เมื่ออาวุธปืนหลวงเปลี่ยนไปอยู่ในมือโจร 'ขยะใต้พรม'กองใหญ่ที่'แม่ทัพ'ต้องสะสาง


เพิ่มเพื่อน    

 

          อาวุธปืนสงคราม อาก้า 102 ของกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดน ที่ 2 อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส หายไปจากคลังแสง 28 กระบอก อาจจะเป็น "ข่าวใหญ่" หรือ "ตื่นตระหนก" สำหรับความรู้สึกของคนภูมิภาคอื่นในประเทศนี้ แต่สำหรับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ถือเป็นเรื่องที่เฉยๆ ไม่ได้สำคัญหรือเป็นสิ่งที่น่าตื่นตระหนก

            แต่กลับเป็นความรู้สึกที่ ทุเรศ ผิดหวัง และมองไม่เห็น อนาคตของการดับ "ไฟใต้" ที่ฝากไว้กับหน่วยงานความมั่นคงทั้งหลายแหล่ในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพราะเรื่องปืนหายไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิด "ซ้ำซาก" ตั้งแต่ก่อนปี 2547 ด้วยซ้ำ โดยเป็นข่าวให้รับรู้บ้าง ไม่เป็นข่าวบ้าง แต่ที่ไม่เป็นข่าวเลยคือ จับผู้ร้ายหรือคนทำผิดไม่ได้  และที่สำคัญเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และต้องรับผิดชอบต่อการหายไปของอาวุธปืนที่เป็นอาวุธสงครามไม่ใช่ "มีดอีโต้"  ไม่เคยได้รับการลงโทษ ก็ไหนบอกว่าของหลวงตกน้ำไม่ไหล  ตกไฟไม่ไหม้ แต่นี่ทุกเรื่อง ทุกคดีของปืนหาย ไหลไปตามน้ำหมดสิ้น

        ยิ่งฟังจากการแถลงข่าวแล้วยิ่ง ว้าเหว่ โดยเฉพาะที่บอกว่าปืนทั้ง 28 กระบอกไม่ได้หายไปในวันเดียวกัน แต่ค่อยๆ หายไป ถามว่าการที่หายไปครั้งเดียวหมดคลังแสงกับค่อยๆ หายไปต่างกันตรงไหน เพราะมันเป็นปืนสงครามเหมือนกัน เป็นปืนราชการเหมือนกัน จะหายไปทีเดียวหรือค่อยๆ หาย มันก็คือ หาย หรือ สูญ ที่มีความเสียหายเท่ากัน หรือการค่อยๆ หายกับการหายไปทีเดียวมันต่างกันอย่างไร

            ถ้าดูตามเอกสารราชการที่จังหวัดนราธิวาสส่งถึงกระทรวงมหาดไทย จะเห็นว่าปืนสงครามยี่ห้อนี้ จ.นราธิวาสได้รับจากกระทรวงมหาดไทยมาจำนวน 779 กระบอก ในส่วนของกองร้อยอาสารักษาดินแดน 2 อ.เมืองนราธิวาส ที่หายไป 28 กระบอกนั้น มีการตรวจพบในวันที่ 4 ก.ย.55 ว่าหายไป 1 กระบอก วันที่ 3 ก.พ.57 ตรวจพบว่าหายไปอีก 3  กระบอก 13 ธ.ค.56 หายไป 1 กระบอก และเจ้าหน้าที่ สภ.สะบ้าย้อยยึดคืนมาได้เมื่อวันที่ 16 ม.ค.57 ซึ่งตรวจสอบแล้วเป็นปืนสงครามของกองร้อย อส.เมืองนราธิวาส ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ม.ค.57 เจ้าหน้าที่ สภ.สิงหนคร จ.สงขลา ตรวจยึดได้ปืนอาก้า 1 กระบอก ตรวจสอบแล้วเป็นอาวุธปืนของ กองร้อย อส.เมืองนราธิวาส ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ก.พ.64 สภ.ระแงะ จ.นราธิวาส ตรวจยึดได้จากประชาชนในพื้นที่ 1  กระบอก พิสูจน์แล้วเป็นอาวุธปืนของกองร้อย อส.เมือง นราธิวาส ต่อมาวันที่ 11 เม.ย.64 สภ.เมืองนราธิวาสตรวจยึดปืนอาก้าได้อีก 1 กระบอก และพิสูจน์แล้วเป็นของกองร้อย อส.เมืองนราธิวาสอีกแล้ว และสุดท้ายเมื่อวันที่ 11  พ.ค.64 ทหาร ฉก.นาวิกโยธิน ค่ายจุฬาภรณ์ ยึดได้ปืนอาก้าของกองร้อย อส.เมืองนราธิวาส จาก แนวร่วม ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในปฏิบัติการปิดล้อมจับกุม พิสูจน์แล้วเป็นปืนของกองร้อย อส.เมืองนราธิวาสอีกเช่นกัน ดังนั้น ในการตรวจสอบอาวุธปืนของกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดน อ.เมืองนราธิวาส จึงพบว่าปืนหายไป 19 กระบอก ส่วนที่เหลือคือการค่อยๆ หาย และได้กลับมาจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยึดคืนมาได้

        นี่แสดงให้เห็นถึงความ หละหลวม ความไม่เอาใจใส่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ที่มีหน้าที่กำกับดูแล ควบคุมการใช้อาวุธปืน ซึ่งสำหรับฝ่ายปกครองจะมีกองร้อย อส.จ.ที่เป็นระดับจังหวัด และกองร้อย อส.อ.ที่เป็นระดับอำเภอ ที่มีปลัดป้องกัน ปลัดฝ่ายความมั่นคง ทำการควบคุมกำลังของ อส. และตรวจสอบอาวุธตามวงรอบ เพื่อที่จะได้รู้ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ยังอยู่ครบถ้วนหรือไม่ เช่นเดียวกับตำรวจและ ทหาร ที่ต้องมีการตรวจสอบอาวุธของราชการตามวงรอบของระเบียบปฏิบัติ

        ซึ่งแสดงว่า กองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดน อำเภอเมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส ที่มีนายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ไม่ได้ใส่ใจ กับการควบคุมอาวุธสงคราม เพราะปล่อยให้มีการ ล่องหน ไปเป็นระยะๆ และครั้งหลังสุดที่ ล่องหน ไป 19 กระบอก ก็ตอบไม่ได้ว่ามันหายไปเมื่อไหร่

            ที่สำคัญเมื่อฟังจาก พล.ต.ต.นรินทร์ บูสะมัญ ผบก.ภ.จว.นราธิวาส ยังทราบว่านอกจากปืนของกองร้อย อส.เมือง นราธิวาสที่หายไปแล้ว ยังมีของกองร้อย อส.อ.รือเสาะ, ศรีสาคร, สุไหงปาดี ฯลฯ รวมแล้ว 5 อำเภอ จำนวน 37  กระบอก ซึ่งยิ่งเป็นการ ตอกย้ำ ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปืนสงครามที่กรมการปกครองได้มอบให้หน่วยงานฝ่ายปกครอง เพื่อใช้รักษาความสงบในการคุ้มครองความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้น ไม่มีความปลอดภัย ไม่มีการรับผิดชอบ โดยมีการปล่อยให้สูญหาย และไม่มีการแก้ไข

            จากการตรวจสอบเส้นทางของปืนสงครามฝ่ายปกครองที่หายไป จะพบว่านอกจากตกอยู่ในมือของ แนวร่วม ขบวนการแบ่งแยกดินแดนแล้ว ยังมีการนำไปขายให้บุคคลทั่วไป  สังเกตจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดได้จากสถานที่ต่างๆ เช่น อ.สิงหนคร, อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เป็นการขายให้ผู้ต้องการอาวุธสงครามเพื่อนำไปใช้งาน

            นี่คือ ขยะใต้พรม กองใหญ่อีก 1 กองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบว่ายังมี ขยะใต้พรม ที่ถูก ซุกซ่อน ไว้อีกเท่าไหร่  เพราะเชื่อว่าปืนที่หายไป ที่อยู่ในความครอบครองของฝ่ายปกครองและอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ อส.หรือ อาสาสมัครรักษาดินแดน ที่หายไป ไม่ได้มีเฉพาะที่ จ.นราธิวาส แต่ในจังหวัดอื่นๆ ก็มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น และถูก ปกปิด เอาไว้ เหมือนกับการ ซุกขยะไว้ใต้พรม เพื่อรอให้มีการเปิดโปงขึ้นมาและพบเห็นความ เหม็นหึ่ง ให้สังคมได้รับรู้

            เอาเถอะ...ถ้าปืนสงครามเหล่านี้ถูกขายให้แก่บุคคลทั่วไป หรือผู้มีอิทธิพลที่ต้องการใช้อาวุธ นับว่ายังไม่อันตรายมากและยังสามารถยึดคืนมาได้ แต่โชคร้ายวันนี้อาวุธสงครามที่ แนวร่วม ขบวนการแบ่งแยกดินแดนถืออยู่ในมือ และใช้ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ ยิงประชาชน และต่อสู้กับเจ้า ตั้งแต่ก่อนปี 2547 และหลังปี 2547 ที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จากการ วิสามัญ ก็ดี จากการ จับเป็น แนวร่วม และจากการตรวจค้นในพื้นที่ต่างๆ ก็ดี พบว่าล้วนแต่เป็นปืนของทางราชการทั้งสิ้น

        ยังไม่เคยยึดได้ปืนที่ซื้อมาจากกัมพูชา หรือปืนจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย หรือจากเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีแต่ข่าวว่า "บีอาร์เอ็น" ได้รับการสนับสนุนอาวุธจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนใน 2 ประเทศนี้ เพราะโดยข้อเท็จจริงปืนสั้นปืนยาวที่ แนวร่วม หรือกองกำลังติดอาวุธ อาร์เคเค ใช้ในการ โรมรัน กับทหาร ตำรวจ และ กองกำลังท้องถิ่น ล้วนเป็นของทางราชการที่ถูก แนวร่วม ปล้นไป ช่วงการปล้นค่ายปิเหล็งเมื่อปี 2547 การปล้นไปจากค่ายพระองค์ดำ และจากฐานปฏิบัติการของทหาร  ตำรวจในหลายพื้นที่ รวมทั้งการยึดไปจากการซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ และการลอบยิง ประกบยิงเจ้าหน้าที่เพื่อแย่งชิงอาวุธปืน

        และในอนาคต หากบีอาร์เอ็นต้องการอาวุธปืนเพื่อใช้ในการก่อการร้ายครั้งใหญ่เหมือนเมื่อปี 2547 ถ้าฝ่ายปกครองที่ดูแลกองกำลังท้องถิ่นอย่างกำลังของ อส.และ ชรบ.ยังเป็นไปด้วยความ หละหลวม เป็นไปแบบ ไม่ใส่ใจ อาวุธของฝ่ายปกครองจะเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ถูก เปลี่ยนมือ ไปอยู่ในมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพื่อใช้ในการเข่นฆ่า เจ้าหน้าที่รัฐและคนในพื้นที่

         ทั้งหมดเกิดจากความ หละหลวม และที่สำคัญคือ เกลือเป็นหนอน เพราะคนที่เอาอาวุธปืนไปขายเป็น คนใน เป็นคนในเครื่องแบบ ส่วนหนึ่งต้องการเงิน ส่วนหนึ่งเป็นคนที่บีอาร์เอ็นส่งมา แทรกซึม เพื่อดำเนินการกับอาวุธที่ต้องการ ซึ่งถือเป็นความ เจ็บปวด และ อัปยศ ที่สุด กับการที่ คนไทย ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐส่งปืนให้ แนวร่วม ใช้ฆ่าคนไทยที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกัน

        และนอกจาก ปืนหลวง ในมือโจรแล้ว อีกเรื่องคือ เครื่องกระสุนที่ โจรใต้ หรือ แนวร่วม ใช้อยู่ในขณะนี้มาจากไหน เมื่อไม่ได้มาจาก มาเลเซีย ก็มีทางเดียวคือมาจากประเทศไทย และหวังว่าวันหนึ่งวันใดคงจะไม่ปรากฏหลักฐานอีกว่า เป็นของหน่วยงานรัฐที่ขายให้ขบวนการบีอาร์เอ็น อย่างไรก็ตามหลังเป็นข่าว พาดหัวสื่อ เพียง 2 วันเท่านั้น พล.ต.ต.นรินทร์ บูสะมัญ ผบก.ภ.จว.นราธิวาส ก็ได้ทำการสืบสวนจนสามารถจับกุมนายฮาซัน สาแม อส. กองร้อย 2 ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยมาสอบสวน จนเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นหนึ่งในหลายคนของ อส.ที่เกี่ยวข้องกับการนำปืนสงครามไปขายให้บุคคลภายนอก และขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการขยายผล รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อออกหมายจับผู้ที่ร่วมขบวนการขโมยอาวุธปืนของกองร้อยอาสารักษาดินแดน อ.เมืองนราธิวาสในครั้งนี้ ซึ่งเชื่อว่านอกจาก อส.แล้ว ยังมีข้าราชการฝ่ายปกครองรู้เห็นเป็นใจและรับผลประโยชน์ด้วย

        แหล่งข่าวที่ติดตามสืบสวนในคดีนี้เปิดเผยว่า ปืนที่หายไปส่วนหนึ่งมีการเอาไป จำนำ และส่วนหนึ่งนำไปขาย โดยปืนทั้งหมดอยู่ในมือของคน 2 ประเภท คือเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น และส่วนหนึ่งอยู่ในมือของขบวนการค้ายาเสพติด

        ก็ฝากความหวังของการแก้ปัญหาไว้กับ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค  4 สน. ให้ จับจริง คนที่เอาปืนไปขาย เอาจริง กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ หละหลวม บกพร่อง ผิดพลาดแบบไม่ควรอภัย ก่อนที่ท่านจะเป็น พลเอก ในเดือนตุลาคมนี้ ช่วยบ้านเมืองอีกครั้งครั้ง กวาด ขยะใต้พรม ออกมาให้หมด แม้จะไม่ทำให้ ไฟใต้ หมดไป แต่ก็ทำให้เห็นว่าบ้านเมืองนี้มีกฎหมาย คนทำผิดต้องได้รับโทษ ไม่ใช่อยู่อย่าง ลอยนวล อย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"