การว่างงานของแรงงานทักษะต่ำจากวิกฤตโควิด-19: ปัญหาที่รอไม่ได้


เพิ่มเพื่อน    


ในขณะที่ประเทศไทยกำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโคโรน่าไวรัส (COVID-19) ระลอกสาม ที่ยังไม่มีตัวเลขใดๆที่จะให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็ววันนี้ การพูดถึงนโยบายฟื้นฟู หรือแม้แต่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วกับแรงงานไทย รวมถึงการปรับโครงสร้างอย่างรวดเร็วของภาคธุรกิจที่ส่งผลต่อตลาดแรงงานโลกทำให้เราไม่สามารถชะลอการแก้ปัญหานี้ออกไปได้

หนึ่ง แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นแรงงานกลุ่มที่มีความเปราะบาง และศักยภาพในการปรับตัวน้อยที่สุด

รายงานเมื่อโควิด-19 ปิดเมือง: ผลกระทบต่อแรงงานไทยในมิติ supply-side หลากมิติของความเสี่ยงที่ตลาดแรงงานไทยต้องเผชิญ ของสถาบันวิจัยป๋วย อึ้งภากรณ์ (เมษายน 2563) ระบุว่าแรงงานไทยกว่า 6.1 ล้านคนได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในการระบาดระลอกที่ 1 โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ กลุ่มการศึกษา กลุ่มที่พักแรมและร้านอาหาร และกลุ่มกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องในการระบาดระลอกที่สองและสาม ในมุมของลูกจ้าง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ตั้งแต่ระลอกหนึ่งเป็นแรงงานหญิง แรงงานที่มีการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาหรือต่ำกว่า และแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ แรงงานกลุ่มรายได้ระดับล่าง (รายได้ 6,000 – 9,000 บาทต่อเดือน) ถึงแรงงานที่ได้ผลกระทบในระยะแรกนี้ ส่วนหนึ่งจะได้กลับมาทำงานหลังมาตรการล็อกดาวน์ แต่จำนวนชั่วโมงในการทำงานลดลง หลายคนตกงานหลังจากนั้นเพราะนายจ้างเลิกกิจการหรือโดนเลิกจ้าง และอีกกลุ่มใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันทางสังคม (social safety net) การประสบภาวะการเงินตึงตัวตั้งแต่ช่วงเริ่มการระบาดในไตรมาสแรกของปี 2563 ต่อเนื่องจึงสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงเครื่องมือในการรับมือกับผลกระทบที่ตามมา

ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (พฤษภาคม 2564) ซึ่งเป็นตัวเลขก่อนเกิดการระบาดรอบที่สาม ประเทศไทยมีประชากรอยู่ในกำลังแรงงาน 38.75 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้ว่างงาน 0.76 ล้านคน และผู้มีงานทำ 38.75 ล้านคน คิดเป็นอัตราว่างงาน 2% ซึ่งดูไม่มาก แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่า ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน (ผู้เสมือนว่างงาน) มีจำนวนสูงถึง 4.38 ล้านคน ส่วนใหญ่รับจ้างงานอยู่ในธุรกิจที่มีความเปราะบาง และอาจมีการปิดกิจการหรือลดจำนวนพนักงาน/ชั่วโมงทำงานเพิ่มเติมหลังการระบาดระลอกสาม นอกจากนี้แล้ว จากตัวเลขผู้ว่างงาน 7.6 แสนคนนั้น 2.45 แสนคนเป็นคนที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และ 3.19 แสนคนเป็นผู้ที่เคยทำงานในภาคบริการและการค้าซึ่งเป็นภาคส่วนที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้ว่างงานในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้รับการจ้างงานเป็นเวลานาน

สอง ภาคการเกษตรไม่สามารถรองรับแรงงานคืนถิ่นได้เหมือนวิกฤตที่ผ่านมา

จากฐานข้อมูลผู้ใช้มือถือประมาณ 20 ล้านคนของ True Digital Group ประเทศไทยมีแรงงานย้ายคืนถิ่นเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน 2563 รวมกันถึงสองล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในอายุวัยทำงาน (21–60 ปี) และมากกว่า 50% เป็นผู้มีรายได้น้อย (บิลค่าโทรศัพท์เดือนละ 0-90 บาท) การอพยพแรงงานเมืองที่อายุน้อยและมีความรู้เทคโนโลยีกลับไปชนบทสร้างโอกาสในการพลิกโฉมภาคการเกษตรไทยและการกระจายความเจริญสู่เศรษฐกิจฐานรากได้ ถ้ามีแรงสนับสนุนจากภาครัฐ (ข้อมูลจากรายงานแรงงานคืนถิ่นหลังโควิด 19 จุดเปลี่ยนภาคเกษตรไทยและเร่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค: ข้อมูลจาก Mobile Big Data โดย ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ วริศ ทัศนสุนทรวงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เมษายน 2564))

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบัน ชนบทสามารถรองรับประชากรย้ายกลับถิ่นฐาน แต่ภาคการเกษตรมีศักยภาพจำกัดในการจ้างแรงงานกลับภูมิลำเนาได้เหมือนสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง จากรายงานการประเมินความเสียหาย ผลกระทบ และการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่นต่อภาวะโรคระบาด COVID-19 โดย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และสถาบันพระปกเกล้า (ตุลาคม 2563)ระดับครัวเรือน การย้ายกลับภูมิลำเนา ไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนมากนัก เพราะยังเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ และผลผลิตทางการเกษตรที่นำมาใช้ในการบริโภคในครัวเรือนได้  แต่เมื่อมองเรื่องการจ้างงานแล้ว 76% ของครัวเรือนเกษตรไทยพึ่งพารายได้จากนอกภาคการเกษตรมาตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด-19 เพราะรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิต ภัยธรรมชาติ และราคาสินค้าในช่วงเวลานั้นๆ และครัวเรือนเกษตรมีภาระหนี้สินสูง โดยข้อมูลสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปี 2561 ประมาณ 50% ของครัวเรือนชาวนามีหนี้สินมากกว่า 200,000 บาท และอีก 20% มีหนี้สินมากกว่า 400,000 บาท การที่รายได้จากสมาชิกครอบครัวที่ทำงานนอกภาคการเกษตรลดลง รายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการกลับมาอยู่บ้านนั้นเป็นภาระปากท้องให้กับครอบครัว ทำให้เกิดภาวะการเงินตึงตัว ในปี 2563 ครอบครัวมากกว่า 70% ใช้เงินออมและการขายสินทรัพย์ในการรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ (ข้อมูลจากรายงานครัวเรือนเกษตรไทยในวิกฤตโควิด-19: หลักฐานเชิงประจักษ์จากการสัมภาษณ์เกษตรกรทั่วประเทศ โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ (พฤษภาคม 2563))

นอกจากนี้แล้ว จำนวนการถือครองที่ดินที่ลดลงของครัวเรือนเกษตรไทย บวกกับแรงงานอายุน้อยไม่มีความคุ้นเคยกับการทำการเกษตร จึงขาดความรู้และทักษะในการเริ่มทำงานได้ทันที แรงงานย้ายกลับจึงออกไปรับจ้างงานอื่นในพื้นที่ หรือย้ายกลับถิ่นฐานเพียงเพื่อรองานในเมืองกลับมาเปิดเหมือนเดิม ในขณะที่เกษตรกรรายใหญ่ผู้ถือครองทุน นิยมจ้างแรงงานต่างชาติมากกว่าเพราะมีค่าจ้างที่ต่ำกว่า เช่น แรงงานลาวค่าจ้างวันละ 200 บาทเทียบกับการจ้างงานคนไทยวัน 300 บาท เป็นต้น นอกจากปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตภาคเกษตร และความรู้และทักษะในการทำงานแล้ว ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ภัยแล้ง ทำให้แรงงานคืนถิ่นมองไม่เห็นอนาคตทางเศรษฐกิจการเกษตรในชุมชน การจะทำให้แรงงานกลุ่มนี้ย้ายถาวรกลับมาอยู่ในภูมิลำเนาเพื่อพลิกโฉมภาคการเกษตร และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนได้ ต้องอาศัยแรงผลักดันและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นจากรัฐ

สาม การปรับรูปแบบการทำงานในภาคธุรกิจจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลระยะยาวต่อโครงสร้างตลาดแรงงาน

ในระดับโลก รายงาน The future of work after COVID-19 โดย McKinsey Global Institute ได้พูดถึงสามเทรนด์สำคัญที่ส่งผลต่อการจ้างงานแล้ว ได้แก่ (1) รูปแบบการทำงานที่มีการผสมผสานระหว่างการทำงานที่บ้าน และการทำงานในออฟฟิศ โดย 10% ของลูกจ้างในประเทศกำลังพัฒนาเปลี่ยนมาทำงานในรูปแบบนี้มากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ระบบขนส่งเพื่อเดินทางมาทำงาน ร้านอาหาร และร้านค้าในโซนออฟฟิศในเมืองจะน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้เกิดการหดตัวของการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องในระยะยาว  (2) การเติบโตของการบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ มีผลต่อการเคลื่อนย้ายการจ้างงาน (transition) ของแรงงานทักษะต่ำ ซึ่งเมื่อก่อนจะมีการจ้างงานเยอะในธุรกิจบริการที่เป็นร้านค้า และร้านอาหาร มาเป็นการจ้างงานในภาคการขนส่งสินค้าจากผู้ขายไปสู่ผู้บริโภค (distribution centers and last mile delivery) และ (3) การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น (automation and AI) ทำให้งานที่ถูกทดแทนได้ด้วยหุ่นยนต์ เช่น สายงานการผลิตในโรงงาน แคชเชียร์ในร้านที่ใช้ customer kiosks แทนมนุษย์ จะหายไปถาวร

การเปลี่ยนแปลงของงานอนาคตที่มาเร็วขึ้นมากเป็นผลจากที่ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนในช่วงโรคระบาดทำให้แรงงานกลุ่มเปราะบาง เช่น แรงงานทักษะต่ำ แรงงานผู้หญิง และแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รวดเร็ว และยาวนาน เพราะไม่มีทรัพยากรในการปรับตัวสู่ความต้องการในตลาดแรงงานรูปแบบใหม่ และไม่มีเวลาพอที่จะปรับตัวได้ รัฐบาลและธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญมากในสร้างทักษะดิจิตัล การเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ท และการ retrain แรงงานเพื่อการโยกย้ายงานไปในอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งนี้ จากรายงาน The Future of Jobs Report 2020 ของ World Economic Forum (WEF) มีข้อมูลเรื่องงานอนาคตในแต่และประเทศ ทำให้เห็นว่าภาคส่วนที่ตื่นตัวและเริ่มทำการพัฒนาทักษะแรงงานสู่งานรูปแบบใหม่ เป็นการลงทุนของบริษัทมากกว่าฝั่งรัฐ การที่แรงงานกลุ่มเปราะบางในประเทศไทยออกมาจากงานแล้ว และรัฐบาลยังไม่มีกลไกลหรือนโยบายที่จัดการกับเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม มีความเสี่ยงสูงมากว่าผู้ว่างงานจะอยู่นอกตลาดงานยาวซึ่งเป็นการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ทั้งสามปัจจัยเบื้องต้น ทำให้เห็นถึงความลึก กว้าง และเร่งด่วนของปัญหาที่รัฐควรจะต้องรีบดำเนินการ ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่จะทำเศรษฐกิจเราโตได้ในระยะยาว การออกแบบนโยบายสาธารณะที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และทำให้ทรัพยากรมนุษย์ถูกนำมาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาจึงเป็นเรื่องที่รอไม่ได้

คอลัมน์เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
เอด้า จิรไพศาลกุล
มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
CEO, เทใจดอทคอม
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"