อธิบดีศาลคดีทุจริตภาค 1 ยื่นฟ้อง 3 กรรมการสอบข้อเท็จจริง ผิด ม.157 ด่วนสรุปความเห็นปมถูกกล่าวหาแทรกแซงคดี “ประหยัด” ฟ้องบิ๊ก ป.ป.ช.-อัยการสูงสุด จนตนเองถูกเด้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ปฏิบัติภารกิจชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ยื่นฟ้องนายอนุวัตร มุทิกากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, น.ส.มรกต วัฒนรุ่งเรืองยศ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และนายนรินทร์ ทองคำใส รองเลขานุการศาลฎีกา เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อาญา ม.157
จากกรณีที่จำเลยทั้งสาม ในฐานะคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ 333/2564 วันที่ 25 มี.ค.2564 ลงนามโดยประธานศาลฎีกา สอบสวนนายปรเมษฐ์ โจทก์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ อท.48/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1
คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า วันที่ 25 มี.ค.2564 สำนักงานศาลยุติธรรมมีคำสั่งที่ 333/2564 โดยประธานศาลฎีกา ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว โดยนายอนุวัตรเป็นประธาน, น.ส.มรกต เป็นกรรมการ และนายนรินทร์ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยจำเลยทั้งสามมีหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเพื่อทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดของตน ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดวินัยร้ายแรง/ไม่ร้ายแรง/ไม่มีมูลความผิด หลังจากมีคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมเมื่อวันที่ 25 มี.ค. พบว่า วันที่ 26 มี.ค. จำเลยทั้งสามร่วมเดินทางไปสอบพยานหลักฐานที่ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบ ภาค 1
ถัดมาวันที่ 31 มี.ค. นายนรินทร์โทรศัพท์มาแจ้งนายปรเมษฐ์ว่า ให้มาชี้แจงกับกรรมการในวันที่ 1 เม.ย. เพราะนายอนุวัตรเข้าเวรที่ศาลฎีกาในวันนั้น ซึ่งโดยปกติแล้วในการปฏิบัติราชการของกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในขั้นต้น ต้องมีหนังสือแจ้งนัดโจทก์/ผู้ถูกกล่าวหาเข้าชี้แจง และควรได้รับทราบประเด็นร้องเรียน เพื่อให้สามารถรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการชี้แจง และเข้าสืบแก้ในข้อที่เป็นผลร้ายต่อตนเอง
ต่อมาวันที่ 1 เม.ย. วันนัด โจทก์ปวดท้องมาก มีผู้พิพากษามารายงานตัวและขอพบหลายคน เมื่อเสร็จภารกิจจึงไปพบแพทย์ที่ รพ.สระบุรี แพทย์มีหนังสือความเห็นว่า เป็นกระเพาะอาหารอักเสบ ควรพักผ่อนในวันที่ 1-2 เม.ย. และก่อนหน้านั้นคือวันที่ 29 มี.ค. ไป รพ.ราชวิถี เพราะปวดท้อง แพทย์นัดให้ไปรังสีวินิจฉัยวันที่ 12 พ.ค.ด้วย โดยทำหนังสือลาป่วยของวันที่ 29 มี.ค. และวันที่ 1-2 เม.ย. ต่อประธานศาลฎีกาแล้ว หลังพบแพทย์ที่ รพ.สระบุรี ได้โทรศัพท์ติดต่อนายนรินทร์หลายครั้ง แต่นายนรินทร์บล็อกโทรศัพท์ ตนต้องการไปชี้แจงต่อกรรมการซึ่งเป็นจำเลยทั้งสามในคดีที่ฟ้องร้องนี้ เพราะต้องการทราบว่าผู้ใดร้องเรียน และมีประเด็นใดบ้าง เพื่อที่จะได้ทราบสืบแก้ได้ถูกต้อง
"วันที่ 2 เม.ย. พยายามติดต่อนายนรินทร์หลายครั้ง แต่โดนบล็อกโทรศัพท์ จึงติดต่อนายอนุวัตร นายอนุวัตรตอบว่ามีความเห็นไปแล้ว จึงแจ้งนายอนุวัตรว่าผมยังไม่ได้ชี้แจง ไม่ทราบประเด็นการร้องเรียนที่จำเลยทั้งสามสอบสวนและมีผลร้ายแก่ผม นายอนุวัตรให้ผมติดต่อนายนรินทร์ เลขานุการของผมแจ้งนายอนุวัตรว่าผมโทรศัพท์หานายนรินทร์หลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้ จากนั้นผมยังติดต่อนายนรินทร์ แต่โดนบล็อกโทรศัพท์"
คำฟ้องระบุว่า ยังพร้อมไปพบกรรมการและชี้แจง เพราะต้องการทราบประเด็นข้อร้องเรียน หากผมได้เข้าชี้แจงต่อกรรมการ และหากกรรมการให้ความเป็นธรรมแก่ผม ก็จะทราบความจริงว่าเป็นกรณีที่ผมปฏิบัติหน้าที่ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและบทบัญญัติกฎหมาย ไม่ได้แทรกแซงการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาผู้ใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด
ตอนเกิดเหตุผมเป็นเจ้าของคดีหมายเลขดำที่ อท.48/2563 มีความเป็นอิสระในการพิพากษาคดี จำเลยทั้งสามได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในกรณีของผม ต้องสอบสวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นฯ เมื่อเสร็จสิ้นการสอบสวนขั้นต้น หากผู้ถูกสอบสวนถูกกล่าวหาและเป็นผลร้ายโดยไม่มีโอกาสชี้แจง หากมีกรณีเช่นนี้ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงก่อน
ดังนั้น กรณีนี้เป็นการกระทำสอบสวนของกรรมการทั้งสามอย่างเร่งรีบ รวบรัด ด่วนสรุปความเห็นเพียงไม่กี่วันหลังได้รับเป็นกรรมการ หากได้เข้าชี้แจงเข้าสืบแก้ผลร้ายแก่ตนตามสิทธิและหลักกฎหมายกับกรรมการทั้งสามนั้น กรรมการจะสอบสวนโดยไม่เร่งรีบ ดังนั้น กรรมการทั้งสามที่เป็นจำเลยคดีนี้ร่วมกันงดดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐาน ด่วนสรุปความเห็น จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติกฎหมาย และประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
น่าสงสัยว่า เหตุใดจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำการดังกล่าว ทั้งๆ ที่เมื่อเสร็จสิ้นการสอบสวนชั้นต้นแล้ว จำเลยทั้งสามต้องพิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยผู้ถูกกล่าวหายังไม่ไดัชี้แจง จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเจตนาไม่ดำเนินการสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
นายปรเมษฐ์ระบุว่า มีหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานศาลฎีกาและกรรมการชุดนี้เมื่อวันที่ 5 พ.ค. เพื่อขอความเป็นธรรม แต่ประธานศาลฎีกานำความเห็นชั้นต้นของจำเลยทั้งสามเสนอคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเพื่อขอความเห็นชอบให้ตนไปปฏิบัติภารกิจชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจึงทราบว่า ตนยังไม่ได้ชี้แจงตามที่ถูกกล่าวหา ทำให้ตนเสียหาย จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 81, 93
โดยภายหลังยื่นฟ้องแล้ว ศาลรับคำฟ้องไว้เพื่อมีคำสั่งในชั้นตรวจฟ้องในวันที่ 7 มิ.ย.2564 เวลา 09.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2564 นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา มีคำสั่งให้นายปรเมษฐ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2564 มีมติเห็นชอบคำสั่งดังกล่าว
กรณีที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งลับที่ 333/2564 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีนายปรเมษฐ์ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดีหมายเลขดำ ที่ อท.84/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ระหว่างนายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช., น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |