สมเด็จพระสังฆราชฯ ประทานพระคติธรรมวันวิสาขบูชา ทรงแนะ 7 ย่างก้าวแห่งธรรมะสู่ความเป็นเลิศ สติสำคัญก้าวแรก วธ.เผยผลโพล ปชช.ตั้งใจลด ละ เลิกอบายมุข ทำบุญใส่บาตร รักษาศีล ไม่ว่าร้ายคนอื่น แนะสืบสาน “วันอัฏฐมีบูชา” ชวนเวียนเทียนออนไลน์ ฟังธรรมะเดลิเวอรีผ่านแอป "อยู่บ้าน สร้างบุญ"
วันที่ 25 พ.ค. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ความว่า ดิถีวิสาขบูชา อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นวันสำคัญสากลของโลก ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ชวนให้ระลึกถึงเหตุการณ์ เมื่อพระโพธิสัตว์สิทธัตถราชกุมารเสด็จอุบัติขึ้นบนโลกนี้ ดังปรากฏเรื่องราวในพระไตรปิฎกว่า พระองค์ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทอดพระเนตรทิศทั้งหลาย ทรงพระดำเนินย่างพระบาทไปเจ็ดก้าว แล้วทรงเปล่งพระอาสภิวาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก เราคือผู้เป็นใหญ่แห่งโลก” ดังนี้ อุปมาดั่งการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ให้ต่างตระหนักว่าเราทุกคนล้วนเป็นผู้กำหนดชีวิตของตนเอง สามารถพัฒนาตนให้ประเสริฐ ให้พ้นทุกข์ ให้มีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ ถึงขั้นจะรู้แจ้งสัจธรรมเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังได้ โดยหาใช่เพราะการดลบันดาลของพรหม เทพ หรือชะตาฟ้าดินแต่อย่างใด
พุทธบริษัททั้งหลายจึงพึงพิจารณาถึงย่างก้าวแห่งธรรมะ 7 ประการ อันนำไปสู่การตรัสรู้ ซึ่งเรียกว่า “โพชฌงค์ 7” ประกอบด้วย สติ ความระลึกได้, ธรรมวิจยะ การศึกษาสอดส่องธรรมะ, วิริยะ ความพากเพียร, ปีติ ความเอิบอิ่มใจโดยปราศจากอามิส, ปัสสัทธิ ความสงบกายใจ, สมาธิ ความมีจิตตั้งมั่น และอุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง
อย่างไรก็ดี ก่อนจะย่างไปให้ครบทั้ง 7 ก้าวสู่ความเป็นเลิศในโลกนั้น มนุษย์ผู้ปรารถนาอิสรภาพจำเป็นต้องเริ่มต้นฝึกฝนตนเองให้มั่นคงในย่างก้าวสำคัญก้าวแรกแห่งการพัฒนา ได้แก่ “สติ” กล่าวคือ ให้รู้เท่าทันในการเคลื่อนไหวในอารมณ์ที่ปรุงแต่งจิตและในความคิดทั้งหลายให้ได้ หากปราศจากสติเสียแล้ว องค์ธรรมแห่งความสำเร็จสูงสุดสำหรับมนุษยชาติประการอื่นๆ ย่อมไม่อาจจะติดตามมาได้เลย
ขอสาธุชนจงมุ่งมั่นหมั่นศึกษาอบรมเจริญสติ ให้รู้เท่าทันกาย วาจา และใจของตนเอง อันนับเป็น “ปฏิบัติบูชา” ที่พึงกระทำต่อพระรัตนตรัย เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประทีปส่องใจเวไนยนิกรทั้งปวงสืบไปตลอดกาลนาน เทอญ
วันเดียวกัน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนที่มีต่อวันวิสาขบูชาในสถานการณ์โควิด-19 ในรูปแบบออนไลน์ “อยู่บ้าน สร้างบุญ” จากผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 7,507 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาค ผลสำรวจพบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.25 ทราบว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ส่วนความสำคัญของวันวิสาขบูชา ผู้ตอบแบบสอบถามอันดับ 1 ร้อยละ 78.38 เห็นว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ อันดับ 2 ร้อยละ 73.50 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อันดับ 3 ร้อยละ 69.55 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน และอันดับ 4 ร้อยละ 52.88 เป็นวันสำคัญสากลของโลก
นายอิทธิพลกล่าวอีกว่า เมื่อสอบถามถึงหลักธรรมในวันวิสาขบูชา ผู้ตอบแบบร้อยละ 92.83 ทราบว่าหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชาคือ “อริยสัจ 4” ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ส่วนกิจกรรมที่เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ตั้งใจจะทำในวันวิสาขบูชาปีนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 63.47 ลด ละ เลิกอบายมุข อันดับ 2 ร้อยละ 59.01 ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับและเจ้ากรรมนายเวร และอันดับ 3 ร้อยละ 55.47 รักษาศีล ไม่ว่าร้าย ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส
นอกจากนี้ ผลสำรวจได้ถามถึงหลักธรรมที่ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 76.97 ศีล คือมีระเบียบวินัยในตนเองและเคารพต่อกฎระเบียบสังคม เช่น มาตรการป้องกันของรัฐบาล อันดับ 2 ร้อยละ 66.64 สติ คือการรู้ตนเองเสมอว่า ไม่ควรใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก และอันดับ 3 ร้อยละ 66.20 สมาธิ คือตั้งมั่นทำสิ่งใดด้วยความตั้งใจ เช่น ล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง
นายอิทธิพลกล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วธ.ได้ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมวันวิสาขบูชามุ่งเน้นประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ในรูปแบบออนไลน์ “อยู่บ้าน สร้างบุญ” ให้พุทธศาสนิกชนทราบถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้ตอบแบบสอบระบุกิจกรรมที่สนใจเข้าร่วม อันดับ 1 ร้อยละ 64.11 ไหว้พระ สวดมนต์ที่บ้าน อันดับ 2 ร้อยละ 47.36 ตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรมออนไลน์ และอันดับ 3 ร้อยละ 45.65 เวียนเทียนออนไลน์ นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงกิจกรรม/วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ควรสืบสาน รักษาอย่างเร่งด่วน ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า วันอัฏฐมีบูชา แรม 8 ค่ำ เดือน 6 คือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน ซึ่งชาวบ้านจะประกอบพิธีตามแต่ความศรัทธาของแต่ละท้องถิ่น มีการจัดกิจกรรม เช่น ทำบุญ ตักบาตร และเวียนเทียน อีกทั้งควรจัดกิจกรรมแข่งขันสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ การแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ เพราะเป็นกิจกรรมที่สามารถสอดเเทรกความรู้ สาระที่มีประโยชน์ ช่วยกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |