ไม่ใช่คำทำนายทาง “โหราศาสตร์” จากการคำนวณดวงดาวของผู้พยากรณ์ดวงชะตาโลก หรือประเทศไทย แต่เป็นตัวเลขในหน้ากระดานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ “ทรง” กับ “ทรุด” จากผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่เสียชีวิต ผู้ที่มีอาการหนักอยู่ในห้องไอซียู และผู้ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ
การแถลงของ ศบค.ยังคงเป็นการรายงานผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น พร้อมไปถึงมาตรการการควบคุม และอันดับเขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด แต่ก็มีข้อสงสัยบางประเด็นที่ถูกนำมาสอบถาม ในกรณีของการปกปิดตัวเลขเพื่อกดจำนวนผู้เสียชีวิตของ “โควิด-19” ลงไปให้อยู่ในระดับต่ำหรือไม่
เช่น กรณีผู้เสียชีวิตรายหนึ่งที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ และมีการนำศพมาเผาทันทีที่วัดแห่งหนึ่งในเทศบาลเมืองศรีสะเกษ โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิสวมชุด PPE ป้องกันการติดเชื้ออย่างรัดกุม ขณะที่มีการรายงานว่าชายผู้เสียชีวิตดังกล่าวเสียชีวิตด้วยอาการโรคปอดติดเชื้อจากแบคทีเรีย ถือเป็นการจงใจปกปิดข้อมูลเพื่อให้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่ำกว่าข้อเท็จจริงหรือไม่
โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข สั่งการให้มีการตรวจสอบโดยด่วน เบื้องต้นจากการรายงานพบว่าไม่มีการปกปิดข้อมูลการเสียชีวิตแต่อย่างใด ได้รับรายงานจาก นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.รพ.ศรีสะเกษ แจ้งว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นผู้ป่วยรายที่ 70 ของ จ.ศรีสะเกษ เป็นผู้ป่วยโควิดชายไทยอายุ 61 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ โดยได้มีการชี้แจงก่อนหน้านี้ว่าเป็นผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีสะเกษตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. ผลการรักษาได้หายจากโควิด-19 แล้ว มีผลตรวจเป็นลบไม่มีเชื้อ และย้ายออกมารักษาต่อในโรงพยาบาลเนื่องจากพบว่ามีอาการปอดติดเชื้อแทรกซ้อนซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ดังนั้นเพื่อเป็นการไม่ประมาท ทางโรงพยาบาลจึงได้ป้องกันโดยให้ดำเนินการกับผู้ที่เสียชีวิตรายดังกล่าวเหมือนกับผู้ที่เสียชีวิตทั้งหลายที่เป็นโควิด ทั้งเรื่องการสวมชุด PPE และประกอบพิธีทางศาสนาในการฌาปนกิจศพ จึงเกิดภาพดังกล่าวขึ้นมา
“อย่างไรก็ตาม มีการตรวจสอบและรายงานมาแล้วว่าเป็นการเสียชีวิตจากปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียร่วมกับการติดเชื้อของโควิด-19 เรื่องนี้จะเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการวิชาการของกรมควบคุมโรค เพื่อตัดสินว่าจะมีการใช้รายงานว่าเป็นการเสียชีวิตจากการติดเชื้อของโควิด-19 หรือไม่ ซึ่งระบบรายงานจะมีการทำให้ถูกต้องต่อไป ยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีการปกปิดข้อมูลต่างๆ ศบค.บริหารสถานการณ์มาปีกว่า หากมีความจริงอย่างไรจะนำเรียนต่อประชาชนโดยเร็ว”
ปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า “ตัวเลข” ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นสถานการณ์จริงจริงหรือ? และถึงเวลาที่อาจต้องกลับไปดู “นัยสำคัญ” ของผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิต ศักยภาพของระบบสาธารณสุข และเตียงในขณะนี้ว่าเพียงพอที่จะรับผู้ป่วยอาการหนักได้แค่ไหน และมีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่โซนอันตรายที่รัฐต้องขยับมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ก่อนที่จะ “เอาไม่อยู่”
ในทางตรงข้าม การบริหารสถานการณ์ของรัฐยังยืนยันที่จะไม่ล็อกดาวน์ โดย ศบค.ชี้แจงว่า รัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งฟังดูแล้วสวนทางกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค กลายเป็นข้อสงสัยว่า อาจเกิดจากศักยภาพด้านการคลังของรัฐที่จะใช้เยียวยาประชาชนหากต้องใช้ “ยาแรง” วงเงินกู้ที่เพิ่มเติมเพื่อใช้เยียวยาประชาชนที่ระบุไว้ 3 แสนล้านอาจไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับระลอกแรกที่ใช้เงินในหมวดนี้ไปถึง 6 แสนล้าน
ขณะที่ ประชาชนส่วนใหญ่ต่างใจจดใจจ่อกับการ “ฉีดวัคซีน” ที่ภาครัฐเองก็ยังไม่สามารถสร้างข้อมูลชุดเดียวเพื่อที่จะสื่อสารให้ประชาชนพอใจได้ การบริหารงานแบบ Single Command ที่รวบอำนาจการบริหารในสถานการณ์วิกฤติเป็นแนวทางที่ถูกต้องเพื่อจะแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว แต่คำถามอยู่ที่ว่า ผู้สั่งการมีความสามารถที่จะนำข้อมูลทั้งกระดานไปวางแผน และสั่งการให้เกิดประสิทธิผลมากกว่า
ยังไม่นับปัญหาการเมืองเรื่องของการกระจายวัคซีน เฉพาะในพื้นที่ส่วนกลาง ที่กรุงเทพมหานครเอง ที่สำนักงานอนามัย โรงพยาบาล ฯลฯ 2.5 ล้านโดส โควตาฉีดที่ฮับขนส่งบางซี่อให้กับบุคลากรด้านขนส่งสาธารณะ และการลงทะเบียนแบบออนไซต์ที่ถูกมองว่าเป็นการหาเสียงของพรรคภูมิใจไทยภายใต้กระทรวงคมนาคม หรือแม้กระทั่งการจัดโควตาให้กับผู้ประกันตน ของกระทรวงแรงงานอีก 1.5 ล้านโดส ซึ่งถูกมองว่าเป็นส่วนของพรรคพลังประชารัฐ
รวมไปถึงกรณี 9 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐได้เริ่มออกมาทวงถามความเป็นธรรมในการกระจายวัคซีนลงพื้นที่จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น และกระแสเสียงจาก ส.ว.ที่เริ่มบ่นเกี่ยวกับข้อมูลวัคซีนที่ยังไม่ชัดเจน
ขณะที่ยังต้องลุ้นกับ “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่ผู้บริหารบริษัทระบุกว้างๆ ว่าจะส่งมอบวัคซีนล็อตใหญ่ให้ทันในเดือน มิ.ย. หลังจากที่ขอเลื่อนคำขอของสาธารณสุขในการส่งมอบก่อนกำหนดในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า แท้จริงแล้วสัญญาระบุไว้ว่าอย่างไร
แต่หาก “แอสตร้าฯ ไทย” ได้รับการส่งมอบก็ต้องใช้เวลาในกระบวนการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งในแต่ละล็อตที่ส่งมอบต้องใช้เวลาในการสุ่มตรวจนานสุดใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และเร็วที่สุดประมาณ 10 วัน ดังนั้นห้วงเวลา 2 สัปดาห์นี้จึงเรียกได้ว่า “เฉียดฉิว” ก่อนที่จะมีอีเวนต์คิกออฟ
กระนั้น รัฐบาลก็ต้องเตรียมแผน 2 ไว้ “กันเหนียว” โดย “ซิโนแวค” ที่ถูกโจมตีเรื่องคุณสมบัติในการป้องกันสายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาอีก 3 ล้านโดสกำลังจะส่งมอบในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อกันสำรองให้เพียงพอ รองรับการระดมฉีดหลังวันที่ 7 มิ.ย. ที่กลายเป็น “วันวัคซีนแห่งชาติ” ถ้าแอสตร้าฯ ยังส่งได้ไม่เต็มจำนวนในช่วงต้นเดือน พร้อมลดปัญหาการ “ดึง-เฉือน” โควตาไปให้ “คลัสเตอร์” ที่เกิดขึ้นใหม่หลายจุดที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในช่วงนี้
ในภาพรวมแล้ว นอกจากความปั่นป่วนเรื่องวัคซีนแล้ว ยังมีการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ด้วยการวางมาตรการที่ยังหาจุดสมดุลระหว่าง “สาธารณสุข” กับ “เศรษฐกิจ” ไม่ลงตัว ที่สำคัญคือ “ความชะล่าใจ” ที่รัฐติดหล่มตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์อยู่ประมาณร้อยวัน จนเชื่อมั่นใน “วัคซีนหน้าตัก” ผลิตได้ทัน ลืมจัดเตรียม “แผนสอง” รองรับกรณีที่เลวร้ายสุด จึงไม่เจรจาซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่น
สถานการณ์ในปัจจุบันจึงกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ที่พันธนาการเชื่อมโยงกันไปหมด จะแก้ปมตรงไหนก็ยิ่งพันยุ่งเหยิง ท่ามกลางความน่ากังวลใจในสถานการณ์ของการระบาดจริง ว่า เรากำลังจะข้ามจุดที่ระบบสาธารณสุขเรารับมือไหวแล้วหรือยัง
อาจถึงเวลาที่ “การเมือง” ต้องถอยให้ “การแพทย์” เข้ามาแก้วิกฤติ!!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |