ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 3,052 ราย ตายเพิ่ม 24 ราย “ตชด.” จัดพื้นที่พักกลุ่มหลบหนีเข้าเมืองไม่ให้เข้าชั้นใน ขณะที่ กทม.ยังพบผู้ป่วยเกินพันคน ทัณฑสถานแจง มีผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่จำนวน 523 คน
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,052 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,406 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,924 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 482 ราย อยู่ในเรือนจำ 605 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 41 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 126,118 ราย ผู้ป่วยหายเพิ่ม 2,900 ราย
ยอดผู้หายป่วยสะสม 82,404 ราย อยู่ระหว่างรักษา 42,955 ราย อาการหนัก 1,216 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 409 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 24 ราย เป็นชาย 12 ราย หญิง 12 ราย อยู่ใน กทม. 13 ราย สมุทรปราการ 3 ราย เชียงใหม่และราชบุรี 2 ราย นนทบุรี สุราษฎร์ธานี ยโสธร นครนายก จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน และเป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ทำให้มียอดเสียชีวิตสะสม 759 ราย ขณะที่ในสถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 166,467,940 ราย เสียชีวิตสะสม 3,457,619 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศที่ติดเชื้อโควิดวันนี้มีจากกัมพูชาถึง 35 ราย เป็นผู้เดินทางเข้าด่านพรมแดนอย่างถูกกฎหมาย เราจะดูแลอย่างดี แต่ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีการรายงานคนลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายถึง 191 คน จากเมียนมา 65 คน ลาว 19 คน กัมพูชา 64 คน แม้เราจะขอให้เข้าทางช่องทางถูกต้องแต่ไม่รู้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะไปถึงคนที่จะลักลอบเข้ามาหรือไม่ ขอให้มั่นใจฝ่ายความมั่นคงจะทำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า นอกจากผู้ที่สามารถจับกุมได้แล้วมีผู้ที่ไม่สามารถจับกุมได้หรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ แต่เราจะพยายามกวาดล้างจับกุมให้ได้ โดยบุคคลเหล่านี้จะมีการวางระบบไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ชั้นใน โดยกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) มีการจัดตั้งสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กรแล้ว 5 จุด คือที่จังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และตาก 3 จุด หลังจากนี้จะมีการเปิดเพิ่มหลายแห่งทั่วประเทศ
โฆษก ศบค.เผยว่า สำหรับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมมากที่สุด 5 จังหวัดแรกคือ กทม. 1,191 ราย เพชรบุรี 437 ราย นนทบุรี 99 ราย สมุทรปราการ 94 และชลบุรี 71 ราย โดยการระบาดที่พบในจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงขึ้นนั้น ใน จ.เพชรบุรีมีการระบาดในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชลบุรีระบาดในโรงงานผลิตสายไฟและตลาดใหม่ ขณะที่วันเดียวกันนี้มีถึง 20 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ประกอบด้วย นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ ตราด สุโขทัย กาฬสิน พะเยา สิงห์บุรี เลย อุตรดิตถ์ แพร่ ชัยนาท หนองคาย พังงา แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ หนองบัวลำภูและมุกดาหาร
ขณะที่การระบาดในพื้นที่ กทม.นั้นจะเห็นว่ากราฟยังขึ้นสูงอยู่ เราอยู่ในสภาวะที่ยังไม่น่าไว้วางใจ จะเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือเก่า แต่การติดเชื้อที่แพร่กระจายโดยเร็วประชาชนต้องตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก เพื่อควบคุมการติดเชื้อ ทุกท่านต้องช่วยกัน เราอยู่ในสังคมเดียวกัน โดยเฉพาะ กทม.ที่มีความแออัด จึงไม่แปลกที่จะเห็นกราฟเช่นนี้ และหากดูเป็นจำนวนคลัสเตอร์ ขณะนี้มีคลัสเตอร์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการควบคุมโรค 30 คลัสเตอร์ ดูทิศทางยังทะแยงขึ้น โดยคลัสเตอร์ใหม่วันนี้คือแคมป์คนงานทั้งสิ้น กระจายในเขตคลองเตย ห้วยขวาง บางคอแหลม ปทุมวัน และบางรัก จึงมอบหมายให้ กทม.บูรณาการข้อมูลเหล่านี้อย่างละเอียดขณะที่จำนวนเขตที่มีคลัสเตอร์เหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อยู่ที่ 24 เขต ประมาณครึ่งหนึ่งของ กทม. เขตที่เหลือที่ไม่ใช่การติดเชื้อเป็นกลุ่มใหญ่ก็ขอให้ระมัดระวัง
พบใหม่ 6 คลัสเตอร์
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อไปว่า และขณะนี้ยังมีการคิดถึงการนำส่งผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยแบ่งพื้นที่ กทม.ออกเป็น 6 โซน คือ โรงพยาบาลที่ดูแล กทม.โซนเหนือ จะเป็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โซนตะวันออก โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โซนใต้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โซนธนบุรีใต้ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ธนบุรีเหนือ โรงพยาบาลศิริราช และ กทม.กลาง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลราชวิถี กันไว้สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง
สำหรับการค้นหาเชิงรุกในชุมชนเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ตัวเลขที่น่าสนใจคือพื้นที่ตลาดบางกะปิ ที่ตรวจหาเชื้อ 845 คน พบเชื้อ 137 คน คิดเป็น 16.21 เปอร์เซ็นต์ จึงขอให้คนที่อยู่โดยรอบตลาดให้ความร่วมมือทีมสอบสวนโรค และต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ส่วนคลัสเตอร์ที่ต้องมีการเฝ้าระวังมีทั้งหมด 28 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด 20 คลัสเตอร์ กลุ่มเฝ้าระวัง 2 คลัสเตอร์ และที่พบใหม่ 6 คลัสเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นแคมป์คนงาน
เมื่อถามถึงการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว มีการตรวจหาเชื้อในกลุ่มคนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน นพ.ทวีศิลป์ตอบว่า แรงงานต่างด้าวมีทั้งที่เข้ามาอย่างถูกต้องและไม่ถูกต้อง นโยบายของนายกรัฐมนตรีมีมาตั้งแต่ก่อนการระบาดระลอก 3 ว่า ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยต้องได้รับการตรวจและดูแลเหมือนกันทั้งหมด จึงขอให้ทั้งประชาชนคนไทย แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงถ้าต้องการตรวจหาเชื้อให้เดินไปที่หน่วยตรวจหาเชื้อใกล้ท่าน เขาจะดูแลให้ ผู้ประกอบการเองก็ต้องรับผิดชอบคนงานที่พวกท่านนำพามา ถ้าแบ่งเบาภาระการตรวจตรงนี้ได้ก็ขอขอบคุณ แต่ถ้าไม่ได้ก็แจ้ง รัฐจะดูแล ส่วนภาครัฐเองก็ไม่ต้องกังวลในเรื่องของงบประมาณ เพราะนายกฯ ได้จัดสรรในส่วนนี้ไว้ให้แล้ว ยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ของคนที่อยู่ในประเทศไทยต้องได้รับการดูแลอย่างดี
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 523 คน รักษาหายแล้ว 218 คน รวมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการรักษา 14,348 คน ซึ่งขณะนี้เรือนจำและทัณฑสถานที่พบผู้ติดเชื้อมีทั้งหมด 12 แห่ง
ปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่ได้รับการตรวจเชื้อแล้ว จำนวน 37,288 คน มีเรือนจำที่ตรวจครบ 100 เปอร์เซ็นต์เพิ่มอีก 1 แห่ง คือ เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา ส่วนเรือนจำอื่นๆ ที่ตรวจครบแล้ว ยังมีการตรวจหาเชื้อซ้ำทุก 7 วันในกลุ่มที่ยังไม่พบเชื้อ รวมถึงการตรวจหาเชื้อในผู้ต้องขังเรือนจำอื่นๆ และผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกรายจนกว่าสถานการณ์จะปกติ
นายอายุตม์กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์ได้มอบหมายให้ศูนย์ CARE ประจำเรือนจำและทัณฑสถานทุกแห่ง รับผิดชอบในการประสานงานรวบรวมข้อมูลของผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ และแจ้งให้ญาติผู้ต้องขังทราบเป็นการเฉพาะราย พร้อมทั้งแจ้งความคืบหน้าการรักษาและอาการป่วยของผู้ต้องขังให้ญาติทราบผ่านทางโทรศัพท์ หรือช่องทางการสื่อสารอื่นใดที่ได้แจ้งไว้ เพื่อบรรเทาความห่วงใยของญาติผู้ต้องขัง ทั้งนี้การดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องขังก่อนเสมอ
นักวิจัยจากหลายสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งรวมตัวในนามกลุ่ม COVID-19 Network Investigations หรือ CONI เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ด้วยข้อมูลระดับจีโนม ที่ได้รับการประสานจากกระทรวงสาธารณสุขให้ร่วมสืบสวนโรคจากคลัสเตอร์ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้รับข้อมูลว่าอาจเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อต่อเนื่องในประเทศไทยจากผู้ลักลอบเข้าเมือง ล่าสุดได้รายงานผลการตรวจสอบพบว่า เป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้
เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเก็บชุดตัวอย่างกลุ่มนี้ ก่อนส่งต่อให้ CONI ถอดรหัสพันธุกรรม เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ซึ่งผลการถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนมพบว่าเป็นเชื้อสายตระกูล B.1.351 หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และได้ส่งข้อมูลทั้งหมดให้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในระดับภูมิภาคและระดับชาติแล้ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสื่อสารกับประชาชนต่อไป
กลุ่ม CONI ระบุด้วยว่า เชื้อสายตระกูล B.1.351 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่คาดว่ามีผลกระทบต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ต่อไวรัส และลดประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีน แต่ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนจะใช้ไม่ได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มอัตราส่วนผู้ได้รับวัคซีนให้สูงขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |