สศช.เปิดภาวะสังคมไทยไตรมาส1/64คนว่างงานพุ่ง 7.6 แสนคน


เพิ่มเพื่อน    

 

24 พ.ค.2564-นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส1/2564ว่า ภาวะการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้น 0.4% จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในภาคเกษตรตามภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวยังหดตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นสูง โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 0.76 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.96%สูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิด ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามขณะจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมอยู่ที่ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 การทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึง 129.1% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ จากภาพรวมที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานลดลง สะท้อนการจ้างงานและการทำงานที่ไม่เต็มเวลา ซึ่งจะทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน

ทั้งนี้มีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ ถ้าโควิดยังไม่จบลงง่าย ๆ จะส่งผลกระทบต่อแรงงานในกลุ่มเอสเอ็มอีตกงานมากขึ้น หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน เช่นเดียวกับแรงงานในภาคการท่องเที่ยวกว่า 7 ล้านคน อาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น และต้องหาอาชีพใหม่ และยังพบว่าตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอจะรองรับนักศึกษาจบใหม่ในปี 64 ที่จะมีอีกประมาณ 4.9 แสนคน อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง 6 ไตรมาส ติดต่อกัน และการว่างงานเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าแรงงานมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ข

ขณะที่ผู้ว่างงานจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มเป็นผู้ว่างงานระยะยาวมากขึ้น หรือว่างงานมากกว่า 12 เดือน โดยการว่างงานเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อรายได้ และทำให้ทักษะแรงงานลดลง อีกทั้งแรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้างจำนวนมากได้กลายเป็นแรงงานนอกระบบ ตั้งแต่การระบาดรุนแรงในปี 63 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง และขาดหลักประกันทางสังคมด้วย

สำหรับแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี64 คาดว่าสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อน COVID-19 ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ปี64 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ชะลอตัวลง

ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้ รวมทั้งเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม

ทั้งนี้ไตรมาส1/64 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง 65.4% เป็นการลดลงในเกือบทุกโรค โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลง94.3% ผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลง74.0% และผู้ป่วยโรคปอดอักเสบลดลง41.4%แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว รวมทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว อาทิ การบริโภคผักและผลไม้น้อย การบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงกว่ากลุ่มอื่น


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"