วาระแห่งชาติ ฉีดวัคซีนสู้โควิด


เพิ่มเพื่อน    

 โอกาสโควิดสายพันธุ์อินเดีย จะระบาดในประเทศไทย?

...................................

'วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ได้ฉีดเร็วที่สุด'

ประโยคดังกล่าวถูกพูดถึงอย่างมากในเวลานี้ ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 รอบสามระบาดในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง การรณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือกันฉีดวัคซีนจึงถูกผลักดันจากรัฐบาลให้เป็น วาระแห่งชาติ ทำให้ประชาชนจำนวนมากจากที่เคยลังเลใจในการฉีดวัคซีน หลายคนเปลี่ยนมาเป็นต้องการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ท่ามกลางข้อสงสัยของประชาชนเช่นกันว่า เมื่อประชาชนพร้อมจะฉีดวัคซีนแล้ว ทางรัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการแผนการฉีดวัคซีนให้พวกเขาได้ทั่วถึงและรวดเร็วแค่ไหน รวมถึงสิ่งที่หลายคนอยากรู้ก็คือ วิกฤติโควิดรอบนี้จะจบลงเมื่อใด

นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข-อุปนายกสมาคมระบาดวิทยา (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยา โดยชีวิตราชการทำงานอยู่ที่กรมควบคุมโรคมาร่วม  20 ปี มีประสบการณ์ในการรับมือโรคระบาดในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอย่างโชกโชน ได้กล่าวถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนเพื่อสู้กับโควิด และสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษครั้งนี้

เริ่มต้นการพูดคุย นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวถึงการฉีดวัคซีนที่ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติว่า คำว่า วาระแห่งชาติ เวลาพูดถึงคำนี้มันไม่มีฝักฝ่ายแล้ว เราวางเป้าหมายไปทางเดียวกัน อย่างมีการพูดการถามกันในโซเชียลมีเดีย ที่ว่า เรากำลังสู้กับเชื้อโรคอยู่ด้วยกันหรือเปล่า บางทีการตั้งคำถามเพื่อทำให้เกิดความกระจ่างเป็นเรื่องที่ดี เช่น  ทำไมทางเลือกในการฉีดวัคซีนถึงต้องเป็นแบบนี้, มีข้อจำกัดเรื่องอะไร ซึ่งการตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์และหาทางเลือกที่เหมาะสม แล้วไปในแนวทางเดียวกัน สิ่งนี้คือวาระแห่งชาติ แต่หากตั้งคำถามแบบไม่เป็นมิตรนัก แม้ต่อให้เราอยากได้วัคซีนยี่ห้อ A ที่ฟังดูดีที่สุด แต่มันยังมาไม่ถึง แต่วัคซีนยี่ห้ออื่นก็ได้ผลดีในการป้องกันการตาย การเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล เหมือนกับเป็นรถอีกยี่ห้อหนึ่งที่ขับเดินทางได้ ขับไปถึงเป้าหมายได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ยี่ห้อ A ที่เราใฝ่ฝัน ประเทศเราก็ควรมองความเป็นไปได้ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉินแบบในปัจจุบันตอนนี้ เพื่อให้มันก้าวผ่านไปได้ด้วยกันก่อน ไม่ใช่ไปทำให้ทุกคนคิดไปว่าจะไม่ไปด้วยรถที่เรามีอยู่ตอนนี้ เพราะต้องการจะรอรถยี่ห้อ A ก่อน  แบบนี้ก็จะทำให้เสียคำว่าวาระแห่งชาติไป

ที่ผ่านมามาตรการป้องกันโควิดอื่นๆ ทั้งในเชิงบุคคลและเชิงสังคม การเว้นระยะห่าง การล้างมือ ที่ผ่านมาเราก็ทำได้ดีประมาณหนึ่ง แต่พอทำๆ ไปเราก็อาจจะล้าและทำนานไป เราอาจรู้สึกบรรยากาศทางด้านเศรษฐกิจมันติดขัด และพอมีทางเลือกอย่าง วัคซีน ที่บางประเทศเขามั่นใจจนประกาศจะถอดหน้ากากอนามัย เพื่อทำให้คนรู้สึกอยากไปฉีดวัคซีนกันเยอะๆ เราก็เรียนรู้จากเขาไปก่อน ว่าเมื่อเปิดหน้ากากแล้ว ถ้าทำแล้วมันได้ดี ถ้าถึงตอนที่เราฉีดวัคซีนกันได้จำนวนมาก ถึงตอนนั้นเราอาจเริ่มใช้เลยก็ได้ แต่หากดูแล้วยังมีอีกหลายอย่างที่น่าห่วงอยู่ก็ชะลอก่อน

