ผลการพิจารณาโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจาก “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ที่มีการจัดสรรงบไว้ปีละ 300 ล้านเพื่อให้ทุนกับโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนประจำปีงบประมาณต่างๆ ที่ผ่านมาได้รับการถูกพูดถึงเกือบทุกปี รวมถึงปีนี้ด้วย หลังกรณีรายการ “ลายกนก ยกสยามสัญจร” ของบริษัท ท็อปนิวส์ดิจิตัลมีเดีย จำกัด (ช่องท็อปนิวส์) ได้การสนับสนุนงบประมาณ 4.8 ล้านบาทด้วย จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา และทำให้หลายคน อาจอยากรู้จักบทบาท-หน้าที่ของ “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” มากขึ้นว่า กองทุนพัฒนาสื่อฯ มีบทบาทความสำคัญอย่างไรโดยเฉพาะในยุคสังคมโซเชียลมีเดีย ที่มีข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก
โดยคนที่จะตอบทุกข้อสงสัยได้ดีที่สุด ก็คือ “ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ในฐานะผู้นำองค์กรที่เข้ารับตำแหน่งด้วยกระบวนการสรรหา และยังมีระยะเวลาในการทำหน้าที่ผจก.กองทุนพัฒนาสื่อฯอีกร่วมสามปีกว่า
ลำดับแรก กับคำถามอุ่นเครื่องว่า ในสภาวะที่สภาพเศรษฐกิจมีปัญหา ธุรกิจสื่อได้รับผลกระทบไปด้วย โดยสื่อเองก็ต้องการเรตติ้ง ยอดแชร์ ยอดวิว ในโซเชียลมีเดียเพื่อผลทางธุรกิจ มองว่าสื่อจะอยู่รอดได้อย่างไร หากไม่ไปให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ คำถามดังกล่าว “ดร.ธนกร-ผจก.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ให้ทัศนะว่า เมื่อปี 2563 ผมก็ได้ออกมาอธิบายเรื่องการจัดสรรทุนของกองทุนพัฒนาสื่อฯ ว่าเราให้สื่อหลักดำรงอยู่หรือประกอบกิจการภายใต้ระบบธุรกิจ โดยเราก็ไปเรียกร้องให้เขาทำงานแบบสื่อสร้างสรรค์หรือเรียกร้องให้เขาทำหน้าที่สื่อหลายเรื่อง ซึ่งในทางปฏิบัติมันเป็นไปได้ยากมาก เพราะธุรกิจก็ต้องคำนึงถึงเรตติ้ง ความอยู่รอดขององค์กร
ตอนที่มีการตั้งกองทุนพัฒนาสื่อฯ สิ่งนี้ก็คือเหตุผลหลักว่า “หากอยากได้สื่อดีๆ รัฐก็ต้องลงมือสนับสนุน” อย่างผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล เขาจ่ายค่าธรรมเนียมประกอบใบอนุญาตมา-จ่ายเงินเข้ากองทุนกสทช.-จ่ายค่าธรรมเนียมประกอบกิจการรายปีทุกปี เช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และเป็นกองทุนกสทช.ที่ส่งเงินมาให้กับกองทุนพัฒนาสื่อฯ
ผมก็คิดว่ากองทุนพัฒนาสื่อฯ อาจต้องปรับรูปแบบการจัดสรรทุน คือสื่อหลักอาจต้องจัดออกไปอีกเป็นกลุ่มหนึ่งที่ต้องไปสนับสนุน โดยส่วนที่สื่อจะทำธุรกิจ ก็ปล่อยให้เขาทำธุรกิจไป แต่ส่วนที่จะให้เขาทำสื่อสร้างสรรค์ กองทุนฯ ต้องยื่นมือเข้าไป
โดยในส่วนที่เป็นสื่อทั่วไป เมื่อเราต้องการได้การผลิตชิ้นงานดีๆ เราก็เปิดอีกช่องทางหนึ่ง รวมถึงการสร้างผู้ผลิตหน้าใหม่-ผู้ผลิตสื่อรายเล็กที่มีความคิดดีๆ มีความคิดสร้างสรรค์แต่ไม่มีทุน หรือเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ก็แยกให้ชัดเจนไปเลย เพราะหากเราไม่ทำอะไรเลย เราก็จะไม่มีทิศทาง ทำให้การจะไปเรียกร้องอะไรก็จะยากมาก
ผมอยากเห็น กสทช.จับมือกับกองทุนพัฒนาสื่อฯ อย่าง “สื่อหลัก” ที่เป็นเจ้าของเงิน จ่ายเงินเข้ากสทช. แล้วจ่ายออกผ่านกองทุนสื่อฯ ผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุผล เพราะถือเป็นการคืนกำไรให้กับประชาชน ให้ประชาชนได้รับเนื้อหาที่ผลิตออกมาดีๆ
สำหรับในสภาวะแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ผมเห็นว่าสื่อมวลชนต้องกลับมาทำหน้าที่หลัก เราไม่ได้เรียกร้องให้คนที่ทำ “สื่อ” หรือผลิตสื่อ ต้องรับผิดชอบทางสังคมมากมาย ซึ่งผมคิดว่าเป็นข้อเรียกร้องที่มากเกินไป แต่เราต้องเรียกร้องคนที่ทำหน้าที่เป็น “สื่อมวลชน” เรียกร้องพร้อมกับการสนับสนุนที่ชัดเจน เพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่เป็นสื่อที่อ้างอิงได้ เชื่อถือได้ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ สื่อแพลตฟอร์มใหม่ๆ เป็นช่องทางในการเผยแพร่ แต่ไม่ใช่ไปนับหนึ่งที่สื่อโซเชียลมีเดีย ที่วันดีคืนดี ออกเฟกนิวส์ไป ช่องหลักมันพังไปแล้ว อย่างผมก็รู้ว่าเป็นความพยายามลดต้นทุนไม่ทำข่าวเอง ไม่มีทีม แล้วก็ใช้วิธีไปหยิบเอาคลิปในโลกโซเชียลมีเดียมานำเสนอ ซึ่งอันนี้ผิดมากเลย ที่ก็ต้องพูดคุยกัน
ต่อยอดโครงการที่ได้ทุนผลักดันให้เกิด social value
-ในยุคเป็นผจก.กองทุนพัฒนาสื่อฯจะมี นโยบายสนับสนุนสื่อที่ตั้งใจผลิตข่าวสารหรือรายการดีๆ แต่อาจไม่มีทุนหรืองบประมาณ อย่างไรบ้าง ?
ยุทธศาสตร์ของกองทุนพัฒนาสื่อฯ เขียนไว้ชัดเจนแล้วว่าต้องส่งเสริมศักยภาพผู้ผลิต ซึ่งศักยภาพผู้ผลิตอาจแบ่งออกเป็นหลายระดับ ระดับแรกเลยก็คือ “คนเล็กคนน้อย คนหน้าใหม่” ซึ่งผมคิดว่าข้อบังคับของกองทุนฯในการจัดสรรทุน ที่สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อฯ เขียนไว้ดี คือคุณสมบัติของผู้ขอรับทุน เปิดให้บุคคลธรรมดาด้วย แต่เรายังไม่ไปถึงขั้นว่า การเปิดให้บุคคลธรรมดา ผมคิดว่าถ้าเป็นผม จะให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้ก็คือว่า ต้องเปิดให้กับผู้ผลิตหน้าใหม่ที่จะเริ่มต้น เพราะคุณไม่มีบริษัท ยังไม่มีองค์กร ไม่มีทุน เพราะฉะนั้นทุนที่จะให้กับบุคคลธรรมดา จึงไม่ควรต้องเยอะมาก คือทำเหมือนกับลักษณะ Start Up คือเริ่มต้นให้ได้ก่อน แบบค่อยๆ โต ซึ่งจะทำให้ ตัวกองทุนพัฒนาสื่อฯ ก็ไม่มีความเสี่ยงที่จะไปให้ทุนจำนวนมากกับบุคคลธรรมดา คือไม่ใช่ว่าบุคคลธรรมดาไม่ดี แต่หากเขายังไม่ Well-Know ยังไม่ปรากฏความน่าเชื่อถือ แล้วเราจะไม่ให้เลย มันก็ไม่ใช่ แต่ถ้าให้บางทีมันก็มีความเสี่ยง การให้บุคคลธรรมดา จึงมีปรัชญาว่า คือการให้โอกาสได้เริ่มต้นทำจากเล็กไปหาใหญ่ จากเล็ก-กลาง-ใหญ่ ถ้าทำแล้ว ผลงานดี ก็ไปสู่ขั้นที่สองคือ Start Up ให้เขาทำวิสาหกิจสื่อได้ สามารถตั้งบริษัทได้ ก็ควรให้เป็นทุนระดับกลาง หลังจากนั้นก็ไปสู่การรับทุนที่เป็นขนาดใหญ่ อันนี้คือสำหรับกลุ่มเป้าหมายแรกคือ “กลุ่มผู้ผลิตหน้าใหม่”
ส่วนผู้ผลิตขนาดกลาง สิ่งที่เราอยากจะทำก็คือ กลุ่มผู้ผลิตอิสระ รายเล็กรายน้อย ทุนน้อยแต่มีฝีมือ อันนี้ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่กองทุนก็พยายามทำอยู่ พบว่าแต่ละปี ก็มีผู้รับทุนที่เป็นผู้ผลิตขนาดกลางจำนวนไม่น้อย ส่วนพวก “ทุนขนาดใหญ่” อันนี้คือการเอามืออาชีพมา การเอามืออาชีพมา ถามว่าเป็นการให้ทุนใหญ่หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่ เพราะจริงอยู่เขาอาจเป็นทุนใหญ่ เป็นเจ้าของทุน แต่เราซื้ออะไรเขา เราซื้อความเป็น Professional ความเป็นมืออาชีพเขา โดยที่ไม่ให้เขาไปยุ่งกับเรื่องเงื่อนไขทางธุรกิจ ก็คือเช่นเราอยากให้มีการผลิตแบบนี้ แล้วเราต้องการมืออาชีพที่มีความพร้อม ก็พิจารณาไปเลย เป็นอีก category หรืออีกกลุ่มหนึ่ง อันนี้คือสิ่งที่อยากผลักดัน อยากจะเห็น คือการให้การสนับสนุนทั้งรายเล็ก, รายกลาง และรายใหญ่
