ต้องยอมรับว่า “เศรษฐกิจ” ช่วงนี้ไม่ได้สดใสมากนัก จากการระบาดของโควิด-19 สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการทั้งไม้อ่อน ไม้แข็งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แน่นอนว่ามาตรการที่ใช้มีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องของภาคธุรกิจ ตลอดจนรายได้ของประชาชนที่อาจจะลดลง สวนทางกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลายคนมองหาช่องทางการลงทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ นี่เองอาจเป็น “ช่องโหว่” ที่ทำให้กลุ่มแก๊งมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสชักจูงประชาชนให้นำเงินมาลงทุน แล้วหลอกว่าจะได้ผลตอบแทนกลับไปอย่างงาม จริงๆ ประเด็นนี้เกิดขึ้นมานาน มีหลายเคส หลายกรณีที่เป็นที่จับตามอง หลายหน่วยงานออกโรงเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่องให้ระวังแก๊งมิจฉาชีพที่มาหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ที่เรียกว่า “ธุรกิจการเงินนอกระบบ” ที่มีทั้งแชร์ลูกโซ่, ธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่, การชักชวนให้ร่วมลงทุนเก็งกำไรในธุรกิจต่างๆ และการเล่นแชร์ ซึ่งก็ยังคงเห็นมีประชาชนตกเป็นเหยื่ออย่างไม่ขาดสาย
กระทรวงการคลังก็เคยออกมาเตือนประชาชน ที่อาจจะถูกชักชวนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจการเงินนอกระบบ โดยเฉพาะที่พบเจออยู่บ่อยๆ ก็คือ “แชร์ออนไลน์” ที่มีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ โดยอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังการถูกชักชวนและถูกหลอกลวงจนสูญเสียทรัพย์สิน นั่นเพราะการชักจูงผู้อื่นให้เข้าร่วมลงทุนในแชร์ออนไลน์ที่มีลักษณะเป็น “แชร์ลูกโซ่” อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ซึ่งปัจจุบันมีบุคคลโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเล่นแชร์ผ่านเฟซบุ๊ก หรือแอปพลิชันไลน์ ตลอดจนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
พร้อมทั้งแนะนำวิธีการสังเกตลักษณะการลงทุนของ “แชร์ลูกโซ่” คือจะมีการชักจูงให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุน โดยเสนอผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาอันสั้น โดยผู้ที่ชักชวนประกอบธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้ประกอบธุรกิจใดๆ แต่ใช้วิธีการหมุนเวียนเงิน และเมื่อไม่สามารถหาสมาชิกมาลงทุนเพิ่มได้ก็จะปิดกิจการแล้วหนีไป!
“ธุรกิจการเงินนอกระบบ” สร้างความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และเงินเหล่านี้ก็ไม่ได้นำไปใช้ในการลงทุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนใหญ่จะหมดไปกับการใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง อีกทั้งการระดมเงินนอกระบบมักจะเกิดขึ้นสวนทางกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทำให้มีเงินออมในระบบน้อยลง ทั้งยังเกิดผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจการเงินภายในระบบ ส่งผลให้เงินฝากของสถาบันการเงินไหลออกไปสู่นอกระบบ
ตลอดจนมีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง และเกิดความเดือดร้อนไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลรุนแรงต่อความเป็นอยู่ ภาวะทางสังคม สุขภาพจิตของผู้ถูกหลอกลวงอันจะมีผลกระทบไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมด้วย
สำหรับวิธีการป้องกันตัวเองจากการถูกหลอกลวง เริ่มจากอย่าหลงเชื่อบุคคล หรือบริษัทที่ชักชวนให้นำเงินมาลงทุนในธุรกิจใดๆ ก็ตามที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงมากๆ ในเวลาอันรวดเร็ว และเมื่อมีบุคคลมาชักชวนให้ลงทุน อย่าเพิ่งตัดสินใจในทันที ลองตั้งหลายๆ คำถามที่เกี่ยวกับการลงทุนนั้น ถามคนที่มาชักชวนให้ลงทุนว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน รายได้ที่ได้รับมีความเป็นไปได้หรือไม่
นอกจากนี้ ต้องตรวจสอบข้อมูลของบุคคล และบริษัทอย่างรอบคอบก่อนว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดจากเอกสารต่างๆ อาทิ แผ่นพับ เอกสารการชักชวนหรือการจ่ายผลตอบแทน การจดทะเบียนบริษัท การจดทะเบียนเป็นบริษัทขายตรง เป็นต้น รวมถึงขอคำแนะนำและตรวจสอบหลักฐานที่ได้รับจากบริษัทกับหน่วยงานของทางราชการที่รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ท้ายที่สุดหากถูกหลอกลวงแล้ว ประชาชนสามารถร้องเรียน แจ้งเบาะแส หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง, สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สศค. กระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักคดีอาญาพิเศษ1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เป็นต้น
ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีคดีฉ้อโกงประชาชนในการชักชวนลงทุนตามที่นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ได้มีการชักชวนลงทุนทำธุรกิจกระเป๋าแบรนด์เนมว่า เพื่อไม่ให้เป็นการหลงกลกลุ่มมิจฉาชีพ ประชาชนต้องสังเกตว่าธุรกิจดังกล่าวนั้นเป็นธุรกิจลักษณะไหน สำหรับธุรกิจที่ไม่มีสินค้าแล้วมีการดำเนินการให้มีการลงทุนชักชวน โดยอ้างว่าลงทุนในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์, ลงทุนเรื่องการออมต่างๆ ตามที่นายประสิทธ์ได้ทำ แล้วบอกว่าจะได้ผลกำไรจากการลงทุน ถือว่าไม่ใช่การตลาดแบบตรงหรือการขายตรงตาม พ.ร.บ.การตลาดแบบตรงและขายตรง พ.ศ.2545 ถือเป็นการกระทำที่ผิด
"ธุรกิจลักษณะการลงทุนแบบนี้จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คือเรื่องการลงทุนการประกอบธุรกิจต้องมีการขออนุญาต จดทะเบียน แต่กรณีของนายประสิทธิ์ เป็นลักษณะที่อ้างว่ามีการลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่ได้ระบุว่าอสังหาริมทรัพย์อะไร ซึ่งในรายละเอียดบอกแค่หากมีบัตรเครดิต มีเงินฝากสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้ แล้วจะได้ผลกำไรจากการลงทุนนั้น กรณีนี้เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่อย่างแน่นอน เนื่องจาก พ.ร.บ.การตลาดขายตรงกำหนดเรื่องการได้รับผลตอบแทนในลักษณะการสมัครสมาชิกและได้ผลประโยชน์จากการชักชวนคนมาสมัครสมาชิก ถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่" นางนฤมลกล่าว
สำหรับวิธีสังเกตเฝ้าระวังกลุ่มมิจฉาชีพ มีดังนี้ 1.ธุรกิจที่แอบอ้างมีตัวตนหรือไม่ เพราะไม่ว่าธุรกิจอะไรก็ตาม หากเราต้องการที่จะเข้าไปซื้อหุ้นหรือลงทุน จะเห็นตัวตนของธุรกิจนั้นๆ เช่น ลงทุนกับธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงาน จะเห็นว่ามีกลุ่มพลังงานกี่บริษัท ดังนั้นบริษัทที่แอบอ้างต้องมีตัวตน มีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน การซื้อหุ้นหรือตราสารทั้งหลาย จะมีข้อมูลตรวจสอบของแต่ละหน่วยงาน 2.มีการพูดชักจูงด้วยการเอาผลกำไรและทรัพย์สินมาโชว์ให้ดูว่าทำแล้วรวย และ 3.ธุรกิจที่เกิดขึ้นหรืออ้างว่ามีสินค้า
"หากเป็นธุรกิจแบบตรงจริงๆ สามารถเห็นได้ง่ายๆ เช่น ร้านค้าที่มีชื่อเสียง เช่น แอมเวย์, กิฟฟารีน และมิสทิน ซึ่งได้มีการขออนุญาตจดทะเบียนที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นนายทะเบียน" นางนฤมลกล่าว
นางนฤมลกล่าวด้วยว่า การร้องเรียนผ่านสมาคมผู้บริโภคที่ผ่านมานั้นค่อนข้างเยอะในเชิงปัญหา แต่ผู้ที่มาร้องเรียนแบบจริงจังมีเพียง 1-3 ราย ส่วนที่เป็นกลุ่มก้อนที่เจอปัญหาเหล่านั้น มักจะมีการพูดคุยหารือกันในเฟซบุ๊กหรือในเพจของตัวเอง สุดท้ายก็ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกรณีที่ผ่านมานั้นผู้เสียหายได้รับเงินค่าเสียหายหรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องดูเป็นกรณี ซึ่งต้องดูว่าเส้นทางการเงินตรวจสอบแล้วสามารถที่จะอายัดทรัพย์สินหรือเงินได้หรือไม่ ต้องดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจโดยเร็ว เพื่อให้ตำรวจประสานไปที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน
"ขณะนี้กลโกงมีหลากหลายรูปแบบในการลงทุน หากผู้บริโภคจะใช้วิธีการลงทุนเพื่อเป็นการออมหรือเป็นการสร้างอนาคตให้ตัวเอง การศึกษาข้อมูลของการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ และการที่จะลงทุนกับธุรกิจที่ไม่มีตัวตนจะทำให้มีความเสี่ยง และสิ่งสำคัญอย่าหลงเชื่อว่า ผู้ที่มาชักชวนนั้นรวย คนที่รวยอาจจะโกงเราก็ได้ด้วยความรวยของเขา โดยการนำบ้านหลังใหญ่ๆ หรือรถหรูๆ มาโชว์ ธุรกิจแบบนี้เรียกภาษาชาวบ้านคือ "ธุรกิจที่ใช้ความโลภของมนุษย์เป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจ และช่องทางการโกง" นางนฤมลกล่าว
อย่างไรก็ตาม กลโกง การหลอกลวงที่พบในขณะนี้คือ แชร์ลูกโซ่และการพนันออนไลน์ จะใช้วิธีให้ลูกค้าได้ก่อน และพอสุดท้ายจะเอาเงินคืนไปเรื่อยๆ เพราะอยากรวย แรกๆ อาจจะได้มาบ้าง เพื่อให้ผู้เล่นตายใจ เล่นแล้วได้จริง จากนั้นผู้เล่นจะมีการบอกต่อว่าเล่นแล้วได้จริง เมื่อหลวมตัวเข้าไปเล่นทำให้หมดตัวได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด หากจะลงทุนอะไรก็แล้วแต่ควรจะศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่โดนหลอก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |