รูปแบบทางเท้าถนนพระรามที่ 1 เมื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ ทำฟุตบาทมาตรฐาน เดินได้จริง
ปัญหาทางเท้าหรือ ฟุตบาท ในกรุงเทพฯ สร้างประสบการณ์การใช้งานให้กับทุกคนต่างกันไป ต้องยอมรับว่า ทางเท้าในหลายพื้นที่ยังเดินไม่สะดวก เพราะเต็มไปด้วยอุปสรรคทั้งฝาท่อ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา กระถางต้นไม้ หรือที่หนักๆ ฟุตบาทชำรุดเสียหาย เป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำขัง กระเบื้องแตกยับ เกิดการร้องเรียนเพื่อให้แก้ไขมาตลอด ไม่นับการโพสต์รูปฟุตบาทพังลงโซเชียลมีให้เห็นเป็นประจำ
มีความพยายามจะปรับปรุง”ฟุตบาท” ปัญหาใหญ่ระดับประเทศ เมื่อกรุงเทพมหานคร(กทม.) จะพัฒนาทางเท้าต้นแบบที่ถนนพระรามที่ 1 ตั้งแต่แยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็นทางเท้าใจกลางเมือง และมีผู้คนใช้งานเดินทางสัญจรเป็นจำนวนมากแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
งานนี้ กทม. จับมือกับนักภูมิสถาปัตย์ สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ออกแบบทางเท้าให้มีมาตรฐานเหมาะสมกับทุกคนในสังคม ให้ได้ใช้ทางเท้าอย่างสะดวก ปลอดภัย และเสมอภาค ทั้งคนทั่วไปและผู้พิการ
สภาพทางเท้าถนนพระรามที่ 1 ช่วงสยาม ก่อนปรับปรุงสู่ทางเท้าต้นแบบ กทม.
ความคืบหน้าทางเท้าถนนพระราม 1 ขณะนี้รูปแบบเบื้องต้นแล้วเสร็จร้อยละ 90 กทม. จัดประชุมหน่วยงานสาธารณูปโภคที่ต้องรื้อย้ายทรัพย์สินที่อยู่บนทางเท้าและใต้ทางเท้าหรือขยับตำแหน่งแล้ว โดยงานปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนพระราม 1 จะใช้งบฯ 90 ล้านบาท ปัจจุบันสำนักการโยธาทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการทำงานร่วมกันระหว่างกทม. และหน่วยงานสาธารณูปโภคทั้งหมด จะเริ่มก่อสร้างปรับปรุงทางเท้าได้ในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ คาดว่าใช้เวลา 8 เดือนจะแล้วเสร็จ
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า ปัญหาทางเท้าในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ย่านใจกลางเมืองโดนละเลยมานาน สำหรับทางเท้าถนนพระราม 1 มีความกว้างมาก บางช่วงกว้างถึง 8 เมตร และผู้คนใช้งานจำนวนมากแต่ละวัน มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เราจะต้องทำใหม่ให้เป็นหน้าตาของเมือง มีการใช้สอยเหมาะกับพื้นที่ และส่งเสริมให้ทุกคนใช้งานทางเท้าได้จริง พร้อมทั้งแก้ปัญหาพื้นฐานที่จะเป็นต้นแบบใช้ปรับปรุงทางเท้าทั่วกรุงเทพฯ
“ ทางเท้าถนนพระราม 1 กำลังจะเปลี่ยนไป ถ้าทำเสร็จแล้ว คนเดินในเมืองได้สะดวก จะเปลี่ยนเมือง พื้นที่นี้เป็นย่านเศรษฐกิจใจกลางกรุงเทพฯ เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง จุดนับพบแหล่งใหญ่ของคนเมือง มีการผสมผสานของกิจกรรมใช้ประโยชน์ ทั้งห้างสรรพสินค้า วัด สถานที่ราชการ ที่ทำงาน รวมถึงร้านค้า คนใช้งานมีทุกเพศทุกวัย รวมถึงชาวต่างชาติ เราออกแบบในรูปแบบที่สวยงาม คงทน และมีความยั่งยืน รวมทั้งจัดระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคลงใต้ดินให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง เพื่อไม่ให้ทางเท้าถูกขุดเจาะเกิดความเสียหาย “ นายไทวุฒิบอก
อุปสรรคบนทางเท้าถนนพระราม 1 ทั้งเสา ฝาท่อ สิ่งที่ไม่จำเป็น
งานปรับปรุงสำคัญๆ ประกอบด้วยนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ด้วยเทคโนโลยีท่อร้อยสาย วางท่อประปาให้อยู่แนวเดียวกับท่อสื่อสาร นำสิ่งที่รกรุงรังและไม่จำเป็นออก เช่น เสา ป้ายโฆษณา ฝาบ่อพัก คอกต้นไม้ ราวเหล็ก
ทำทางเดินที่เรียบเสมอกัน ปูกระเบื้องที่เหมาะสมมากขึ้น ปรับระดับทางเท้าให้สูงจากพื้นถนนไม่เกิน 10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ชันเกินไป เวลาทางลาด และปรับปรุงโคมไฟฟ้าส่องสว่างระบบสมาร์ท ไลท์
ต้นแบบทางเท้านี้จะเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความร่มรื่นในเมือง คัดเลือกต้นไม้ทนต่อสภาพแวดล้อม ดูแลรักษาง่าย และกำหนดแนวปลูกต้นไม้ที่ชัดเจน เป็นแนวเดียวกับเสาไฟ เว้นที่ปลูกต้นไม้ให้เหมาะสม แก้ปัญหาที่ผ่านมาต้นไม้โตขึ้นรากชอนไช ทำให้กระเบื้องที่ปูพื้นผิวหลุดหรือกระเดิดขึ้นมา เวลาคนเดินสะดุด ไม่ปลอดภัย
ฟุตบาทต้นแบบถนนพระราม 1 สวยงาม ปลอดภัย ส่งเสริมการเดินในเมือง
นายไทวุฒิ บอกว่า ทางเท้าต้นแบบถนนพระราม 1 รูปแบบจะเอื้อกับคนพิการทางสายตา มีเบรลล์บล็อก (Braille Block) หรือไกด์ดิง บล็อก (Guiding Block) แผ่นปูพื้นนำทางบนทางเท้าสำหรับคนพิการทางสายตาที่จดจำง่าย ทั้งปุ่มให้หยุด ให้เดินตรงไป จะต้องเดินได้จริง ไม่เดินไปเจอต้นไม้ รวมถึงมีทางลาดลดระดับที่เหมาะสมสำหรับคนใช้วีลแชร์ เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการใช้งาน ที่ผ่านมา เราละเลย เราไม่ได้เป็นคนใช้งานจริง จึงเกิดปัญหาขึ้น ตอนนี้คนพิการที่ใช้งานมาบอก มีส่วนร่วมพัฒนา จะทำให้ดี ให้ได้มาตรฐาน
ปัญหาทางเท้าเสียหายที่ผ่านมา ผอ.สำนักการโยธา บอกว่า ส่วนหนึ่งมาจากการใช้งานผิดประเภท ทั้งการจอดรถบนทางเท้า และขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ทำให้ทางเท้าเสียหาย จะต้องเอาจริงเอาจังดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิด
ฟุตบาทริมถนนเพชรเกษม มีทั้งเสา ต้นไม้ เดินได้ไม่สะดวก
ทางเท้าที่ถนนพระราม 1 เป็นโมเดลพัฒนาทางเท้าทั่วกรุง ซึ่งตามแผน นายไทวุฒิ เผยว่า กทม. มีโครงการปรับปรุงทางเท้าอีก 30 เส้นทางในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เน้นพื้นที่ประวัติศาสตร์ มีคุณค่า ตั้งแต่ทางเท้าย่านคลองโอ่งอ่าง คลองหลอด คลองวัดราชบพิธ บางลำพู วัดพระแก้ว เชื่อมโยงจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร จากการประชุมจะยกเลิกป้อมตำรวจ 11 ป้อม และปรับขนาดป้อมตำรวจให้เล็กลง ขณะนี้กำลังออกแบบให้เหมาะสม โดยเปิดให้ทุกฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็น และจะขอจัดสรรงบประมาณต่อไป
“ การเดินในเมือง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และย่านการค้าโดยรอบ แถมยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว เกิดแลนด์มาร์คใหม่ๆ ทำให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น ในช่วงโควิดที่ผู้คนเดินทางลดลง ใช้งานทางเท้าน้อยลง ก็เป็นโอกาสให้เร่งปรับปรุงทางเท้าทั่วกรุง “ นายไทวุฒิ กล่าว
ทางเท้าที่ได้มาตรฐานจะช่วยให้ทุกคนเดินทางได้อย่างสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องหวั่นฟุตบาทเป็นตัวปัญหา นำไปสู่ความไม่ปลอดภัย ทั้งยังส่งเสริมใช้ทางเท้าอย่างมีคุณภาพ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือขนส่งสาธารณะ แก้ปัญหาเมืองเรื่องฝุ่น PM2.5 ลดเกาะความร้อนในเมืองอีกด้วย