ผู้อพยพชาวโมร็อกโกโดนควบคุมตัวเมื่อขึ้นฝั่งเมืองเซวตา ดินแดนในแอฟริกาเหนือของสเปน (ภาพจาก infomigrants.net)
ภาพเด็กชายชาวโมร็อกโกใช้ขวดพลาสติกผูกเข้ากับตัวเพื่อเป็นชุดชูชีพอย่างง่ายสำหรับว่ายน้ำข้ามไปยังเมืองเซวตา ดินแดนในแอฟริกาเหนือของสเปน เห็นแล้วน่าเวทนาสงสาร และแทนที่ขึ้นฝั่งแล้วจะมีรอยยิ้ม เด็กชายกลับต้องร้องไห้น้ำตานองหน้า พยายามวิ่งหนีเจ้าหน้าที่สเปนที่ตามจับตัว สุดท้ายเขาก็ถูกหิ้วปีกส่งกลับโมร็อกโก
“เซวตา” (Ceuta) นครปกครองตนเองของสเปน ประชากรประมาณ 85,000 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่ราว 18.5 ตารางกิโลเมตร แผนที่มีลักษณะเป็นแหลมชี้ออกมาจากแผ่นดินของโมร็อกโก ตั้งอยู่ตรงข้ามกับแคว้นแอนดาลูเซีย ราชอาณาจักรสเปน มีช่องแคบยิบรอลตาร์คั่นกลางระหว่างแอฟริกาและทวีปยุโรป การเข้าถึงเซวตาจึงคล้ายมาถึงยุโรป และอาจเป็นใบเบิกทางเข้าสู่แผ่นดินยุโรปเพื่อชีวิตใหม่ที่ดีกว่า
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีชาวโมร็อกโกที่ต้องการข้ามไปยังเซวตาจำนวนมากรอคอยจังหวะงามๆ อยู่บริเวณด่านชายแดนเมือง “ฟนิเด็ค” ขวามือของแผนที่คือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เจ้าหน้าที่ด่านได้ยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายกลุ่มผู้ต้องการอพยพให้ออกห่างจากรั้วพรมแดน ทำให้พวกเขาโมโห จุดไฟเผาจักรยานยนต์และถังขยะ
ช่วงกลางสัปดาห์ ผู้อพยพเปลี่ยนแผนที่จะข้ามฝั่งทางบกเป็นลงทะเล นั่งเรือยางขนาดเล็ก หรือใช้อุปกรณ์ชูชีพอย่างง่ายว่ายน้ำอ้อมไปไม่กี่ร้อยเมตรสู่ชายหาด “ทาราจาล” ของเซวตา โดยเจ้าหน้าที่โมร็อกโกได้แต่ยืนมอง สเปนต้องส่งตำรวจหน่วยพิเศษจากฝั่งยุโรปมาเพิ่มอีก 200 นาย สมทบกับที่มีอยู่แล้วประมาณ 1,200 นาย เพื่อรับมือคลื่นผู้อพยพ
ในเวลา 2 วัน ชาวโมร็อกโกประมาณ 8,000 คนข้ามไปถึงเซวตา ถือเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ส่วนมากเป็นผู้ชาย ที่ไปกันเป็นครอบครัวก็มี รวมถึงเด็กที่ไม่มีผู้ปกครอง
ราว 2 ใน 3 ของทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวแล้วพาไปส่งที่ด่านชายแดนกลับเข้าโมร็อกโก ที่เหลือเป็นเด็กจำนวนประมาณ 1,500 คน ไม่มีพ่อแม่มาด้วย บางคนอายุเพียง 7 ขวบ ถูกคุมตัวอยู่ในโกดังแห่งหนึ่ง ได้รับการดูแลโดยกาชาดท้องถิ่น รอการส่งกลับเช่นกัน มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน
ผู้แสวงหาชีวิตที่ดีกว่าบางคนมาจากหลายเมืองทั่วโมร็อกโก แม้แต่เมืองท่าสำคัญอย่างแทนเจียร์ ชายหนุ่มคนหนึ่งบอกว่า “ผมไม่หมดหวัง ผมมีเพื่อนในเซวตา หากเข้าไปได้ใหม่ก็จะไปอยู่กับเพื่อน แล้วค่อยหาทางข้ามไปยังฝั่งยุโรป” อีกคนให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นว่า “ผมแค่ต้องการทำงานและช่ปวยครอบครัว เพื่อนของผมทั้งหมด เราต้องการทำงาน”
เด็กชายร่ำให้เพราะรู้ชะตากรรมว่าต้องถูกจับและส่งตัวกลับโมร็อกโก (ภาพจาก sproutwired.com)
***********************
โมร็อกโกของสเปนและฝรั่งเศส
ในยุคที่จักรวรรดิออตโตมันเรืองอำนาจสูงสุด พวกเขาขยายการยึดครองมาถึงแอลจีเรี ยซึ่งประชิดติดกับชายแดนโมร็อกโก แต่โมร็อกโกอยู่รอดปลอดภัยมาได้โดยการปกครองของราชวงศ์อาหรับ-เบอร์เบอร์ของพวกเขาเอง