สำหรับสิ่งที่จะทำต่อไป ผมก็คิดว่าการที่จะมีสื่อสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ก็ต้องมีผู้ผลิตที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของกองทุนพัฒนาสื่อฯ ที่จะมีหลักสูตร มีกลไกในการสนับสนุนเขา ไม่ว่าจะเป็นการทำหลักสูตร, การฝึกอบรม, การจัดทำข้อมูลและคู่มือที่เป็นองค์ความรู้ต่างๆ เพราะเราต้องสร้างผู้ผลิตสื่อหน้าใหม่ให้เพิ่มขึ้นให้มีตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญ แล้วคนเหล่านั้น ก็จะเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานออกมา
ผมจึงอยากเห็นต่อไปในอนาคต กองทุนพัฒนาสื่อฯจะมีทรัพยากรบุคคลที่เป็นผู้ผลิตสื่อทุกระดับที่มีจำนวนมากพอสมควรและมีความหลากหลาย และสิ่งที่จะตามมาที่เป็นผลลัพธ์ก็คือชิ้นงานออกมาเป็น Content ต่างๆ โดยกองทุนพัฒนาสื่อฯ ควรจะเป็นเจ้าของคอนเทนต์ที่ใหญ่ในระดับประเทศ และ Content ดังกล่าว จะไม่กำจัดอยู่เฉพาะคนไทยได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์เท่านั้น แต่ควรเป็นคอนเทนต์ที่ส่งไปต่างประเทศได้ด้วย เหมือนที่หลายประเทศทำ เพราะประเทศไทยมีสิ่งดีงามเยอะมากที่เมื่อนำเสนออกมาแล้ว คนไม่ต้องทะเลาะกัน เช่น เรื่องของสถานที่ซึ่งสวยงามที่เวลาเรารู้สึกว่าสวยและเข้าถึงสุนทรียะ มันไม่ได้บอกว่าเรามีรสนิยมทางการเมืองแบบไหน หรือเรื่องของอาหารที่อร่อย ความอร่อยก็แตกต่างไปตามภูมิภาค เช่นอร่อยแบบภาคใต้ หรืออร่อยแบบภาคอีสาน หรือสถานที่ซึ่งมีศิลปะที่งดงาม เรื่องเหล่านี้เมืองไทยมีเยอะมากโดยไม่ต้อง make แค่เราไปนำเสนอออกมาอย่างมีศิลปะ สิ่งเหล่านี้คือ Social Value เป็นสิ่งที่มีคุณค่า โดยเราสามารถใช้สื่อหรือการสื่อสารเพื่อเพิ่มมูลค่าขึ้นมาแล้วสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ด้วย สิ่งเหล่านี้กองทุนพัฒนาสื่อฯ จะทำให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต แปลงสิ่งที่เป็น Value ให้เป็น Capital เป็นทุน เป็นต้นทุน
อย่างเรื่องของประวัติศาสตร์ ผมก็คิดว่ามีวิธีที่จะนำเสนอได้หลายแง่มุม เช่นหากเราจะทำเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรฯ เราก็อาจทำให้ฉีกแนว เช่นการดึงตัวละครสักคนหรือพลทหารสักคนหนึ่ง ที่อยู่ในกองทัพของสมเด็จพระนเรศวร จากปากคำของชาวบ้านหรือเรื่องเล่า หรืออย่าง “บางระจัน” เราไม่ต้องเอาตัวละครหลักในศึกบางระจันก็ได้ เราอาจนำเสนอเรื่องของผู้หญิงสักคนที่ทำหน้าที่หุงข้าว คอยทำหน้าที่สนับสนุน ไม่จำเป็นที่ประวัติศาสตร์ต้องขายความเป็นฮีโร่ของผู้นำอย่างเดียว แต่ขายเรื่องราวของสามัญชน ซึ่งถามว่าเรื่องแบบนี้เราเมกขึ้นหรือไม่ มันก็ไม่ใช่ แต่แค่พลิกมุมนำเสนอเท่านั้นเอง หรือเรื่องของ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ก็นำเสนอเรื่องของคนที่เป็นมือทำงานในการร่วมกอบกู้ชาติ กอบกู้แผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีคนที่ถูกประวัติศาสตร์เลือนหายไปเยอะแยะมากมาย แต่เอาคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น แล้วสร้างชีวิตให้มันยิ่งใหญ่ในการเป็นคนเล็กคนน้อย เรื่องแบบนี้ในเมืองไทยมีเยอะมาก ซึ่งเรื่องของประวัติศาสตร์มีแง่มุมที่น่าสนใจเยอะ และจะทำให้คนสนใจประวัติศาสตร์
-ที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาสื่อฯ สนับสนุนเรื่องการตรวจสอบเฟกนิวส์ หรือรณรงค์เรื่องการไม่ให้มี Social Bullying อย่างไรบ้าง ?
สนับสนุนเยอะมาก แต่ต้องบอกตรงๆว่า ผลงานยังกระจัดกระจาย อย่างเรื่องเฟกนิวส์ก็ทำร่วมกับหลายหน่วยงาน มีทั้งกลุ่มประเภทผลิตสื่อ ทำแพลตฟอร์มร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ผลงานยังไม่ถูกทำให้เป็นระบบชัดเจน ยังกระจัดกระจายอยู่ ก็เป็นสิ่งที่ผมให้นโยบายน้องๆ ไปแล้วว่า เราอาจต้องทำให้มีพื้นที่กลาง ที่กองทุนฯสามารถจะเป็นแหล่งตรวจสอบข่าวปลอมที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่แค่รายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” ที่เราสนับสนุนไปอย่างเดียว แต่เฟกนิวส์ที่อยู่ในโลกออนไลน์ขณะนี้ เราต้องพร้อมจะเป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบ พร้อมๆ กับการสนับสนุนพัฒนาทักษะของคนทั่วไปในการตรวจสอบเฟกนิวส์ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการติดอาวุธทางความคิด มีเครื่องมือให้เขา เช่นการทำคลิปสั้นๆ เพื่อเตือนสติให้คนได้คิดการแชร์ข่าวปลอม ผลกระทบจะเป็นอย่างไร อันนี้คือเรื่อง Media Literacy เราทำในฐานะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของกองทุน
ส่วนเรื่อง Cyber Bullying เราทำหลายอย่าง อย่างที่ให้ทุนไปเมื่อปี 2563 ก็ให้มีการผลิตหนังสั้น เพื่อให้เห็นว่าผลกระทบของการ กลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์มันรุนแรงจริงๆ โดยเฉพาะในกลุ่มกลุ่มเด็กเยาวชน คนหนุ่มสาว เช่นเรื่องการหยอกล้อกัน ที่คนที่ได้รับการหยอกล้อ ไม่คิดว่ามันคือการหยอกล้อแต่เป็นการทำลายกัน ทำให้เขาเสียความเชื่อมั่น ทำให้ไปโรงเรียนไม่ได้ เข้าพวกไม่ได้ จนถึงขนาดบางคนด้อยค่าตัวเองจนไม่อยากมีชีวิตอยู่เราก็นำเสนอปัญหาเหล่านี้ออกไป นอกจากนี้ก็มีการรณรงค์กับองค์กรทางศาสนา รณรงค์เรื่อง Hate Speech และต่อไป กองทุนพัฒนาสื่อฯ ก็จะขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น
กองทุนพัฒนาสื่อฯ มองว่า เราจำเป็นต้องสร้างภูมิต้านทานให้กับผู้คนในสังคม โดยสร้างภูมิต้านทานทางปัญญา เพราะวัคซีนที่สำคัญ ไม่ใช่วัคซีนทางกายอย่างเดียว แต่ต้องเป็นวัคซีนทางจิต วัคซีนทางสติปัญญาด้วย วันนี้เราอาจวุ่นวายอยู่กับการแสวงหาวัคซีนทางกาย แต่เราควรมีวัคซีนที่ทำให้เราใช้ชีวิตด้วยปัญญา ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่กองทุนสื่อฯ ต้องทำให้ได้ เป็นความท้าทายว่า เราต้องผลิตวัคซีนทางจิตใจ วัคซีนทางสมอง ควบคู่ไปกับวัคซีนทางกาย ซึ่งวัคซีนทางกายต้องพัฒนาตลอดเวลา ถ้าเชื้อกลายพันธุ์ วัคซีนก็ต้องผลิตใหม่ แต่ถ้าวัคซีนทางปัญญาเกิดแล้วสามารถรับมือได้ทุกไวรัส
สิ่งสำคัญที่ผมอยากเห็นมากคือ วันนี้สังคมไทยเราเดินมาถึงจุดที่เราไม่มองว่าการใช้ Hate Speech เป็นเรื่องผิด คือขอเพียงแค่ว่าคนที่ใช้ Hate Speech เป็นพวกเรา มีแนวคิดใกล้กัน หากเขาจะไปด่าใคร เรายอมได้หมดเลย เรายอมให้คนผิดศีล เรายอมให้ทำบาป เพียงเพราะคนนั้นถูกจริตกับเรา เขาด่าได้สะใจมาก ซึ่งอันนี้อันตราย ผมว่าสังคมไทยสูญเสียรากเหง้าบางอย่าง โดยที่ผมก็ยังเชื่อว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความมีน้ำใจ ความมีมิตรภาพ ความเป็นพี่น้อง พวก Hate Speech ด่ากันแบบเอาเป็นเอาตาย เหล่านี้ไม่ใช่วิถีของสังคมไทย แต่เป็นผลลัพธ์ของความขัดแย้งแตกแยกที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง
กองทุนพัฒนาสื่อฯ จึงอยากเรียกร้อง วิงวอนและร่วมรณรงค์ด้วยว่า เราเห็นต่างกันได้ แต่เราไม่โกรธกันได้หรือไม่ ไม่เกลียดกัน ไม่ด่ากันได้หรือไม่ เราถกเถียงกันด้วยข้อมูลยอมรับกันด้วยเหตุผล
อย่างกรณีการให้ทุนก็เหมือนกัน จริงๆ ผู้รับทุนที่มีความคิดทางการเมืองไปในทางใดทางหนึ่งของปี 2564 ไม่ใช่แค่รายการ “ลายกนก” อย่างเดียว มีโครงการอื่นด้วย ที่ก็ไปอีกทาง คืออาจไปทางฝั่งตรงข้าม กับรายการ “ลายกนก” ซึ่งก็ได้รับทุนเหมือนกัน แสดงว่ากรรมการในกองทุนก็พยายามบาลานซ์อยู่ เราก็อยากบอกกับสังคมว่าบางทีเรื่องส่วนตัว เรื่องความคิดทางการเมือง เราก็อาจต้องเปิดใจกว้าง แต่ว่างานที่กองทุนฯอยากได้และสนับสนุนให้ทำ มันต้องเป็นงานที่สร้างสรรค์จริงๆ ให้ดูที่เนื้องานและผลกระทบของเนื้องาน
การันตีหลักเกณฑ์เข้ม
ตรวจสอบละเอียดหลังอนุมัติทุน
-งบที่กองทุนพัฒนาสื่อฯ จัดสรรให้แต่ละโครงการ ทางสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อฯ มีการติดตามการทำงาน ผลิตงาน หลังจากแต่ละรายได้รับทุนไปหรือไม่ว่า สุดท้ายแล้วสามารถผลิตงานออกมาได้ตรงตามที่กองทุนฯต้องการเห็นหรือไม่ ตอนอนุมัติการให้ทุน?
เงินของกองทุนพัฒนาสื่อฯ ที่ให้ทุนไปแต่ละโครงการ หลังผ่านกระบวนการคัดเลือกแล้ว จากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการที่สองที่ยากมาก นั่นคือกระบวนการในการทำสัญญา ทุนที่ได้ไปทุกรายการ จะมีรายละเอียดระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาเลยว่า ผู้ได้ทุน จะต้องทำอะไรบ้าง เขาต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างหลังจากนั้น ร่ายแต่ละรายการไปเลย โดยมีรายละเอียด เช่น รายการนี้ต้องทำให้เสร็จภายในงวดแรก รายการต่อไปต้องทำให้เสร็จภายในงวดสอง เรามีตัวชี้วัดในเรื่องงาน พอทำตัวชี้วัดเรื่องงานเสร็จ ต้องไปทำตัวชี้วัดในเรื่องเงิน เช่นเมื่อทำงานครบตามตัวชี้วัดแล้ว ต้องไปทำตัวชี้วัดในเรื่องเงินด้วย เมื่อเบิกเงินไปเท่าใดแล้ว ต้องมีเอกสารมาแสดงด้วย
ที่เรามีปัญหาในเวลานี้คือผู้รับทุนปิดงวดงานได้ แต่ปิดงวดเงินไม่ได้เพราะงานก็มีตั้งแต่สามงวด บางทีก็มีสี่งวด ดังนั้นกว่าจะได้เงินจากกองทุนไป มันยากมาก ยิ่งกว่างานรับจ้างด้วยซ้ำ เพราะคณะทำงานที่มาติดตามประเมินเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่แบบที่หากเป็นระบบจัดซื้อจัดจ้าง ก็เหมือนผู้ตรวจรับ โดยกองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้รับเรื่องเยอะมากก็คือ ตรวจรับงานแล้วไม่ผ่าน เราก็พยายามดูว่าที่ไม่ผ่านเพราะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงในสัญญาหรือไม่ หรือไม่ผ่านตาม มาตรฐาน KPI หรือไม่
ดังนั้น กระบวนการเบิกเงินจากกองทุนจึงยากมาก วันนี้จึงมีปัญหาเรื่องผู้รับทุน ทำงานไม่ได้หลังได้ทุน ก็เป็นปัญหาอุปสรรคอย่างหนึ่ง เมื่อผมเข้ามารับผิดชอบเป็นผู้จัดการกองทุนฯ ก็คือ ต้องติดตามผู้รับทุนทุกโครงการ ต้องมีทีมในการบริหารสัญญา เช่นทำให้คนที่ได้ทุน ทำงานให้ได้ตามที่กำหนดไว้ และเมื่อทำได้แล้ว การส่งงานต้องทำให้ได้ตามกำหนดระยะเวลา และปิดโครงการ เบิกเงินได้ ไม่มีค่าปรับ แค่นี้ก็ยากโขแล้ว ส่วนจำนวนของผู้ได้รับทุนไปแล้ว ทำงานไม่บรรลุตามเงื่อนไขสัญญา ถามว่ามีไหม ก็มี แต่เป็นเปอร์เซนต์น้อย แต่ที่ทำแล้วไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนดไว้ จนต้องขยายเวลา พบว่ามีพอสมควร และที่ปิดงานล่าช้า ก็มีมากเช่นเดียวกัน ก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการภายในที่กองทุน กำลังปรับปรุงอยู่
ต้องบอกว่า ขั้นตอนต่างๆ หลังจากได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อฯ ไปแล้ว ขั้นตอนจากนั้น ไม่หมูเลย เราไม่ได้ให้ไปเป็นก้อน มีกรรมการไปตรวจ ติดตามทุกงวดอย่างเข้มแข็ง แล้วเราก็ไม่ได้ใช้กรรมการจากคนในสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อฯ แต่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ประมาณร่วม 70 คนที่มีทั้งอาจารย์จากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ นิด้า มหิดล และอื่นๆ รวมถึงตัวแทนจากสมาคมต่างๆ เป็นต้น
-หากว่าผู้ได้รับทุน ผลิตเนื้อหาออกมา แล้วทางกองทุนฯ เห็นว่า content ออกมาไม่ตรงกับสิ่งที่นำเสนอตอนทำเรื่องขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณ ทางกองทุนจะทำอย่างไร?
ก็ให้แก้ไข การแก้งานเกิดขึ้นบ่อยมาก บางทีแก้กันสามรอบ จนผู้รับทุนร้องเลย เรื่องการแก้งานเป็นเรื่องธรรมดามากของกองทุนพัฒนาสื่อฯ
เงินทุกบาททุกสตางค์ที่กองทุนพัฒนาสื่อฯให้ไปกับผู้รับทุนทุกราย มีการตรวจสอบที่เข้มข้นมาก เข้มข้นจริงๆ เพราะกรรมการติดตามประเมิน ก็เหมือนกับกรรมการตรวจรับ มีการสั่งให้แก้งานตลอด เพราะงานที่จะส่งและออกมาจะออกมาห่วยไม่ได้ งานต้องออกมาดี
-การให้ทุนกับผู้เสนอขอรับทุน มีการล็อบบี้ ร้องขอมายังผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาให้ทุน ให้อนุมัติการให้ทุนกับบางคนที่ยื่นเรื่องมาได้หรือไม่?
ผมว่าล็อบบี้มาก็ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนร้องขอ ผมก็คิดว่ามี แต่ผมคิดว่า ยากมากสำหรับที่นี่ ยากจริงๆ เพราะหนึ่ง กระบวนการพิจารณามีหลายชั้น คือทุกที่มีหมดแหละ วิ่งเต้นผมยังเจอเลย แต่ผมไม่เคยให้อะไรได้เลย พอไปอยู่ขั้นคณะทำงาน ผมก็ต้องรักษาสถานะ ผมเป็นผู้จัดการ ผมจะไปวุ่นวาย ไปเที่ยวขอโครงการ ไม่เคยมี คือผมเองโชคดีอย่าง คือในระดับนโยบาย ตั้งแต่คณะกรรมการชุดใหญ่ คณะอนุกรรมการบริหาร คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ เชื่อหรือไม่ ไม่เคยมีใคร ยกหูมาหาแล้วบอกว่า “ช่วยดูให้หน่อย” ไม่มีเลย ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความเป็นตัวผมหรือไม่ ซึ่งผมพูดได้เต็มปากว่าไม่มี
-ฝ่ายการเมือง หรือคนในรัฐบาลจะมาสั่งอะไร ไม่ได้เด็ดขาดในการให้อนุมัติการให้ทุน?
ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการสั่งอะไรเลย แต่ถามว่าหากเป็นโครงการที่สนับสนุนนโยบายรัฐบาล และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ผมคิดว่าส่วนตัว ผมก็ยินดีที่จะสนับสนุน คำว่ายินดีที่จะสนับสนุนคือ เมื่อเรานั่งอยู่ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกับคณะอนุกรรมการบริหาร อย่างถ้าเป็นเรื่องการส่งเสริมให้เกิดความสามัคคี ก็เป็นเรื่องที่อยู่ใน พรบ. กองทุนพัฒนาสื่อฯ มาตรา 3 อยู่แล้ว หากเสนอมาแล้วเป็นโครงการที่ดี เราก็ยินดีจะสนับสนุน แต่ยืนยันไม่มีเลยประเภทจะมาสั่งอะไรต่างๆ
กองทุนพัฒนาสื่อฯ ผมว่าน่าจะเป็นหน่วยงานที่ดีที่สุด ล็อบบี้ยากจริงๆ หากจะทำ ต้องทำไม่รู้กี่ชั้น การพิจารณาการให้ทุน หลายชั้นมาก ที่ผมคิดว่าไม่คุ้ม แล้วเงินได้ไป ผู้รับทุนบ่นกันว่าที่นี่เขี้ยว คำว่าเขี้ยวก็คือ ไม่ใช่ที่ซึ่งใครจะมาแสวงหาผลประโยชน์ได้ และผมคิดว่าฝ่ายนโยบายเองก็รู้ และเงินก็น้อยมาก ที่กองทุนพัฒนาสื่อฯ ควรจะเป็นที่ซึ่งควรทำให้เกิดสิ่งดีๆ มากกว่า สำหรับคนที่ตั้งใจจริง ซึ่งบางทีเงินอาจจะน้อย แต่ถ้า ผู้รับทุนเขามีใจรัก เขาก็จะทุ่มเทแล้วเราก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน
-สมมุติว่า หากปีนี้ มีผู้ได้รับทุนไป แล้วปรากฏว่า ทำงานออกมาไม่ดี ส่งงานไม่ทันตามสัญญา แบบนี้จะติดแบล็กลิสต์หรือไม่ สามารถมายื่นขอรับทุนปีต่อไปได้หรือไม่?
ต่อให้ทำงานดี แต่หากงานไม่แล้วเสร็จก็ไม่ควรได้ อันนี้คือเรื่องที่เราคุยกันในชั้นพิจารณา เพราะยังทำงานเก่าไม่เสร็จ รวมถึงเงินมีน้อย แต่ผู้ต้องการขอรับทุนมีมาก เมื่อได้โอกาสไปแล้ว ต่อให้คุณเก่ง มีผลงานดี ทำงานมาดีมาก แต่ก็ควรเสียสละ เปิดให้ผู้อื่นบ้าง อันนี้คือหลักทั่วไปที่เราคุยกันตอนกำหนดกรอบการพิจารณาการให้ทุน ส่วนพวกได้ทุนไปแล้ว ทำออกมาไม่ดี ผมให้เจ้าหน้าที่ทำแบล็กลิสต์เลยว่ารายนี้ทำงานไม่ดี เราเป็นฝ่ายเลขา เราต้องให้ข้อมูลกับที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการให้ทุน เพราะฝ่ายเลขามีหน้าที่ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หากฝ่ายเลขาบอกว่า บริษัทแห่งหนึ่งรับทุนไปสองปีแล้ว ทำงานนอกจากไม่ได้เรื่องแล้ว ยังส่งงานไม่ตรงตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา ผมอยากถามว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายคนไหนจะกล้าอนุมัติ
ที่กองทุนพัฒนาสื่อฯ เรามีกลไกที่ดี เมื่อเทียบกับหลายแห่ง บางแห่งมีงบประมาณปีละเป็นพันล้าน แต่สังคมไม่เคยรู้เลยว่ากระบวนการพิจารณาเป็นอย่างไร สำหรับกองทุนพัฒนาสื่อฯ เงินมีไม่มาก แต่เราอธิบายกับสังคมทุกเรื่อง ผมขอให้ความมั่นใจว่ากองทุนพัฒนาสื่อฯ มีคุณค่าต่อสังคมและเป็นองค์กรที่ผมคิดว่าสามารถสร้างความเป็นองค์กรต้นแบบได้องค์กรหนึ่ง
เชื่อหรือไม่ว่า คนที่ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อฯ บางคน เขายังไม่นึกเลยว่าเขาจะได้ทุน เพราะเขาไม่มีเส้น เขาไม่รู้จักใครเลย อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกองทุนฯ เพราะแม้ไม่มีเส้น ไม่รู้จักใคร แต่ที่เขาได้เพราะเขาเขียนโครงการดี พรีเซนต์ดี ทีมงานน่าเชื่อถือ ยืนยันได้ว่า การอนุมัติทุนที่ให้แต่ละราย มีความโปร่งใส ไม่มีใบสั่ง
-ในฐานะผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ มียุทธศาสตร์การบริหารงานและพัฒนาองค์กรหลังจากนี้อย่างไรบ้าง?
ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ก็จะเริ่มจากข้างในองค์กรออกไปสู่ข้างนอกองค์กร โดยผมคิดว่า เรื่องสื่อสำคัญต่อสังคม ชีวิตของผู้คนในแต่ละวัน ต่างได้รับผลกระทบจากสื่อ ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อฯ ถูกออกแบบองค์กรมาให้มีบทบาทตรงนี้ และมีความสำคัญด้วย โดยหากพิจารณาจากพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 ภาพรวมส่วนใหญ่ถือว่าดี เช่นการมองสื่อ วัตถุประสงค์ในการให้มีกองทุนพัฒนาสื่อฯ ทันสมัยมากเช่น วัตถุประสงค์ในการให้มีการผลิตสื่อสำหรับเด็กเยาวชนและครอบครัว ที่เขียนไว้ในหมายเหตุท้าย พรบ. กองทุนพัฒนาสื่อฯ ด้วย ก็มาตามยุคตามสมัย โดยสิ่งที่ผมอยากทำจากข้างในไปข้างนอกก็คือ อยากเห็นบุคลากรของกองทุนพัฒนาสื่อฯ มีความรู้ความเข้าใจในภูมิทัศน์สื่อ บทบาทของสื่อ เข้าใจสภาพการณ์ของสื่อและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเข้าใจในภารกิจที่ทำอยู่
สิ่งที่อยากให้น้องๆ เจ้าหน้าที่ในสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อฯ ทำก็คือให้พวกเขามีวัฒนธรรมองค์กรในการเป็นนักคิด เป็นคนที่เข้าใจสื่อ เข้าใจผู้รับทุน เข้าใจปัญหาของสังคม และเข้าใจผลกระทบที่สังคมจะได้รับจากสื่อ ตั้งแต่ผมเข้ามารับตำแหน่ง ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ก็เริ่มเข้ามาปรับระบบ อะไรที่ไม่ชัดเจน หรือสิ่งที่ทำไปแล้วไม่มีมาตรฐานในการดำเนินการ และสิ่งที่จำเป็นต้องใช้คู่มือก็ทำ โดยได้เน้นเรื่องการพัฒนา การฝึกอบรม รวมถึงการพัฒนาศักยภาพภายในเพื่อให้เป็นรากฐานในการทำงานข้างนอก เช่นการออกไปสร้างผู้ผลิตให้เพิ่มขึ้นในทุกระดับ สร้างคน สร้างผู้ผลิตหน้าใหม่ เพราะเมื่อมีผู้ผลิตเพิ่มขึ้น เราก็หวังว่าจะมีชิ้นงานที่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้น
ผมก็หวังว่าในปีหน้า พ.ศ.2565 งานของกองทุนฯ ที่ออกไปแล้ว กองทุนก็จะเริ่มรวบรวมผลงานและในทางวิชาการ กองทุนพัฒนาสื่อฯ ควรจะเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของสื่อ โดยเราจะเป็นแหล่งอ้างอิงได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่สภาพการณ์ เรตติ้ง ความนิยม ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ การแจ้งถึงเนื้อหาในสื่อที่ควรระวังในการรับสาร-เนื้อหาที่ดี ที่สังคมควรให้ความสนใจ มันควรเป็นข้อมูลที่ออกไปจากเรา
รวมถึงกองทุนพัฒนาสื่อฯ ควรต้องเป็นเจ้าของคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ที่หลากหลายมากที่สุด เพราะเราทำงานร่วมกับผู้ผลิตในทุกระดับ กองทุนฯ จึงควรเป็น Content Provider ชั้นนำของประเทศ
ผมจึงคิดว่าในอนาคตเราจะเป็นองค์กรที่จะโกอินเตอร์ คือนำคอนเทนต์ของไทยไปสู่ตลาดคอนเทนต์ระดับโลก ซึ่งจะช่วยประเทศชาติ คือนำสิ่งที่เป็น Social Value ไปสู่สิ่งที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์การทำงานของผมในแต่ละปี หลังจากนี้จึงจะเห็นความแตกต่างชัดเจน
สื่อต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์ “ดร.ธนกร” ที่อยู่ในวงการสื่อมวลชนมาหลายสิบปี โดยเคยผ่านชีวิตการเป็นนักข่าวภาคสนาม สายการเมือง หนังสือพิมพ์หลายฉบับมาหลายปี เป็นผู้บริหารสื่อหลายแขนง รวมถึงมีบทบาทในองค์กรกำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช. ก่อนจะมาเป็น “ผจก.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ในปัจจุบัน ซึ่งเขากล่าวทิ้งท้ายถึง สภาวะข้อมูลท่วมท้น (Information Overload) และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนกับความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ว่า วันนี้เราเดินมาถึงจุดที่น่ากังวลเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่มันไหลท่วม ยิ่งหากไม่มีอะไรเป็นหลักยึด ที่สุดแล้วมันจะนำสังคมไปสู่ความโกลาหล เป็นสิ่งที่ผมในฐานะผจก.กองทุนพัฒนาสื่อฯ ขอเชิญชวนสังคมไทยให้กลับมา “ตั้งสติ” เช่นพูดให้น้อยลง, เชื่อให้น้อยลง และแชร์ให้น้อยลง โพสต์ให้น้อยลง เราต้องกลับมาสุขุมให้มากขึ้น รอบคอบให้มากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือ ทุกเรื่องต้องไม่รีบด่วนสรุป ต้องมีการรอคอย เช่น รอการหาคำตอบ เพราะสื่อต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม
“สื่อโดยเฉพาะสื่อหลักหรือสื่อดั้งเดิม อย่าไปกังวลกับจำนวนผู้ติดตามหรือจำนวนผู้ชมมากนัก แต่ให้คำนึงถึงเรื่องความน่าเชื่อถือ การให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวที่ยืนยันข่าวได้ เชื่อถือได้ และให้ยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี ถ้าทำหน้าที่ตรงนี้ได้ สื่อหลักก็อยู่ได้” ผจก.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวปิดท้าย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |