มาดำเนินการจนถึงปัจจุบัน ที่ทำให้เกิดคดีไม่รู้กี่สิบคดีแล้ว จึงเป็นการตอบโต้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หลังมีการเคลื่อนไหวที่ค่อยๆ ยกระดับขึ้น จากการยุบพรรคการเมือง ไล่มาเรื่อยจนถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันฯ จนมาถึงจุดที่ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถยอมได้  เพราะหากจะตั้งคำถามหรือด่าพลเอกประยุทธ์ หรือตั้งคำถามเรื่องรัฐธรรมนูญก็ทำไป แต่เมื่อมายกระดับมาอภิปรายและตั้งคำถามไปถึงระดับสถาบันฯ เขาก็ยอมไม่ได้ ก็เลยใช้ 112 เป็นลักษณะ response เพื่อตอบโต้ แต่คำถามที่ควรต้องถามก็คือ การใช้วิธีการแบบนี้เพื่อกดไว้ไม่ให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันฯ โดยใช้ 112  ผลจะเป็นอย่างไร ผลทางบวกหรือทางลบ โดยเฉพาะผลเฉพาะหน้าและผลระยะยาว ตรงนี้ผมยังคิดว่าหลายคนยังมองไม่เหมือนกัน

            ผมมองว่าการใช้มาตรา 112 อย่างเข้มข้น มันคงอาจได้ผลในช่วงระยะเฉพาะหน้า คือคนที่ถูกกาหัวหรือถูกตั้งเป้าไว้ก็ถูกตั้งข้อหากันไป ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียนอะไรต่างๆ ที่อาจเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย แต่ก็มีการดำเนินคดีกันหลายสิบคดี แล้วก็ยังจะมีอีกเรื่อยๆ มันก็อาจได้ผลเฉพาะช่วงข้างหน้าคือ ลดหรือกดกระแสการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันได้ คนโดนดำเนินคดีก็ต้องไปวิ่งขึ้นโรงพัก-ศาล ส่วนรายใหม่ก็อาจเริ่มไม่กล้าหรืออาจจะเงียบไป เฉพาะหน้ามันก็อาจได้ผล แต่อย่างที่ผมบอกไว้ ปัญหาพื้นฐานของระบบการเมืองในปัจจุบันที่มันไม่เป็นประชาธิปไตยมันยังอยู่ การใช้มาตรา 112 ในปัจจุบันมันอาจได้ผล แต่ในระยะยาวปัญหามันยังคงอยู่ เมื่อปัญหายังอยู่ สุดท้ายสิ่งที่เรียกว่าความขัดแย้งมันก็จะกลับมาอีก การตั้งคำถาม การเคลื่อนไหว การประท้วงก็จะกลับมาอีก เพราะการใช้วิธีการแบบที่ทำอยู่ตอนนี้มันไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาจากสิ่งที่เป็นตัวปัญหาจริงๆ 

-ช่องว่างความคิดของกลุ่มคนรุ่นเดิม ที่บางคนเรียกอนุรักษนิยม กับคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา  หากยังมีความเห็นแตกต่างกันไปเรื่อยๆ สุดท้าย สังคมวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?

            ถ้าหากความขัดแย้งนี้แก้ไม่ตกไปในทางใดทางหนึ่ง  เราก็จะติดอยู่ในสภาพแบบนี้ ก็จะมีการประท้วง มีการจับกุม แล้วก็มีประท้วง แล้วก็มีการจับกุมกันไปแบบนี้ มันก็จะไม่สงบ แล้วประเทศก็จะไม่ไปไหน ตัวรัฐบาลก็จะอยู่ในสภาพแบบที่เราเห็นตอนนี้ มันก้าวไปไม่ได้เพราะปัญหามันยังแก้ไม่จบ มันก็คาอยู่กันไปแบบนี้ การเมืองไทย  ประเทศไทย มันก็เหมือนกับสภาพติดกับ  จะไปก็ไปต่อไม่ได้ จะย้อนยุคก็มีปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาที่มันแก้ไม่ตก

พท.กับความเป็นพรรคเถ้าแก่?

            สำหรับ ดร.พิชิต ก่อนหน้านี้เขาเคยออกมาวิจารณ์พรรคเพื่อไทยเมื่อพฤษภาคมปี 2563 หรือเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว  ทำนองว่าเพื่อไทยยังคงเป็นพรรคที่บริหารแบบ พรรคเถ้าแก่ ที่ใช้เครือข่าย ส.ส.เป็นโครงสร้างหลัก และทำการเมืองแบบแลกเปลี่ยนเพื่อผลประโยชน์ของตัวเถ้าแก่

            เมื่อคุยกันเรื่องพรรคการเมือง เลยถามว่ายังมองพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเถ้าแก่แบบเดิมหรือไม่ เพราะช่วงหลังเพื่อไทยก็พยายามปรับโครงสร้างพรรคและการบริหารงานภายในพรรคให้ทันสมัยมากขึ้น ประเด็นนี้ ดร.พิชิต มีความเห็นว่า สำหรับ พรรคเพื่อไทย ยุทธศาสตร์ชัดเจนอยู่แล้วคือ พยายามให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้กลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบแยกกันคือ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ซึ่งหากแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จะทำให้เพื่อไทยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อกลับคืนมา แล้วบวกกับหากเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตหลังเลือกตั้งสัก 200 คน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อีกหากทำได้สัก 50-60  ที่นั่ง ก็จะได้ ส.ส.สองร้อยกว่าคน ก็เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสภา จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

...ส่วนยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างภายในพรรคเพื่อไทย ช่วงหลังจะเห็นได้ว่าพยายามดึงคนรุ่นใหม่ผลักดันขึ้นมา พวกลูกหลานนักการเมือง-ส.ส.และนักธุรกิจรุ่นใหม่  เพื่อหวังให้พรรคเพื่อไทยมีภาพของความเป็นพรรคการเมืองรุ่นใหม่มากขึ้น มีความทันสมัยมากขึ้น มีการทำงานที่เป็นระบบแบบสมัยใหม่มากขึ้น เพื่อให้ดูภายนอกมีความเป็น เถ้าแก่ น้อยลง ขณะที่ตัวบุคคลที่เป็นแกนนำของพรรค มองดูแล้วถึงตอนเลือกตั้งจริงๆ ก็คงมีการปรับเปลี่ยนตัว โดยคนที่เขาจะชูขึ้นมาคงไม่ใช่สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเวลานี้ เพียงแต่ที่เอามาเป็นหัวหน้าพรรคก็เพราะเป็นผู้อาวุโสของเพื่อไทย ทำให้คนก็ต้องฟัง และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับทางโน้นเยอะ (ทางไกล) คือเขาต่อสายได้ พวก ส.ส.ก็ต้องฟัง ก็คือเป็นแบบขัดตาทัพ แต่ไม่ใช่คนที่จะถูกชูเป็นนายกฯ หรือเบอร์หนึ่งของเพื่อไทยแน่ๆ เขาก็คงมีการเตรียมคนเอาไว้

            นอกจากนี้พบว่า เพื่อไทยมีการเคลื่อนไหวเชิงความคิดเพื่อตระเตรียมฐานเสียง ที่ปรากฏออกมาในรูปของ กลุ่มแคร์ ที่พยายามดึงเอา ทักษิณ ชินวัตร กลับมาในชื่อของ "โทนี่" ในคลับเฮาส์ เอาทักษิณมาร่วมจัดรายการเพื่อพูดคุยเรื่องต่างๆ ให้ทักษิณพยายามโชว์สมองเพชรของเขาในเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างแฟนคลับในกลุ่มคนรุ่นใหม่  เพราะในคลับเฮาส์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ คือคนรุ่นใหม่ที่ปกติจะไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจว่า ทักษิณคืออะไร เป็นอะไร โดยกลุ่มแคร์ก็พยายามสร้างเวทีคลับเฮาส์เพื่อให้ทักษิณกลับมา  เพื่อมาขายฝันขายวิสัยทัศน์กับคนรุ่นใหม่ โดยที่ทักษิณก็สัมพันธ์กับเพื่อไทย ดังนั้นถ้าอยากได้สมองเพชรแบบนี้ก็ต้องเลือกเพื่อไทย

...สิ่งเหล่านี้คือ strategy ในการสร้างฐานเสียงกับคนรุ่นใหม่ ที่เพื่อไทยมองว่าส่วนหนึ่งที่ผ่านมาถูกอนาคตใหม่-ก้าวไกลยึดไป โดยเขามองว่าคนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักพรรคเพื่อไทยเลย แทบไม่รู้จักทักษิณเลย ฐานเสียงเก่าก็ค่อยๆ แก่ลง น้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะทุกปีคนที่อายุครบ 18 ปีที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ปีหนึ่งๆ ก็หลายแสนคนต่อปี   ที่เป็นคะแนนเสียงใหม่ที่เกิดขึ้นทุกปี เขาก็ต้องเข้ามาเก็บเกี่ยวตรงนี้ ทั้งหมดคือสิ่งที่เพื่อไทยพยายามทำ ทั้งงานในสภาและนอกสภา ที่นอกสภาจะมีกลุ่มแคร์มาช่วยทำ สร้างฐานเสียงต่างๆ มีการจัด workshop เอาคนรุ่นใหม่ ตามโรงแรมต่างๆ เอาคนมานั่งกินข่าว มาฟังเสวนา พยายามสร้างเครือข่ายของตัวเองในกลุ่มนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว

ทั้งหมดคือการรุกของทักษิณและเพื่อไทย ในปริมณฑลฐานเสียงของคนรุ่นใหม่ที่เพื่อไทยพยายามทำ  เพราะก่อนหน้านี้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ไอดอลก็คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คนรุ่นใหม่ นักธุรกิจ ทางคลับเฮาส์ของกลุ่มแคร์เลยพยายามจะเข้ามาแบ่งตรงนี้ ซึ่ง strategy ของเพื่อไทย-กลุ่มแคร์ ก็คือ เลือกตั้งรอบหน้าต้องทำให้เพื่อไทยได้คะแนนเสียงมากที่สุด โดยทางรัฐสภาก็พยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง และการพยายามขยายฐานเสียงของเพื่อไทยออกไป โดยนำทักษิณมาขายฝัน ขายวิสัยทัศน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คะแนนเสียงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกปี

พรรคเพื่อไทยก็ทำสองอย่างนี้เพื่อให้พรรคชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส. 200 กว่าเสียง เพื่อให้ไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่ก็คือ strategy เดียวกันกับการเลือกตั้งเมื่อปี  2554 ที่ก่อนเลือกตั้งปี 2554 ตอนนั้นเป็นช่วงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ส.ส. โดยเพื่อไทยเวลานั้นก็เห็นด้วยเพราะคิดว่าแก้แล้วพรรคก็ได้ประโยชน์ จนทำให้เพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2554  ดังนั้น strategy ของเพื่อไทยตอนนี้ก็เหมือนตอนปี 2554 ที่เพื่อไทยทำสำเร็จจนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกฯ เพียงแต่โจทย์รอบนี้มี "คนรุ่นใหม่" และ "พรรคก้าวไกล" เพิ่มเข้ามา เป็นปัจจัยแปรตัวหนึ่ง

                "แนวทางของเพื่อไทยก็คือ แก้ไข ไม่แก้แค้น และไม่ปฏิรูปโครงสร้าง ที่ก็เป็นแนวทางแบบเดิมๆ ซึ่งวิธีการทำงานของเพื่อไทย ใครก็พอรู้ หากว่าไม่ปิดใจกันจนเกินไป เพราะเพื่อไทยต่อให้ประชุมกันในพรรคอย่างไรก็แล้วแต่ ทว่าสุดท้ายคนที่จะฟันธงออกมาก็มีไม่กี่คน อย่างมากก็คือ 2-4 คน ที่จะฟันธงออกมาว่าให้พรรคทำแบบนี้ ก็อย่างที่คนในพรรคเพื่อไทยที่แยกตัวออกมา เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือโภคิน  พลกุล ที่บอกว่าคุยกันในพรรคแทบเป็นแทบตาย  เรื่องนี้ตกลงกันในที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว แต่พอออกจากที่ประชุมไป ผลออกมากลับเป็นอีกอย่างเลย  เพราะมีบางอย่างสั่งลงมาว่าต้องเอาแบบนี้ ทุกอย่างจบ ที่คุณถามผมว่าเพื่อไทยยังเป็นพรรคเถ้าแก่อยู่หรือไม่ คุณก็ตอบเองได้ ไม่ต้องให้ผมตอบ" ดร.พิชิต กล่าวสรุป.

                                    โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

....................................................................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"