อาหารส่วนเกินจากซุปเปอร์มาร์เก็ตรวบรวมและนำมาใช้ประโยชน์
สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 3 ระลอก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้คน มีแรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง ทำให้ตัวเลขคนว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนเปราะบาง ซึ่งมีรายได้ต่ำในเมืองใหญ่ต้องประสบปัญหาตกงาน ขาดเงินรายได้ ไม่มีกำลังที่จะเลี้ยงดูครอบครัว แม้กระทั่งซื้อหาอาหารมาบริโภคในครัวเรือน
อีกด้านหนึ่งในความเป็นสังคมเมืองที่มีกระแสบริโภคนิยมกลับมีอาหารที่เหลือทิ้งมากมายกลายเป็น"ขยะอาหาร" จำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อปี
“ขยะอาหาร” จำนวนนี้ประกอบไปด้วยอาหารส่วนเกินจำนวนมากที่ภาคธุรกิจไม่สามารถขายได้ ถูกนำไปทิ้งอย่างน่าเสียดาย กลายเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมและการจัดการ ทั้งที่ในความเป็นจริง อาหารเหล่านี้ยังมีคุณภาพดีและสามารถบริโภคได้ เพียงแต่เป็นสินค้าที่ไม่มีผู้ซื้อในระบบตลาดเท่านั้น ทั้งที่ มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารคุณภาพดีเหล่านี้ได้ ทั้งกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ เด็กกำพร้า และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
เบเกอรี่ยังมีคุณภาพดี สามารถกินได้
มีความพยายามลดปัญหาขยะอาหารจากอาหารส่วนเกิน ซึ่งเป็นตัวการก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอน พร้อมกับช่วยเหลือคนเมืองในกรุงเทพฯ ที่มีรายได้น้อย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง ผ่านโครงการ”ครัวรักษ์อาหาร” ของมูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ Thai SOS ซึ่งร่วมกับผู้ประกอบการด้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจโรงแรมที่มีการให้บริการอาหารกับลูกค้ามากกว่า 50 ราย อาทิ Tesco Lotus, Tops Supermarket, Central Food Hall, Big C, โรงแรมในเครือ Hilton, โรงแรมในเครือ Mariott, และ ตลอดจนกลุ่มเครือข่ายจิตอาสาในชุมชน สร้างระบบ"การถ่ายโอน" อาหารส่วนที่เกินจากความต้องการของตลาด ไปยังครัวชุมชนที่กระจายรอบๆกรุงเทพฯ
ยิ่งในช่วงโควิดระบาด ได้มีการนำร่องโครงการอย่างเร่งด่วน ใน 10 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนย่านนางเลิ้ง ,ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุดดีน เขตหนองจอก , ชุมชนในเขตมีนบุรี , ชุมชนแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ ,ชุมชนบ้านมั่นคงบางพลัด ,ชุมชนเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ชุมชนดอนเมือง และชุมชนซอยพระเจน เขตลุมพินี
อาหารส่วนเกินเหล่านี้ ถูกนำมาประกอบเป็นอาหารใหม่ ที่ถูกหลักโภชนาการ และแจกจ่ายให้คนในชุมชนดังกล่าว นอกจากนี้ ยังส่งเสริมลดใช้พลาสติก โดยแนะนำให้ครัวเรือนต่างๆ นำภาชนะจากบ้านมาใส่อาหารเอง หรือใช้ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ
ทวี อิ่มพูลทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางอาหาร Thai SOS บอกว่า ในกรุงเทพฯ มีอาหารส่วนเกินปริมาณมาก เป็นอาหารที่ผลิตมาเกินการจำหน่าย และสินค้าใกล้หมดอายุ แต่ยังเป็นอาหารปลอดภัยต่อการบริโภค ยังรวมถึงสินค้าอาหารที่ไม่ตรงเสปค เช่น แครอทรูปทรงงอ กะหล่ำปลีใบนอกเป็นรู แม้กระทั่งไก่ที่ไม่ทอดให้เหลืองกรอบ ซึ่งสามารถกินได้ หรือ อาหารส่วนเกินอีกประเภท เป็นพวกของแห้ง และขนมที่ต้องเก็บออกจากชั้นวางจำหน่ายก่อนหมดอายุ นอกจากนี้ อาหารปรุงสุกจากไลน์ปุฟเฟต์โรงแรม ก็สามารถบริโภคได้เช่นกัน ก็นำมาแจกจ่ายแทนที่จะนำไปทิ้ง
"ส่วนที่ยากในการส่งต่ออาหารไปถึงชุมชน ก็คือ พวกอาหารปรุงสุกจากไลน์ปุฟเฟต์ ผลิตภัณฑ์นม และอาหารแช่เข็ง เมื่อเราของพวกนี้ มาจากซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือโรงแรมแล้ว ต้องเก็บในรถห้องเย็นเพื่อรักษาอุณหภูมิ ในการส่งต่อ และรีบขนส่งอาหารเหล่านี้ไปยังชุมชนได้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง " ทวี เล่า
เปิดครัวในชุมชนนำอาหารส่วนเกินมาประกอบเป็นเมนูอร่อย
การส่งต่ออาหารส่วนเกิน ไม่ได้ทำเพียงแค่การนำไปแจกจ่ายและหยิบยื่นให้ชุมชนเท่านั้นก็เรียบร้อยแล้ว ทวี บอกอีกว่า ในการทำงานของครัวรักษ์อาหาร จะมีขั้นตอนติดต่อกับผู้นำชุมชน ให้ความรู้ก่อนเปิดครัวในชุมชน มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทางอาหาร เข้าไปแนะนำการจัดตั้ง วิธีจัดการกับวัตถุดิบที่ชาวบ้านไม่คุ้นเคย เช่น บร็อคโคลี่ แครอท รวมถึงผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรส ที่มีหลากหลาย รวมถึงปลาแปรรูปชนิดต่างๆ ชุมชนจะได้ประยุกต์ใช้วัตถุดิบในการปรุงอาหารมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในชุมชน เพราะคนในชุมชนจำนวนมากตกงาน คนในชุมชนมีภูมิปัญญาทำอาหาร มีรสมือ เกิดการคิดเมนูจากวัตถุดิบที่ได้จากการบริจาค เช่น ชุมชนนางเลิ้งเด่นแกงกะทิกับส้มตำ บางพลัดเด่นต้มจับฉ่าย และมีสูตรทอดมันรสเด็ด
“ ครัวรักษ์อาหารช่วยบรรเทาความเดือดร้อนคนมีรายได้น้อย และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่โครงการก็เผชิญปัญหาปริมาณอาหารส่วนเกินที่ได้บริจาคลดลง เห็นได้ชัดเจนจากโควิดระลอกที่ 3 อาหารส่วนเกินจากห้างร้าน ธุรกิจอาหาร โรงแรมหายไป ขณะที่อาหารส่วนเกินจากซุปเปอร์มาร์เก็ตยอดลดลง 30% สภาพของสินค้าคุณภาพลดลงและใกล้วันหมดอายุมากกว่าเดิม เพราะกำลังซื้อคนลดลง ส่วนการประชุมหรืองานจัดเลี้ยงยกเลิกจากโควิดระบาด ขณะนี้ยังต้องการผู้บริจาคอาหารส่วนเกินจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม “ ทวี กล่าว
ในความห่วงใยสังคม ทวีบอกทิ้งท้ายด้วยว่า ทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงความสำคัญของการลดขยะอาหาร เพราะตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ผู้บริโภคมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ไม่เพิ่มขยะอาหาร ขณะเดียวกันรัฐต้องมีมาตรการลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการที่บริจาคอาหารส่วนเกิน สร้างกลไกรวบรวมและนำอาหารส่วนเกินไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด แทนที่จะเสียงบประมาณในการกำจัด นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการขยะอาหารเพิ่มโอกาสและลดการสูญเสียอาหารที่ผลิตขึ้นมา
แต่ละมื้อจากครัวที่กระจายใน กทม. ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านกลุ่มเปราะบาง พวกเขาเข้าถึงอาหารที่ดีถูกหลักโภชนาการ ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตกงาน ส่วนประโยชนฺด้านสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่า ได้ลดปัญหาขยะอาหารในระบบห่วงโซ่อุปทานอาหารในกรุงเทพฯ ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนที่มาจากอาหารส่วนเกิน
รับอาหารส่วนเกินจากโรงแรม เก็บในรถห้องเย็นเตรียมส่งต่อ
ศุภชัย มงคลนิตย์ ผู้ประสานงานฝ่ายโครงการ Thai SOS เผยข้อมูลปริมาณอาหารส่วนเกินที่รวบรวมได้เฉพาะในช่วง ม.ค. – เม.ย. 2564 อยู่ที่ประมาณ 404 ตัน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการทำลายไปแล้ว 641,835 บาท เทียบจากค่าทำลายแบบฝังกลบขยะอาหารที่ราคา 1,585 บาท/ตัน (อ้างอิงจากงานวิจัยการวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยของโรงจัดการขยะแบบครบวงจร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี) และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 760 ตันในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้มีแค่โครงการเร่งด่วนครัวรักษ์อาหารเท่านั้น ยังมีโครงการอาหารส่วนเกินที่ทำอยู่ในสภาวะการณ์ปกติด้วย
ทั้งนี้ เทียบเป็นมื้ออาหารแล้ว อาหารส่วนเกินดังกล่าวนำมาปรุงสุกแล้วแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ขาดแคลนรวมทั้งสิ้น 1.7 ล้านมื้อ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ขาดแคลนอาหารได้ถึง 68 ล้านบาทในชุมชนต่างๆ จำนวน 426 ชุมชนใน กทม. หัวหินและจ.ภูเก็ต หากรวบรวมตั้งแต่เริ่มต้นแนวคิดจัดการขยะอาหารจนถึงปัจจุบัน กอบกู้อาหารส่วนเกินแล้วกว่า 2,071 ตัน คิดเป็นมื้ออาหาร 8.7 ล้านมื้อ
“ ส่วนน้ำหนักอาหารส่วนเกินที่ถูกกอบกู้นับตั้งแต่ 1 -13 พ.ค. เกือบ 35 ตัน คิดเป็นปริมาณมื้ออาหารได้เท่ากับ 146,755 มื้อ ลดปริมาณคาร์บอน 66 ตัน ประหยัดค่าทำลายขยะกว่า 55,405 บาท “ ศุภชัย บอกทิ้งท้ายถึงปริมาณอาหารส่วนเกินที่นำกลับมาแบ่งปัน ช่วยให้อิ่มท้อง อีกทั้งเป็นเครื่องมือรักษาสิ่งแวดล้อมและอุณหภูมิโลก
ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวของอาหารส่วนเกินที่รวบรวมมาได้ แต่น่าเสียดายที่อาหารส่วนที่เหลืออีกมหาศาลนำไปฝังกลบ ซึ่งเป็นการสูญเสียอย่างเปล่าประโยชน์ และซ้ำเติมธรรมชาติอีกด้วย