หมดยุคค้าทาสแอฟริกันมาถึงยุคล่าอาณานิคมของชาติยุโรป โมร็อกโกได้รับความสนใจจากทั้งโปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ส่วนมากจะยึดเอาแค่เมืองท่าสำคัญๆ ไม่ได้รุกล้ำเข้าไปภายใน เวลานั้นโมร็อกโกยังถือเป็นชาติที่ร่ำรวย
หลังสงครามนโปเลียน (ค.ศ.1803-1815) ออตโตมันถึงยุคขาลง ค่อยๆ เสื่อมอิทธิพลไปจากภูมิภาค “มาเกร็บ” หรือแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ฝรั่งเศสข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาตีแอลจีเรียและยึดครองได้สำเร็จในปี 1830 แล้วบุกโมร็อกโกต่อในปี 1844 ผลจบลงด้วยชัยชนะของฝรั่งเศส ทั้ง 2 ฝ่ายลงนามในสนธิสัญญาแทนเจียร์ มีผลให้โมร็อกโกยอมรับอย่างเป็นทางการว่าแอลจีเรียคือส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศส
ปี 1856 สุลต่านอัล-รามันของโมร็อกโกลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษ มอบสิทธิพิเศษทางการค้าให้กับอังกฤษหลายอย่าง และเปิดการค้าเสรีกับนานาชาติ ช่วยให้โมร็อกโกยังเป็นชาติเอกราชอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม สเปนบุกโมร็อกโกในปี 1859 โมร็อกโกเป็นฝ่ายปราชัย ต้องกู้เงินจากอังกฤษเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้กับสเปน มูลค่ามากกว่าทรัพย์สมบัติของชาติที่มีอยู่ในเวลานั้น นอกจากนี้สเปนยังได้ดินแดนบางส่วนของโมร็อกโกด้วย รวมถึง “เซวตา” และ “เมลิยา” ที่ยังคงเป็นของสเปนอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
ฝรั่งเศสและสเปนมีอิทธิพลในโมร็อกโกมากขึ้นๆ ขณะที่อังกฤษถอยออกไป ปี ค.ศ.1907 เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรม “เอมีล มูชอง” ยอดคุณหมอชาวฝรั่งเศสในเมืองมาราเกซ ฝรั่งเศสใช้จังหวะนี้รุกเมือง “อุจดา” ทางตะวันออกที่มีชายแดนติดกับแอลจีเรีย จากนั้นโจมตี “คาซาบลังกา” ทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก
ในเดือนมีนาคม 1912 โมร็อกโกก็กลายเป็นดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศสตาม “สนธิสัญญาเมืองเฟส” และเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันฝรั่งเศสและสเปนก็ลงนามในอีกสนธิสัญญา ฝรั่งเศสแบ่งดินแดนที่เป็นแถบทางเหนือ ตรงข้ามกับแคว้นแอนดาลูเซียให้กับสเปน (ไม่รวมเมืองแทนเจียร์ที่ต่อมาคือเขตการค้าเสรีนานาชาติ) และอีกส่วนเล็กๆ ทางใต้ของโมร็อกโก เรียกว่า “เคปจูบี” (ก่อนนี้สเปนได้ซาฮาราตะวันตก ดินแดนทางใต้ของโมร็อกโกเป็นอาณานิคมแล้วตั้งแต่ปี 1884)
ทำให้สเปนรู้สึกล้างอายได้บ้างหลังจากพ่ายแพ้สงครามกับสหรัฐอเมริกามาอย่างหมดรูปในปี 1898 สูญเสียคิวบา เปอร์โตริโก ฟิลิปปินส์และเกาะกวมให้กับสหรัฐ จนสเปนกลายเป็นแค่ชาติมหาอำนาจแถวสอง สำหรับ “โมร็อกโกในอารักขาของสเปน” มีเมืองหลวงชื่อ “เตตวน”
ภาพจาก “สงครามริฟ” (ค.ศ.1921-1926) ทหารโมร็อกโกทำสงครามต่อต้านสเปนและฝรั่งเศสอยู่ได้ช่วงหนึ่ง จนกระทั่งทานไม่ไหวและประสบความพ่ายแพ้ (ภาพจาก britannica.com)
ด้านฝรั่งเศสได้พื้นที่กว้างใหญ่กลางประเทศ เรียกว่า “โมร็อกโกในอารักขาของฝรั่งเศส” มี “ราบัต” เป็นเมืองหลวง
ข้อตกลงในสนธิสัญญายังคงระบุให้องค์สุลต่านเป็นประมุขของประเทศ แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วแทบจะไม่มีอำนาจใดๆ เจ้าอาณานิคมมีสิทธิ์ขาดในการบริหารและปกครอง
ชาวฝรั่งเศสเข้ามาทำมาหากินและตั้งรกรากเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลฝรั่งเศสสัญญาจะไม่ให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองของโมร็อกโกรบกวนการตั้งถิ่นฐานของพลเมืองฝรั่งเศสได้
การก่อกบฏและสงครามต่อต้านเกิดขึ้นบ้าง แต่ฝรั่งเศสเอาอยู่ทุกครั้ง รวมถึงสงครามเพื่อเอกราชของ “สาธารณรัฐริฟ” (ค.ศ.1921-1926) ซึ่งกองทัพฝรั่งเศสและสเปนร่วมกันปราบได้ในที่สุด แม้ว่าสเปนจะสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก
ความสนใจหลักของฝรั่งเศสคือแหล่งแร่ธรรมชาติในโมร็อกโก โดยเฉพาะแร่ฟอสเฟต อีกทั้งยังมุ่งเน้นในด้านเกษตรกรรมเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดฝรั่งเศส การมอบสิทธิ์ในที่ดินดึงดูดให้ชาวอาณานิคมราวครึ่งล้านย้ายเข้ามา โดยส่วนใหญ่อาศัยในเมืองคาซาบลังกา และกลายเป็นประชากรเกือบครึ่งของทั้งเมือง ด้านสเปนก็โชคดีค้นพบแหล่งแร่ธรรมชาติปริมาณมาก โดยเฉพาะแร่เหล็กใกล้เมืองเมลียา
ปี 1936 สงครามกลางเมืองของสเปน (ค.ศ.1936-1939) มีจุดเริ่มจากการก่อกบฏของ “กองทัพสเปนแห่งแอฟริกา” มีองค์ประกอบของทหารท้องถิ่นชาวโมร็อกโกที่เรียกว่า “เรกูลาเรส” ภายใต้การนำของ “ฟรานซิสโก ฟรังโก” เป็นส่วนสำคัญ และต่อมากลายเป็นแกนหลักของ “กองทัพคณะรักชาติ” ทำการปฏิวัติสู้รบกับรัฐบาล “สาธารณรัฐสเปนที่ 2” จนยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จ
ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ขบวนการต่อสู้เรียกร้องเพื่อเอกราชของโมร็อกโกก่อตัวชัดขึ้นเรื่อยๆ และในช่วงปลายสงครามพรรคเอกราชได้ออกประกาศเรียกร้องเอกราช การรวมชาติ และรัฐธรรมนูญต่อเจ้าอาณานิคม สุลต่าน “โมฮัมเหม็ดที่ 5” ก็ทรงรับรองคำประกาศ ทั้งยังได้ยื่นให้กับข้าหลวงใหญ่ของฝรั่งเศส แต่คำตอบจากฝรั่งเศสคือจะไม่มีการพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะของรัฐในอารักขา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์สุลต่านทรงเดินสายกล่าวสุนทรพจน์ในหลายเมือง ทั้งในโมร็อกโกฝรั่งเศส โมร็อกโกสเปน และแทนเจียร์ ซึ่งเป็นเขตนานาชาติ ได้รับการสนับสนุนจากชาวโมร็อกโกทุกหัวระแหง แต่ฝ่ายฝรั่งเศสทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและชาวอาณานิคมต่างไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้อง
เดือนธันวาคม ปี 1952 “ฟาร์ฮัต ฮาเช็ด” ผู้นำสหภาพแรงงานและนักต่อสู้เพื่อเอกราชของตูนิเซียถูกลอบสังหาร (ในตูนิเซีย) ชาวโมร็อกโกที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคเอกราชของโมร็อกโกทราบข่าวก็ได้ก่อจลาจลขึ้นในเมืองคาซาบลังกา หลังเหตุการณ์สงบลงฝรั่งเศสมีคำสั่งให้พรรคการเมืองทั้งสองเป็นพรรคนอกกฎหมาย
จากนั้นฝรั่งเศสยังได้เนรเทศองค์สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 ไปยังเกาะมาดากัสการ์ในวันอีด ปี 1953 และตั้งพระนัดดาขึ้นมาแทน ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงจากชาวโมร็อกโก คริสต์มาสปีเดียวกันนั้นฝ่ายโมร็อกโกรักชาติวางระเบิดตลาดกลางคาซาบลังกา ในเขตเมืองใหม่ของชาวยุโรป
อีก 2 ปีต่อมา เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ฝรั่งเศสเผชิญสถานการณ์การสู้รบในสงครามเพื่อเอกราชของแอลจีเรีย รัฐบาลฝรั่งเศสก็อนุญาตให้สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 เดินทางกลับโมร็อกโก
การเริ่มต้นพูดคุยเจรจาเพื่อเอกราชของโมร็อกโกเริ่มต้นในปีต่อมา วันที่ 7 เมษายน 1956 ฝรั่งเศสประกาศยกเลิกความเป็นรัฐในอารักขาของโมร็อกโก ด้านสเปนเจรจากับโมร็อกโกต่างหาก ก่อนจะให้การรับรองเอกราชของโมร็อกโกในเดือนเดียวกัน (เหลือเซวตาและเมลียาไว้) จากนั้นแทนเจียร์ถูกผนวกกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโมร็อกโกในเดือนตุลาคม 1956 องค์สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 กลับขึ้นครองราชย์ในปีต่อมา
**********************
ยุโรป ดินแดนห้ามบุกรุก
ซาฮาราตะวันตก ดินแดนติดมหาสมุทรแอตแลนติก อยู่ทางใต้ของโมร็อกโก ทางเหนือของมอริเตเนีย และทางตะวันตกของแอลจีเรีย หลังสเปนถอยออกจากโมร็อกโก ซาฮาราตะวันตกก็ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนต่อมาจนถึงปี 1975 แล้วจึงถูกผนวกเข้ากับราชอาณาจักรโมร็อกโก
ปัจจุบันโมร็อกโกยังมีข้อพิพาทกับชาวซาห์ราวี ชนพื้นเมืองที่ต้องการเอกราช มีแนวร่วมโปลีซารีโอเคลื่อนไหวเรียกร้องและจับอาวุธขึ้นต่อสู้เรื่อยมา ว่ากันว่าได้รับการหนุนหลังจากแอลจีเรีย
“บราฮิม กาลี” ผู้นำของแนวร่วมโปลีซารีโอ ตั้งตนเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาหรับซาห์ราวี ถูกกล่าวหาจากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและชาวซาฮาราตะวันตกจำนวนหนึ่งว่ามีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฆาตกรรม ก่อการร้าย ทรมานและอุ้มหาย
ไม่นานมานี้ กาลีใช้หนังสือเดินทางปลอมของแอลจีเรียเดินทางเข้าสเปน และมีข่าวว่ากำลังได้เข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 อยู่ในโรงพยาบาลที่เมือง “โลโกรโย” ทางเหนือของสเปน เป็นสาเหตุให้รัฐบาลโมร็อกโกแกล้งเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เมื่อผู้อพยพต้ปองการข้ามแดนไปยังเซวตา
“มาเรีย อารันซาซู กอนซาเลส ลายา” รัฐมนตรีต่างประเทศของสเปน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจยิ่ง
สหภาพยุโรปก็ให้การสนับสนุนมาตรการการจัดการกับผู้อพยพของสเปนเป็นอย่างดี “ชาร์ลส์ มีแชล” ประธานคณะมนตรียุโรปทวีตข้อความว่า “พรมแดนสเปนก็คือพรมแดนของสหภาพยุโรป”
“มาร์การิติส สคินาส” รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า “ยุโรปจะต้องไม่ถูกคุกคามจากใครในเรื่องการอพยพ”
“ฆวน เฆซุส วิวาส” สมาชิกพรรคฝ่ายค้านของสเปนก็ประสานเสียง บอกกับสถานีวิทยุท้องถิ่นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการล่วงล้ำรุกรานอย่างชัดเจน.
//////
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |