โควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนกินระยะเวลายาวนานจะเข้าสู่เดือนที่ 3 ของการแพร่ระบาดในอีกไม่กี่วัน ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันทรงๆ อยู่ในหลัก 2 พันมาพักใหญ่ๆ
ยังไม่นับจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันที่กว่า 10 รายบ้าง กว่า 20 รายบ้าง กว่า 30 รายบ้าง ไม่ได้เห็นตัวเลขหลักเดียวกันมานานแค่ไหน
ภาพรวมตัวเลขการติดเชื้อในต่างจังหวัดแม้ดูจะดีขึ้น มีจังหวัดสีขาว (ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่) จังหวัดสีเขียว (มีรายงานผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย) กว่าค่อนประเทศ แต่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ยังไม่สามารถขีดเดดไลน์ว่า ศูนย์กลางการแพร่ระบาดที่ กทม.และปริมณฑลจะจบได้เมื่อไหร่
และแม้กระทรวงสาธารณสุขจะประเมินสถานการณ์เอาไว้คร่าวๆ 2 เดือน ตามระยะเวลาที่ขอให้ขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป แต่ตัวเลขที่ทรงตัวในระดับที่สูงมานาน ทำให้ยังไม่เห็นสัญญาณและแนวโน้มว่าจะเบาบางได้เมื่อไหร่
หากยังเป็นแบบนี้ นอกจากสถานการณ์ของประเทศในทุกมิติจะไม่ดีขึ้นแล้ว สถานการณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่าน่าเป็นห่วงด้วยเหมือนกัน
เพราะยิ่งการแพร่ระบาดกินเวลานานออกไปเท่าไหร่ ผลกระทบอื่นๆ จะตามมาด้วย ไม่ใช่แค่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต แต่จะลามไปถึงระบบเศรษฐกิจในประเทศอีกนับไม่ถ้วน
ผู้ประกอบการจะเริ่มแบกภาระไม่ไหว ซึ่งมันจะกระทบเป็นห่วงโซ่ไปถึงลูกจ้างที่จะเริ่มตกงานมากขึ้น ลำพังมาตรการแจกเงินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเราชนะ ม33เรารักกัน หรือคนละครึ่ง เฟส 3 เป็นแค่มาตรการเลี้ยงไข้ พยุงปากท้องระยะยาวๆ ไม่ได้
แม้จะมีการออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 7 แสนล้านบาท เพื่อหวังต่อลมหายใจหล่อเลี้ยงประชาชน แต่ก็โดนตั้งข้อสังเกตถึงการจัดสรรที่ลักลั่นเข้าไปอีกคำรบ
ขณะที่ความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่ากันตามเนื้อผ้า นาทีนี้น้องๆ วิกฤติ ผลจากการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระลอกนี้ที่ถูกก่นด่าเยอะเรื่องแก้ปัญหาไม่ตรงจุด การบริหารจัดการไม่มีความชัดเจน สับสน
อย่างเรื่องวัคซีนโควิด-19 กว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้คนอยากฉีดได้ต้องใช้เวลานาน แต่มิวายก็ต้องมาเจอปัญหาเรื่องระบบบริหารจัดการวัคซีนอีก โดยเฉพาะประเด็นวอล์กอิน
ตอนนี้ไม่ว่าจะชี้แจงอย่างไร แต่กระตุ้นความมั่นใจของคนไม่ได้ อย่างล่าสุดประเด็นเรื่องการกระจายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเดือน มิ.ย. ที่จะเริ่มฉีดเต็มระบบ เอาเข้าจริงตอนนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่แน่ใจว่าประเทศจะได้รับการจัดสรรตามที่มีการประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ หรือต้องเจอโรคเลื่อนอีก
ยังไม่นับรวมถึงปัญหาแทรกซ้อน หลังมีกลิ่นฉาวเรื่อง “วัคซีนมีเส้น” ในบางพื้นที่ หรือนักการเมืองฉวยโอกาสเอาเรื่องวัคซีนไปขึ้นป้ายหาเสียง
หลายอย่างมันอีนุงตุงนังกันไปหมด
ขณะที่สถานการณ์การเมืองก็มีสัญญาณไม่ดีหลายอย่าง โดยเฉพาะปรากฏการณ์อดีตแนวร่วม-อดีตคนกันเอง-อดีตคนที่มีศัตรูคนเดียวกัน บางส่วนถอยห่าง บางส่วนหันมาเป็นคนขับไล่
ก่อนหน้านี้มีหลายคนไปร่วมกับเวทีไทยไม่ทนของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ล่าสุดเป็นนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา กับพวกอดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่ออกมาขอให้รัฐบาลเสียสละลาออก
สำหรับ “ทนายนกเขา” คือคนคนเดียวกับแกนนำ คปท. ที่ร่วมกับ กปปส.ในการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนนำมาสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้อดีตมิตร อดีตมหามิตรของ พล.อ.ประยุทธ์ หลายคนเลือกจะปลีกตัวหรือตีตัวออกห่าง หลังผิดหวังกับสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้จาก พล.อ.ประยุทธ์
แน่นอนว่า แกนนำเหล่านี้อาจไม่ได้มีเพาเวอร์ถึงขั้นบีบไล่รัฐบาลได้ แต่หากย้อนกลับไปดูปรากฏการณ์ของหลายๆ รัฐบาลก่อนที่จะอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตลอดจนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะเห็นว่าก็มีปรากฏการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้น คือ แนวร่วมเอาใจออกห่าง หรือพลิกขั้วไปเป็นศัตรู
พรรคร่วมรัฐบาลที่ว่าเหนียวแน่น ออกมายืนยันว่าไม่ทอดทิ้งแกนนำ แต่ปรากฏการณ์ “หมาตายเห็บกระโดด” เกิดขึ้นนับไม่ถ้วนในทางการเมืองไทย เมื่อเห็นสัญญาณแล้วว่า ไปไม่รอดแน่
เช่นเดียวกับการตะลอนยื่นให้องค์กรต่างๆ ตรวจสอบรัฐบาล หลายคนอาจมองว่ายากจะทำอะไรได้ เพราะกลไกเหล่านี้ถูกมองว่าอยู่ฝั่งผู้มีอำนาจ แต่อย่าลืมว่า หากวันหนึ่งสถานการณ์เปลี่ยน เรื่องร้องเรียนเหล่านี้ที่ถูกเก็บไว้ในลิ้นชักอาจเป็นตัวแปรสำคัญ
ดูรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่แต่เดิมคนเฉยๆ ตอนมีการยื่นให้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว กับการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯ สมช.ไม่เป็นธรรม แต่พอถึงจุดพลิกทางการเมืองขึ้นมา กลายเป็น 2 เรื่องที่ทำให้รัฐบาลกระเด็นตกจากอำนาจมาแล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |