สถานการณ์การติดเชื้อโควิดรายใหม่ของไทยในเวลานี้ ไม่มีทีท่าจะลดลงแม้แต่น้อย และอยู่ในระดับสูงระดับ 2-3 พันเคสต่อวันมาเกือบจะ 2 เดือนแล้ว แถมทุกวันนี้ก็มีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน เกิดจุดไหนก็สั่งปิดและล้อมคอกเป็นจุดๆ ไป
แต่ถึงล้อมคอกไปได้ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ในภาพรวมนั้นดีขึ้น ดังจะเห็นจากข่าวที่ตอนนี้ โควิดทุกสายพันธุ์ได้แฝงตัวเข้ามารุมล้อมไทยไปทุกด้านแล้ว แต่การแก้ปัญหากับการรับมือก็ดูเหมือนว่ายังคงตามหลังเชื้อโรคตลอด
มาถึงจุดนี้ต้องยอมรับว่าโควิดระลอกนี้จัดการได้ยากมาก เพราะติดง่าย แพร่ระบาดไว และการที่มันค่อยๆ แทรกซึมไปแต่ละพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่ ซึ่งมีการรวมตัว เช่น ชุมชนแออัด, ตลาด, โรงงาน ซึ่งแม้ว่าภาพรวมประเทศไม่ได้ล็อกดาวน์ จนทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่การระบาดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องไม่มีวันจบระยะเวลายาวนาน ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน
โดยเฉพาะเรื่องของความเชื่อมั่นผู้บริโภค สังเกตได้จากในช่วงนี้ก็ไม่ค่อยมีใครกล้าออกจากบ้าน หรือออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้คนที่ทำมาค้าขาย ต่างก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่มีลูกค้ามาซื้อของ ดังที่เห็นสภาพตลาดร้าง หรือห้างร้างในปัจจุบัน
เมื่อวิเคราะห์จากตัวเลขของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยชัดเจนว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือน เม.ย.2564 ปรับตัวลดลงอีกครั้งมาอยู่ที่ระดับ 43.5 จาก 47.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต ในทุกภาคและทุกอาชีพ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 40.2 มาอยู่ที่ระดับ 36.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับลดลงจากระดับ 52.3 มาอยู่ที่ระดับ 48.2 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
ปัญหาต่อไปก็คือ หากคนกลุ่มนี้มีภาระหนี้สินที่จะต้องผ่อนชำระ แต่ไม่สามารถหาเงินมาหมุนต่อได้ ก็จะก่อให้เกิดหนี้เสียตามมา ซึ่งก็จะไปกระทบกับธุรกิจธนาคารอีกทอด
แม้ว่าตอนนี้ไทยยังพอมีข่าวดีในเรื่องของการส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่องจากคู่ค้าต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด แต่มันก็มีเฉพาะผลดีต่อคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่สำหรับภายในประเทศก็ค่อนข้างฝืดเคืองมาก ต้องพึ่งการอัดฉีดงบประมาณจากภาครัฐเป็นหลัก ดังที่จะเห็นจากโครงการเราชนะ และ ม 33 เรารักกัน แต่มันก็เป็นเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ล่าสุด Krungthai COMPASS ออกมาประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจสำหรับปี 2021 ลดลงเหลือ 0.8%-1.6% และประเมินมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจอาจสูงถึง 4.0-5.8 แสนล้านบาท แล้วแต่ว่าจะถึงเคสที่แย่ ที่ไทยต้องเจอการระบาดยาวนานถึง 5 เดือน
มาถึงจุดนี้ก็เริ่มมีบางแนวคิดแล้ว ถึงเวลาที่รัฐต้องใช้ยาแรงอีกครั้งหรือไม่ นั่นก็คือ การล็อกดาวน์ ซึ่งในครั้งนี้อาจจะทำในระยะสั้น เพียง 2 สัปดาห์ เพื่อให้หยุดทุกกิจกรรม ในจังหวัดที่มีการระบาดหนัก เพื่อที่จะได้เบรกการแพร่ระบาดให้อยู่หมัด กดตัวเลขคนติดเชื้อให้ลดลง เรียกว่า เจ็บแต่จบ
ประเด็นนี้รัฐต้องดีดลูกคิด ประเมินสถานการณ์เอาเองว่า จะเลือกแนวทางไหน ถ้าเลือกแนวทางประคับประคอง ในระยะยาวเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน แต่ถ้าเลือกใช้ยาแรง การระบาดก็อาจจะจบลงเร็ว
เครื่องมือทั้งหมด รัฐบาลมีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่จะจัดการกับเจ้าศัตรูตัวจิ๋วอย่างไร เพราะในอีกแง่ เรื่องของวัคซีน ซึ่งเป็นอาวุธสู้โควิด ก็ยังไม่สามารถพึ่งพาได้ในเวลานี้.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |