'ใช้จ่าย' ซึมพิษโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

 

         การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ถือว่าหนักหนาไม่แพ้รอบก่อนๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ผู้ป่วยอาการหนัก รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิต ขณะที่การพบคลัสเตอร์ของการระบาดก็ยังมีให้พบเห็นได้อย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยที่สร้างความวิตกกังวลในแง่สาธารณสุขอยู่ไม่น้อย แม้ว่ารัฐบาลจะเร่งเรื่องการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ก็ดูเหมือนว่ายังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ทำให้การกระจายวัคซีนยังทำได้ไม่เต็มที่มากนัก

            ส่วนในมิติของ “เศรษฐกิจ” แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะยังอยู่ในระดับสูง แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ใช้มาตรการเด็ดขาดอย่าง ล็อกดาวน์ แต่ก็มีมาตรการในการขอความร่วมมือ การจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วน ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนยังคงเดินหน้าต่อไปได้ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องการแพร่ระบาดอยู่ค่อนข้างมาก

            โดยก่อนหน้านี้ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ได้ออกมาประเมินสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ว่า แม้การระบาดดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากที่สุดเมื่อเทียบกับการระบาดในระลอกอื่นๆ โดยเฉพาะในระลอกแรก เพราะมาตรการของภาครัฐยังไม่เข้มงวด ยังสามารถทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บางส่วน แต่ก็คาดว่าการระบาดในระลอกที่ 3 นี้ จะมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศอยู่ที่ 1.4-1.7% ต่อจีดีพี ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของการแพร่ระบาด ซึ่งอัตราดังกล่าวสูงกว่าการระบาดในระลอกที่ 2

            ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและยืดเยื้อ จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและความเชื่อมั่น โดยจากข้อมูลพบว่า ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 ปรับลดลงค่อนข้างเร็ว ขณะที่ความเชื่อมั่นโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ

            ขณะที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ยังคงส่งผลกระทบต่อการบริโภคและภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยการบริโภคภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัวในไตรมาสที่ 1/2564  หลังจากขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากครัวเรือนมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ และการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง

            แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ  และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่เข้ามาช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือน เช่น โครงการเราชนะ, โครงการคนละครึ่ง, โครงการม33เรารักกัน เป็นต้น ส่วนการส่งออกภาคบริการยังคงหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังคงซบเซา

            “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) หรือสภาพัฒน์” ได้เสนอแนะแนวทางในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจปี 2564 โดยมองว่ารัฐบาลต้องควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและอยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว ผ่านการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของภาครัฐอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนให้ประชาชนอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

            ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ต้องดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด โดยเร่งรัดติดตามมาตรการต่าง ๆ ทั้งด้านการเงินและการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ควบคู่กับการออกมาตรการเพิ่มเติม พร้อมทั้งต้องขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และสร้างตลาดใหม่ให้แก่สินค้าที่มีศักยภาพ ควบคู่กับการเร่งรัดการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม

            นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง เร่งแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและประกอบธุรกิจ รวมถึงดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุน และต้องรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปจนถึงประเด็นสำคัญคือ “การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ".

 

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"