เร่งปลดล็อกทางออกคำสั่ง ศบค. เปิดทางประชุม กมธ. จุรินทร์ขีดเส้นพิจารณางบฯ จบตามเงื่อนไขภายใน 105 วัน โรมเศร้าใจไอเดียประชุมออนไลน์ขายไม่ออก หวังสกัดคลัสเตอร์สภา ชี้ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา
เมื่อวันอาทิตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ออกมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลต่อการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปตามกฎที่ผู้มีหน้าที่เป็นผู้กำหนด แต่อย่างไรก็ตาม ในการที่จะดำเนินการในสภาต่อไปอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับท่านประธานรัฐสภาและวิปทั้ง 3 ฝ่ายที่จะต้องมาคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร สำหรับในส่วนของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 หากไม่มีการประชุม หรือยังไม่สามารถที่จะประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้ ก็จะมีผลกระทบในแง่ของเงื่อนเวลา เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ได้ส่งถึงรัฐสภาแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 105 วัน
นายจุรินทร์กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ได้ส่งถึงสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ดังนั้นในเงื่อนเวลา 105 วันนี้ ได้เริ่มนับหนึ่งแล้ว หากผ่านวาระที่ 1 และไปสู่วาระที่ 2 ของการตั้งกรรมาธิการ แล้วหากกรรมาธิการไม่สามารถประชุมได้ ก็จะมีผลกระทบในเรื่องเงื่อนเวลาการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่วิปก็จะต้องไปพิจารณาร่วมกัน ทั้งในส่วนของวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภาด้วย ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะว่าหลังจากผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว วุฒิสภาก็มีเงื่อนเวลาที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วันกำกับไว้ด้วยตามรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการประชุมหารือกันของวิป 4 ฝ่าย เพื่อหาข้อยุติเรื่องการเปิดประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ว่าเรื่องนี้คงจะต้องมีการหารือกันในวิป 4 ฝ่าย เดิมเจตนารมณ์ของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ คือต้องการให้ดำเนินการตามปกติภายใต้มาตรการที่เข้มแข็ง แต่ส่วนตัวมองว่าต้องฟังสาธารณสุขจะดีที่สุด โดยใจเรานั้นอยากประชุมอยู่แล้ว แต่หากทางสาธารณสุขบอกว่าจะทำให้เสี่ยง หรือมีข้อคิดเห็นว่าไม่ควรประชุม เราก็ควรงดไปก่อน ซึ่งในการประชุมวิป 4 ฝ่ายพรุ่งนี้คงได้ข้อสรุป
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พยายามผลักดันให้มีเรื่องของออนไลน์เข้ามา แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่สำเร็จอาจเพราะหลายคนยังไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ถ้าสามารถแก้ไขข้อบังคับต่างๆ โดยเฉพาะการประชุมสภาให้สามารถประชุมออนไลน์ได้ก็จะดี โดยจะทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะใกล้ชิดและทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ในสภา
นายรังสิมันต์กล่าวว่า ทั้งนี้ หากเลื่อนการประชุมไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือจะส่งผลกระทบหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องโควิด-19 เพราะ ส.ส.ต้องใช้พื้นที่สภาพูดแทนประชาชน ผลักดันและเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆ
"ในหลายเรื่องเราสามารถ แต่ต้องยอมรับว่าหลายเรื่องในทุกวันนี้ต้องขับเคลื่อนด้วยการด่า พอไม่มีสภาต้องโพสต์เฟซบุ๊ก ใช้พื้นที่สื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะต่างๆ แล้วกว่าที่รัฐบาลจะได้ยินในสิ่งที่ประชาชนต้องการ หากมีการเลื่อนออกไปก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่ ตอนนี้สถานการณ์ก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ฉะนั้นสมมุติว่าเลื่อนประชุมออกไปทุกอย่างก็จะมีผลกระทบไปหมด การบริหารประเทศ การแก้ปัญหาจะยิ่งยากขึ้น” นายรังสิมันต์ระบุ
ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อวิจารณ์ว่ากระทรวงกลาโหมได้งบประมาณมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในความเป็นจริงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสาธารณสุขนั้นยังมีในส่วนของกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเมื่อรวมงบประมาณเข้าด้วยกันแล้ว ด้านการสาธารณสุขได้รับการจัดสรรมากกว่ากลาโหมกว่า 9.2 หมื่นล้านบาท?
ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันที่ 31 พ.ค. งบประมาณปี 65 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาวาระ 1 พรรคเพื่อไทยจะใช้เวทีนี้ในการซักฟอกรัฐบาลถึงความล้มเหลวแก้ปัญหาด้านต่างๆ รวมถึงเรียกร้องพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล ที่มีพรรคการเมืองบางพรรค ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ ในการแก้ปัญหาเรื่องโควิดวัคซีน ว่าอย่าพายเรือให้ พล.อ.ประยุทธ์นั่งอีกต่อไป ให้ยกมือไม่รับหลักการวาระ 1 พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 เมื่อรวมเสียงในสภา รวมมือได้มากกว่านายกฯ จะมี 2 ทางเลือกคือลาออกหรือยุบสภา
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว มีใจความว่า งบประมาณปี 65 กระจกสะท้อนตัวตนของรัฐบาล ไร้ฝีมือ ไม่มีวิสัยทัศน์ ปกป้องพวกพ้อง ทอดทิ้งประชาชน นี่หรือคือการจัดงบประมาณในสภาวการณ์ที่ประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤติอย่างรุนแรงมากกว่าครั้งใดๆ มีการจัดงบประมาณแบบปกป้องผลประโยชน์ของพวกพ้อง ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในขณะที่กระทรวงซึ่งมีภารกิจในการดูแลทางด้านสาธารณสุข การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านแรงงาน ด้านการพัฒนาสังคม กลับถูกปรับลดลงในสัดส่วนที่มากกว่างบประมาณด้านความมั่นคงและงบทางการทหาร สถานการณ์ วันนี้เรากำลังเผชิญกับสงครามเชื้อโรค และสงครามด้านเศรษฐกิจ ต้องการการป้องกันทางสุขภาพและความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ มิใช่สงครามที่ต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์มาห้ำหั่นเพื่อเอาชนะทางการทหาร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |