สภาฯรุมสับ 'พ.ร.ก.ซอฟต์โลน' ไม่เอื้อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แนะให้กู้ผ่านธนาคารรัฐ


เพิ่มเพื่อน    

27 พ.ค.64 - เมื่อเวลา 13.10 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการตราพ.ร.ก.ดังกล่าว ว่า สืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตการเงินของประเทศปรับสูงขึ้นมาก ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะให้การช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบ แต่ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการนาน จึงต้องมีมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก และลดภาระหนี้ มาตรการต่างๆต้องทำโดยเร่งด่วนเพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.ก.ฉบับนี้

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม และ2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักหนี้) วงเงิน 1 แสนล้านบาท

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุนพ.ร.ก.ซอฟต์โลน ว่า เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วน และมีการปรับปรุงข้อเสียของพ.ร.ก.เมื่อปี 63 ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ลูกค้าธนาคารสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเชื่อว่าวงเงินจะเพียงพอต่อการแก้ไขสถานการณ์ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รัฐบาลจะทำตัวเป็นผู้รู้ทุกอย่างไม่ได้ แต่ต้องฟังทุกภาคส่วน การปล่อยกู้ผ่านสถาบันการเงิน เราไม่มีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเชิงนโยบาย จึงไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ แต่เป็นนโยบายของแต่ละธนาคารที่กำหนดเอง และแม้ว่าการแก้ไขปัญหาเฉพะหน้าเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ แต่ต้องมองระยะยาวต่อไปในวันข้างหน้าด้วย

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยออกพ.ร.ก.ซอฟต์โลน มาแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ ครั้งนี้เป็นรอบที่ 2 แต่กลับไม่มีเป้าหมาย ไม่มีการอธิบายว่า อยากเห็นการปล่อยกู้เท่าไหร่อย่างไร มีแต่การบอกวัตถุประสงค์คร่าวๆ ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการกำกับธนาคารต่างๆ ให้ปล่อยกู้ตามเป้าหมาย ธปท.ต้องเพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารต่างๆในการปล่อยสินเชื่อ เช่น ให้มีค่าธรรมเนียมพิเศษกรณีลูกหนี้ขอวงเงินต่ำกว่า 2 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินของรัฐมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ ตั้งคอลเซ็นเตอร์รวมถึงโครงการคลินิคช่วยกู้ เพื่อรับเรื่องให้คำปรึกษาระหว่างเอสเอ็มอีกับสถาบันการเงิน

“ประชาชนทำธุรกิจอยู่ดีๆกลับกลายต้องมีปัญหา โดยที่รัฐหยิบยื่นซอฟต์โลนและความเป็นหนี้ให้ ทั้งที่ผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการบริหารธุรกิจผิดพลาด แต่เป็นรัฐบาลที่ล้มเหลวผิดพลาดไม่รอบคอบ ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ปล่อยให้ลักลอบเข้าเมืองจนนำมาสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ และเป็นรัฐบาลเองที่การ์ดตก ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการ และต้องเยียวยาโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ท่านต้องกล้าจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนตำหนิ ว่าให้เงินแก่ผู้ที่ไม่สมควรได้ เพื่อช่วยกู้สถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่” นายพิจารณ์ กล่าว

น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พลอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จัดว่าล้มเหลวในการบริหารระบบสาธารณสุข การบริหารจัดการวัคซีน และการจัดการเศรษฐกิจของประเทศ จนทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมไปไม่รอด ในปีก่อน ธปท.ออกพ.ร.ก.ซอต์ฟโลน 5 แสนล้านบาท  แต่หลังจากดำเนินโครงการไป มีการอนุมัติสินเชื่อไปเพียง 138,200 แสนล้าน คิดเป็น27.64% ของวงเงินสินเชื่อ ถือว่าล้มเหลวและพลาดเป้าไปมาก SME ที่เดือดร้อนไม่สามารถเข้าถึงวงเงินนี้ได้จริง ส่วนพ.ร.ก.ฟื้นฟูฉบับใหม่นี้อาจจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังเข้าถึงได้ยากขึ้นไปอีก เนื่องจากในประกาศของแบงค์ชาติที่กำหนดมาให้ธ.พาณิชย์ ระบุว่า ให้ธ.พาณิชย์ให้ความช่วยเหลือกับ “ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อช่วยประคับประคองฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการการต่อไปได้” ซึ่งแบงก์พาณิชย์จะนำในส่วนนี้ไปตีความเพื่อปล่อยกู้

"เท่าที่ดิฉันทราบและพูดคุยกับผู้ประกอบการมา ได้ยินถึงขนาดว่า คนที่เดินเข้ามาหาแบงค์เพื่อขอกู้ ร้อยทั้งร้อย แทบไม่มีใครได้กู้ ดิฉันได้ยินแล้วพูดตรงๆว่าฟังแล้วทั้งเจ็บ ทั้งจุก ครั้งแล้วครั้งแล้ว ที่ธุรกิจเล็กๆ ธุรกิจที่เดือดร้อน ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงวงเงินเยียวยาจริงๆ รัฐบาลสู้อุตสาห์เตรียมวงเงินสูงถึง 350,000 ล้าน เพื่อพยุงธุรกิจ เขียนพรก.อย่างสวยหรู อ่านแล้วดูดี มีความหวัง แต่มันไม่สำคัญ ในความเป็นจริง แบงค์ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามได้อย่างที่เขียน ขอให้นิยามซอฟต์โล ฉบับใหม่นี้ว่าซอฟโลนทิพย์” ส.ส.กทม. กล่าว และ เสนอว่ารัฐบาลควรตั้งวงเงินออกมา 5 หมื่นล้านบาท จากวงเงิน 5 แสนล้านบาทตาม พ.ร.ก. เพื่อช่วยพยุงธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด ระบุกลุ่มธุรกิจให้ชัด เช่น ร้านอาหาร โรงแรม บริการ ให้ทั้งที่มีวงเงินและไม่มีวงเงินกับธนาคาร โดยตั้งเป็นกองทุนพิเศษ ให้กู้ผ่านธนาคารรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน SME bank และควรมีข้อยกเว้นในเรื่องคุณสมบัติผู้กู้ที่ต้องยืดหยุ่น  ซึ่งสามารถพิจราณาเป็นรายกรณีได้

ด้านนายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เชื่อว่าพ.ร.ก.ดังกล่าวยังไม่สามารถทำให้สถาบันการเงินคลายความกังวลในการปล่อยกู้ได้ อีกทั้งการประกอบธุรกิจขณะนี้ พบว่าเกิดลักษณะ ซอมบี้ คอมปานี หรือธุรกิจผีดิบ ที่ไม่เติบโต และไม่ตาย เชื่อว่าธนาคารจะไม่ปล่อยเงินให้กู้ ซึ่งจากการติดตามของกรรมาธิการฯ พบว่ามีกลุ่มธุรกิจรายย่อยมาร้องเรียนกับกรรมาธิการ และเมื่อกลับไปยังภูมิลำเนา พบว่าธนาคารปฏิเสธไม่ร่วมทำการค้าด้วย ดังนั้นความคิดและทัศนคติของธนาคารไม่เหมาะสม

"หากเอสเอ็มดีตาย เศรษฐกิจอยู่ไม่ได้ และธนาคารอยู่ไม่ได้ ดังนั้นผมขอให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยคิดให้มาก ผมเห็นด้วยกับพ.ร.ก.ฉบับนี้ ผมยกมืออนุมัติให้  แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้มีจุดอ่อน คือไม่ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้มแข็ง ดังนั้นควรใช่ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารธกส. ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น กล้าเสี่ยงเพื่อช่วยเอสเอ็มอี ทั้งนี้ต้องออกระเบียบคู่ขนานเพื่อช่วยปรับโมเดลธุรกิจของเอสเอ็มอี" นายกนก กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"