กาง พ.ร.บ.งบรายจ่ายปี 65 ปรับลดแทบทุกกระทรวง


เพิ่มเพื่อน    

  หนังสือนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรออกมาเรียบร้อย ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. จนถึง 2 มิ.ย. จะมีวาระพิจารณากฎหมายสำคัญระดับประเทศ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในวาระที่หนึ่ง ชั้นรับหลักการ

                โดยปีงบประมาณ 65 รัฐบาลจัดวงเงินไว้จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 อยู่ที่ประมาณ 1.85 แสนล้านบาท

                โดยมีการประมาณการรายได้สุทธิ จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท และกำหนดวงเงินเพื่อชดเชย การขาดดุลงบประมาณ จำนวน 7 แสนล้านบาท ซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในกรอบสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด

                สำนักงบประมาณคาดการณ์ภาพรวมแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทย ปี 65 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุน ภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติภายใต้เงื่อนไขวัคซีนพาสปอร์ต สามารถดำเนินการได้หรือการเดินทางระหว่างประเทศมีข้อจำกัดน้อยลงในช่วงปลายปี 2564”

                เมื่อสแกนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 พบว่าภาพรวมงบประมาณเกือบทุกกระทรวงได้รับลดลงจากปี 64

                แต่ก็ยังมีกระทรวงที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 64 คือ กระทรวงการคลัง ที่ได้รับการจัดสรรปีนี้ 2.73 แสนล้าน เมื่อเทียบกับตัวเลขงบเมื่อปี 64 ได้เพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์

                กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ได้เพิ่มจากงบประมาณปีที่แล้ว 10.4 เปอร์เซ็นต์ โดยในปี 65 กระทรวงดังกล่าวได้งบถึง 2.46 หมื่นล้าน และกระทรวงพลังงานได้ 2.71 พันล้าน โดยเมื่อเทียบกับปี 64 ได้เพิ่มขึ้น 19.2 เปอร์เซ็นต์

                นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า หน่วยงานองค์กรอิสระและอัยการได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 65 อยู่ที่ 1.84 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 64 อยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์

                ขณะที่งบประมาณแทบทุกกระทรวงลดลงนั้น เมื่อจัดอันดับภาคส่วนใดได้รับงบประมาณมากที่สุดในปี 65 ปรากฏว่า งบกลางได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ด้วยวงเงิน 5.71 แสนล้านบาท อันดับที่ 2 กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 3.32 แสนล้านบาท อันดับที่ 3 กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท อันดับที่ 4 กระทรวงการคลัง วงเงิน 2.73 แสนล้านบาท และอันดับที่ 5 กระทรวงกลาโหม วงเงิน 2 แสนล้านบาท

                สำหรับกระทรวงที่ได้รับงบประมาณในระดับหลักแสนล้าน ยังมีกระทรวงคมนาคม วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 1.53 แสนล้านบาท กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วงเงิน 1.24 แสนล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท

                เมื่อลงลึกในรายละเอียด “งบกลาง” ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับการจัดสรรมากที่สุดนั้น พบว่าได้จัดให้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญมากที่สุด จำนวน 3.1 แสนล้านบาท รองลงมาจัดให้เป็นเงินสำรองจ่ายเผื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 8.9 หมื่นล้านบาท และจัดให้เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 7.4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

                ทั้งนี้ สภาพหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 ม.ค.64 มีจำนวน 8.19 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.9 ของจีดีพี ประกอบด้วย หนี้ที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่งเกิดจากการกู้ยืมโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล จำนวน 7.79 ล้านล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน จำนวน 4 แสนล้านบาท

                อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ฝ่ายค้านเริ่มอุ่นเครื่องการอภิปรายนอกสภาฯ เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายแล้ว และประกาศว่าจะไม่รับร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระแรก ด้วยความบกพร่องหลายประการ ทั้งจัดงบให้กับข้าราชการสูงกว่าช่วยประชาชน จัดสรรงบให้กระทรวงสาธารณสุขน้อยกว่ากระทรวงกลาโหม มุ่งแต่งานด้านความมั่นคง ไม่มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

                ที่สำคัญยังคงมีประเด็นดรามาในส่วนของงบจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ฝ่ายค้านโจมตีว่าควรจะนำงบก้อนดังกล่าวไปช่วยเหลือ เยียวยาและฟื้นฟูสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดเสียก่อน 

            ทั้งหมดคงต้องรอฟังว่ารัฐบาลจะชี้แจงข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างไร.  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"