ป้อมยํ้าไม่เลื่อนเลือกตั้งทันกพ.62


เพิ่มเพื่อน    

   "พรเพชร" ชื่นชมศาล รธน.ผ่านกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. โว สนช.ทำงานด้วยความรอบคอบ  “วิษณุ” เผยทูลเกล้าฯ ถวายไม่เกินปลาย มิ.ย.นี้ ระบุเลือกตั้งภายใน 11 เดือนตามกรอบเวลา "ป้อม" ย้ำไม่เลื่อนโรดแมป พยายามให้ทัน ก.พ.62 แต่ "สมชัย" ฟันธงโอกาสทัน ก.พ.62 มีแค่ 30% คสช.ดำเนินคดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เบ็ดเสร็จ 62 คน
    เมื่อวันพฤหัสบดี ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แจกเอกสารเพื่อเผยแพร่ความคิดเห็นภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ระบุว่า ขอชื่นชมศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และขอขอบคุณการตีความที่ยึดมั่นในหลักแห่งกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม
    นายพรเพชรระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นที่เป็นปัญหา 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ประเด็นเรื่องการตัดสิทธิในการเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองกรณีไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่ สนช.ได้เพิ่มขึ้น และได้ยืนยันมาตลอดว่าไม่มีประเด็นข้อกฎหมายใดในเรื่องการตัดสิทธิ เพียงแต่มีข้อพิจารณาว่าสมควรตัดสิทธิผู้ไม่ไปออกเสียงเลือกตั้งเพียงใด 2.ประเด็นเรื่องการช่วยเหลือคนพิการในการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สนช.ได้เพิ่มขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้สิทธิลงคะแนนเสียง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการจัดให้มีความช่วยเหลือดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ
    ในเอกสารของนายพรเพชรระบุเพิ่มเติมว่า สนช.เห็นด้วยว่าการตีความกฎหมายไม่ใช่การตีความตามตัวหนังสือหรือถ้อยคำตามความเข้าใจในภาษาธรรมดา แต่ต้องคำนึงถึงหลักแห่งกฎหมาย สนช.ได้ทำงานด้านนิติบัญญัติด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการตรากฎหมายไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และได้ผ่านการทดสอบของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง เช่น คำถามพ่วงของรัฐธรรมนูญการออกเสียงประชามติ พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นต้น ดังนั้น สนช.จะยึดมั่นในการทำงานด้วยหลักแห่งกฎหมาย
    ต่อมานายพรเพชรเปิดเผยว่า ตนได้ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนร่าง พ.ร.ป.ส.ส. คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะส่งคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการให้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเมื่อได้รับเอกสารแล้ว ก็จะนำส่งนายกฯ ต่อไป และเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญทราบอยู่แล้วว่าจะต้องเร่งรัดส่งคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการมาให้แก่ สนช. เพื่อให้ทันกับโรดแมปเลือกตั้ง
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากนี้สภาต้องรอคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นสภาต้องแจ้งมายังรัฐบาล โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีการจัดพิมพ์ร่างกฎหมายดังกล่าวไว้แล้ว 1-2 วันก็สามารถทูลเกล้าฯ ถวายได้เลย คาดว่าจะสามารถทูลเกล้าฯ ถวายได้ก่อนปลายเดือนมิ.ย.นี้
     เมื่อถามว่า หากทูลเกล้าฯ ถวายกฎหมายลูกการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.แล้ว จะมีการเลือกตั้งภายใน 11 เดือนหลังจากนั้นใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ แต่กรอบเวลาตามโรดแมป 11 เดือน ตนไม่ขออธิบาย เพราะพูดไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม โรดแมปดังกล่าวไม่สามารถเลื่อนออกไปจากนี้ได้ แต่ทำให้สั้นลงได้
เลือกตั้งทัน ก.พ.62
    นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ก็ไม่มีผลกระทบกับโรดแมปเลือกตั้ง ส่วนการพิจารณาปลดล็อกพรรคการเมือง โดยหลักควรจะปลดล็อกได้ก่อนเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง และเป็นที่รู้แน่ว่า ในช่วง 150 วันในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง ต้องปลดล็อกแล้ว ไม่เช่นนั้นจะหาเสียงไม่ได้ แต่จะปลดล็อกเมื่อไหร่ ไม่ทราบ การทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองสามารถดำเนินการได้ทันทีหลังจาก คสช.ประกาศปลดล็อก
     "ถ้ามาคุยด้วยกันจะได้ตอบคำถามนั้น ถ้าไม่มาก็คุยกันเอง ประกาศวันเลือกตั้งเองฝ่ายเดียว แล้วบอกว่าไม่รู้นะ เราเตือนคุณแล้ว คนกำหนดวันคือ กกต. โดยจะฟังความทุกฝ่าย เจอ คสช.มาก็ฟังความเห็น คสช. เจอพรรคการเมืองก็ฟังพรรคการเมือง แต่ถ้าไม่มาก็คงต้องฟังกันเอง แล้วอย่ามาว่ากัน" นายวิษณุกล่าวถึงกรณีบางพรรคการเมืองระบุไม่เข้าร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเลือกตั้ง 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรอบเวลาตามโรดแมปเลือกตั้ง 11 เดือนนั้น ประกอบด้วยระยะเวลาในการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้มีพระบรมราชวินิจฉัย 3 เดือน เมื่อประกาศใช้ กฎหมายลูก ส.ส.แล้ว ตามบทเฉพาะกาลกฎหมายจะมีผล 90 วันหลังจากนั้น และจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญที่เกรงว่าจะไม่ทันกรอบโรดแมปเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่า ตนยืนยันว่าโรดแมปการเลือกตั้งไม่เลื่อน และทันเดือนกุมภาพันธ์ 2562     
    ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นมิมิตหมายที่ดีที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนคิดว่าโอเค และย้ำว่าไม่เลื่อนเลือกตั้ง ก็สบายแล้ว โอเค ถ้า คสช.หมดหน้าที่ ก็หมดหน้าที่ เป็นไปตามโรดแมป ซึ่งตนหวังให้เลือกตั้งเรียบร้อย
    ถามว่า แต่กฎหมายกำหนดกรอบเวลา 150 วันก่อนการเลือกตั้ง ควรจะปรับเวลาเป็น 90 วัน เพื่อให้ทัน เดือนกุมภาพันธ์ 62 หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ปรับ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย 150 วันก็ต้อง 150 วัน
    ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ถ้ากำหนดแบบนั้นจะไม่ทัน กุมภาพันธ์ จะเลื่อนเป็นเมษายน 2562 รองนายกฯ ประวิตรย้ำว่า “เอาน่ะ เขาพยายามจะทำให้ทัน ส่วนจะใช้มาตรา 44 หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ต้อง”
    พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงการหารือพรรคการเมืองก่อนกำหนดวันเลือกตั้งว่า เชื่อว่าไม่เลื่อน คาดว่าจะหารือประมาณปลายเดือนมิถุนายน ส่วนที่หลายพรรคย้ำจุดยืนว่าจะไม่เข้าร่วมการหารือ ตนคิดว่าสื่อก็รู้อยู่แล้ว ยังมาถามอีก ก็จะหารือเท่าที่พรรคการเมืองตอบรับมาเท่านั้น
    ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า กกต.ก็จะดำเนินการยกร่างระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ โดยร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ทางสำนักงานได้ดำเนินการยกร่างคืบหน้าไปกว่า 90% คาดว่าภายใน 1 เดือนนับจากนี้จะแล้วเสร็จ ส่วนโรดแมปเลือกตั้งต้องดูว่าร่าง พ.ร.ป.ส.ส.จะประกาศและมีผลใช้บังคับเมื่อใด ซึ่งเวลานั้น กกต.ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ อาจจะใช้เวลาไม่เต็มกรอบเวลาดังกล่าวก็ได้ เพราะที่ผ่านมาก็เคยใช้เวลาจัดการเลือกตั้งทั้ง 60 วัน และ 90 วันมาแล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะจัดการเลือกตั้งเมื่อใด กกต.ก็มีความพร้อม  
ก.พ.62 โอกาสแค่ 30%
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า โอกาสได้เลือกตั้ง ก.พ.ปี 62 มีร้อยละ 30 แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ไม่มีส่วนใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ส่วนที่จะเกิดขึ้นจริงในวันใด เป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย (ยกเว้นขั้นตอนในพระราชอำนาจที่มิอาจเร่งรัด) ต้องจริงใจในการเดินหน้าประเทศสู่การเลือกตั้ง โดยหวังว่าคงไม่มีเรื่องการใช้อภินิหารทางกฎหมายใดๆ มายื้อการเลือกตั้งออกไปอีก
    นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า คสช.และรัฐบาลและ กกต.จะบริหารเวลาอย่างไรให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อมิให้เกิดปัญหา จึงขอเสนอ คสช.ว่า ช่วง 90 วันนับจาก พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.บังคับใช้ ควรออกประกาศให้ กกต.ปฏิบัติงานเกี่ยวกับแบ่งเขตการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองก็สามารถทำกิจกรรมเพื่อเตรียมเรื่องสมาชิกพรรค เตรียมจัดหาผู้สมัคร การจัดไพรมารีโหวต การเตรียมพร้อมการหาเสียงเพื่อเข้าสู่ระยะที่สามอีกไม่เกิน 150 วัน หากไม่ออกประกาศจะทำให้ระยะเวลา 90 วันผ่านไปโดยไม่สามารถทำอะไรได้และไม่เกิดประโยชน์ใดๆ 
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายวิษณุระบุว่า ถ้าพรรคการเมืองไม่ร่วมพูดคุยก็อย่ามาว่ากัน ว่าเรามีเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมพูดคุยตามที่เคยแสดงความชัดเจนไปแล้ว แล้วแต่ผู้มีอำนาจจะตกลงกันอย่างไรก็ว่ากันไป มีอำนาจจะทำอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่ขอให้ทุกอย่างชอบธรรมและถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเราก็ไม่ว่าอะไร
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงรัฐบาลจะเลื่อนการเชิญพรรคการเมืองหารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งในเดือน มิ.ย.ออกไปว่า เป็นเรื่องปกติ ในคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 บอกว่าจะเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าหารือด้วยก็ได้ นั่นคือหารือด้วยก็ได้ หรือไม่หารือก็ได้ อย่างไรก็ตาม การพบปะพูดคุยกับตัวแทนขององค์กรกลุ่มต่างๆ ก็ต้องทำหลังจากที่ร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะเลื่อนออกไปก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีอะไร 
    นายองอาจกล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนของโรดแมป เมื่อมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับครบแล้ว ก็ต้องนับ 90 วันของกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. บวกอีก 150 วัน ซึ่งถ้านับไปตามนี้ ใช้เวลาเต็มที่ทุกขั้นตอนก็จะไปตกประมาณเดือน พ.ค.2562 แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกขั้นตอนต้องใช้เวลาเต็มพิกัด เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาใช้เวลาภายใน 45 วัน หรือภายใน 60 เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็น่าจะเป็นไปตามนี้ ทั้งนี้ การเลือกตั้งเดือน ก.พ.กับ พ.ค.62 ไม่มีอะไรต่างกันมาก บวกลบ 2-3 เดือน ก็มีความเป็นไปได้ แต่คิดว่าถ้ายังอยู่ใน ก.พ.62 ก็ยังอยู่ได้ ตามระยะเวลาที่ให้ไว้ 
อยากเลือกตั้ง 62 คนอ่วม
     ขณะที่สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกกรม และผู้สนับสนุนกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ร่วมกันส่งจดหมายเรียกร้องทางการไทยให้ยุติการดำเนินคดีต่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจำนวน 15 คน และภายหลังมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม รวมทั้งหมด 62 คน ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 5 ก.ค.2561 ตลอดจนยกเลิกและปรับปรุงกฎหมาย ไปจนถึงคำสั่งต่างๆ ให้ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ รวมถึงอนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิของตนโดยไม่ถูกข่มขู่หรือคุกคาม เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
    ด้าน พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพยายามอธิบายตามข้อเท็จจริงให้สังคมเข้าใจหลักกฎหมาย และหลักการปฏิบัติ ยืนยันว่า คสช.และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนฝ่ายกฎหมาย ดำเนินตามกรอบกฎหมายและอำนาจหน้าที่ ไม่ได้ละเมิดสิทธิ์ใคร หรือ เลือกปฏิบัติและไปกลั่นแกล้งใคร ทั้งนี้ ไม่รู้สึกหนักใจอะไร สิ่งใดเป็นข้อเรียกร้องและอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ ถ้าอะไรที่ทำได้ เช่น ปัญหาปากท้องก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ แต่ข้อเรียกร้องใดขัดกฎหมาย คสช.จะอธิบายให้เข้าใจว่าทำไม่ได้
    ส่วนการดำเนินการกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น ทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราอธิบายทำความเข้าใจกับคนทั้งประเทศว่าบ้านเมืองกำลังเดินหน้าไปได้ ดังนั้นขอเวลาที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งตามที่ทุกคนปรารถนา ในต้นปี 2562 เมื่อเลือกตั้งแล้วจะมีรัฐบาลใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งทางรัฐบาลคสช.จะส่งผ่านอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินให้รัฐบาลใหม่ ส่วน คสช.จะหมดอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 แต่ยังมีคนไทยจำนวนไม่มากอยากให้เลือกตั้งโดยเร็ว ทาง คสช.ขอความร่วมมือว่า การเคลื่อนไหวใดๆ ควรอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย หากทำผิดกฎหมาย คสช. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกรอบกฎหมาย
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่คณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดีเพิ่มเติมกลุ่มบุคคลที่มาร่วมชุมนุมในคดีซึ่งมีพฤติการณ์ไม่อยู่ภายใต้การใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง มีแกนนำ 21 คน 
    นอกจากนี้ยังได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้มาร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดยกระทำความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และถูกดำเนินคดีข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่, การชุมนุมขัดต่อพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ, ความผิดตาม ป.วิอาญามาตรา 215 มั่วสุมเกินกว่า 10 คนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวาย,   ความผิดตาม ป.วิอาญามาตรา 216 เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมขัดขืนไม่เลิกการชุมนุม และกระทำผิด พ.ร.บ.จราจร นอกจากนี้ยังถูกดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ รวม 41 คน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"