            ...วัคซีนจะมาเป็นตัวเสริม โดยที่มาตรการอื่นๆ ในการป้องกันโควิดก็อย่าเพิ่งวาง ให้มันได้ผลคู่กันก่อน ให้ฉีดได้ครอบคลุมก่อน ใจอีกด้านหนึ่งผมยังคิดว่า ข้อดีของประเทศเราอย่างหนึ่งคือ การที่เรามีโรงงานผลิตวัคซีนได้เอง ที่เรากลัวว่าจะมีเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นเข้ามา เช่นโควิดสายพันธุ์อินเดีย โควิดสายพันธุ์แอฟริกา แล้ววัคซีนจะได้ผลขนาดไหน ผลของวัคซีนจะดรอปลงไปหรือไม่ สมมุติก็เหมือนเชื้อไข้หวัดใหญ่ ที่พอหนึ่งปีผ่านไปเชื้อก็เริ่มมีสายพันธุ์หน้าตาใหม่มา แต่เมื่อเรามีโรงงานผลิตวัคซีนเอง ต้นทาง  AstraZeneca ก็เริ่มผลิตวัคซีนสำหรับเชื้อตัวใหม่แล้ว  ก็เปลี่ยนเทคโนโลยีเลย

            ...ในใจผมก็คิดว่า อย่างมีวัคซีนตัวนี้ แล้วคนไปบอกว่า คิดค้นมาจากโควิดสายพันธุ์เก่า เปรียบเทียบอย่างไข้หวัดใหญ่บางปี ที่เราฉีดเปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพก็ไม่ค่อยสูงมากนัก เพราะมันมีการเปลี่ยนไปใหม่ แต่ผมก็จะฉีดของปีนี้ไปก่อน เพราะพอปีหน้ามีวัคซีนใหม่มา ผมก็จะฉีดวัคซีนอันใหม่ มันก็จะได้ต่อกัน เพราะปกติภูมิคุ้มกันจะป้องกันได้บางส่วนอยู่ถึงแม้จะมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา ผมก็หวังข้อนั้น ไม่ใช่ว่าจะมาปฏิเสธไม่ฉีดวัคซีนเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพียงเพราะไปกลัวว่าพอมีโควิดสายพันธุ์ใหม่มาแล้ววัคซีนจะไม่ได้ผล  เพราะบางทีสิ่งที่มันไม่มา เราทำเพื่อป้องกันจากสิ่งที่เรามีตอนนี้ แล้วมันได้ผลก็ควรทำไปก่อน เลยมั่นใจว่าการฉีดวัคซีนโควิดที่ทำให้เป็นวาระแห่งชาติตรงนี้มันจะช่วยได้

“เหมือนอย่างที่คนพูดกันว่า วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ได้ฉีดเร็ว เพราะมันถูกเลือกแล้วว่ามันได้ผล ขั้นต่ำ ถือว่าโอเคหมดทุกตัว อันไหนที่ฉีดได้ก่อนฉีดเลย อย่าไปรีรอ คือเราอาจตั้งคำถามกันได้ ทำให้คนได้คิดพิจารณาได้ สงสัยกันได้ แต่ก็ต้องมีระดับที่พอดี ไม่ใช่ตั้งคำถามเสียจนไม่ต้องทำอะไร แล้วอยู่ในความเสี่ยง จนลืมประเมินความเสี่ยงไปว่า หากช้าไปมันก็ไม่ได้ ความเสี่ยงก็จะเยอะ อยากบอกว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่ดีและใช้ได้ เพื่อให้เดินไปข้างหน้า ก็ทำไปด้วยกัน” ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวไว้

นพ.เฉวตสรร ยืนยันถึงความพร้อมของระบบสาธารณสุขในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ที่ขณะนี้มีประชาชนหลายล้านคนทยอยลงทะเบียน โดยบอกว่าความพร้อมด้านต่างๆ  เช่นจุดฉีดวัคซีน อย่างโรงพยาบาลภาครัฐ คิดว่า 1,000 แห่ง อันนี้คือคิดจากขั้นต่ำ โดยหากขยายไปยังจุดที่พร้อมมากขึ้นก็จะมากกว่าหนึ่งพันแห่ง แล้วฉีดสมมุติวันละ 500  คน โดยคิดจาก 20 วันต่อเดือน หรือจะฉีดทุกวัน ก็คือ 30  วันต่อเดือน ก็จะฉีดได้สบายๆ อยู่ในเป้าหมาย อีกทั้งยังมีเรื่องการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชน เช่นการเพิ่มสถานที่ซึ่งเป็นจุดฉีดวัคซีนให้ ก็จะเป็นตัวช่วยทำให้ปริมาณการไปฉีดวัคซีนแต่ละจุดก็จะไม่แน่นมาก

             ส่วนปริมาณหรือเพดานของวัคซีนที่จะเข้ามา คือเราไม่สามารถนำเข้ามาเลยทีเดียว 60 กว่าล้านโดส หรือที่พูดกันว่าจะมีวัคซีน 100 ล้านโดสมากองรอไว้ให้ฉีดเลย มันไม่ได้ เพราะผู้ผลิตก็ผลิตแล้วส่งไปหลายที่ ก็จะมีเรื่องของรอบเวลาในการส่งเข้ามายังไทย ซึ่งการเอาเข้ามาทีละน้อย บางทีก็มีประโยชน์ในแง่ของ ที่เก็บวัคซีน-ตู้เย็นเก็บวัคซีน ที่ไม่ต้องทำใหญ่มโหฬารเพื่อที่จะเก็บไว้รอ เพราะเก็บไว้ได้หกเดือน ก็ไม่ใช่ เพราะพอเข้ามาแต่ละเดือนก็จะมีการกระจายวัคซีนออกไป ขนาดสหรัฐฯ ที่ซื้อวัคซีนจำนวนมาก เขาฉีดวัคซีนได้แค่ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร ก็อยากบอกว่า ทางเราก็เข้าใจอยู่ที่คนอยากฉีดวัคซีนกันไวๆ แต่เพื่อความปลอดภัยและต้องทำตามมาตรฐาน ก็ต้องมีการเว้นระยะห่าง  มีการจัดระบบ เราก็ไม่อยากเห็นคนไปนอนรอฉีดวัคซีนกันตั้งแต่กลางคืนที่โรงพยาบาล เพื่อรอฉีดวัคซีนวันรุ่งขึ้น เหมือนรอคิวคอนเสิร์ต ที่ก็จะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ที่ผ่านมา ก็มีการปรับระบบให้เข้ากับประชาชน เพราะประชาชนหลายกลุ่มก็อาจไม่ถนัดเรื่องไอที

            เรื่องของวัคซีน นอกจากเรื่องการฉีดแล้วได้ผลดีแล้ว  อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ "การจัดเก็บและการขนส่งที่ง่าย"  อย่างหากเอ่ยชื่อ เช่น Pfizer ต้องใช้ตู้เย็นที่เรียกว่า  Extra Frezzer ที่อุณหภูมิ -30 ถึง -70 องศา ซึ่งเป็นตู้เย็นแบบที่ไม่ได้มีอยู่ทั่วไป อย่างในยุโรปเวลาจะนำไปใช้งาน นำออกจากตู้ใหญ่ มีมือถือจับเวลารันเป็นวินาทีเลย  ภายในกี่วินาทีต้องนำวัคซีนเข้าไปเก็บในกระเป๋าเล็กที่มีความเย็นเพียงพอ แล้วเวลาจะฉีด เมื่อนำออกมาจะปล่อยไว้ในช่วงอุณหภูมิปกติได้กี่นาที แล้วต้องฉีดในเวลาปกติภายในเวลาเท่าใด ทำให้ความเย็นแบบที่ต้องการซึ่งเดิมคืออุณหภูมิ -30 ถึง -70 แต่ตอนหลังบอกว่าไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้ มาที่ -20 ก็ยังพอไหว ก็ทำให้พอเป็นความหวังขึ้นมา

“แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม อุณหภูมิในการจัดเก็บวัคซีน -20 จะมีอยู่ที่ไหนได้บ้าง สมมุติว่าที่ส่วนกลางมี  แล้วเมื่อส่งไปต่างจังหวัด ทางจังหวัดมีหรือไม่ ส่วนหนึ่ง ผมก็มองว่าทำให้ประเทศกำลังพัฒนา เวลาจะเลือกว่าจะใช้วัคซีนของยี่ห้ออะไร รู้อยู่ว่ามันน่าสนใจสำหรับไฟเซอร์ แต่ถ้านำมาแล้วระบบความเย็นไม่ได้ พอจะนำไปฉีดเข้าต้นแขน มันกลายเป็นน้ำเปล่า ก็จะกลายเป็นว่าเสียของเฉยๆ”

...แล้วตอนนั้นก็เป็นเทคโนโลยีใหม่ด้วย ที่เป็น  mRNA พอฉีดแล้วจะแพ้เยอะหรือไม่ มันก็มีข้อกังวลหลายอย่าง โดย mRNA คือการเอาฐานพันธุกรรม แล้วก็มีตัวห่อหุ้มคือไขมันผิว mRNA ก็เป็นลักษณะที่เป็นสารโปรตีน บางทีลอยๆ อยู่มันเสื่อมสภาพเร็วมาก มันต้องมีอะไรที่ดูแลมันอยู่ แต่ของ AstraZeneca คือเอาส่วนของพันธุกรรมของเชื้อ ที่ก็คือตรงนี้ไม่สามารถก่อโรคได้แน่ๆ  แล้วนำไปฝากไว้กับไวรัสตัวอื่น ที่ไม่เพิ่มจำนวนไม่ก่อโรคในคน คือมีเชื้อแต่ไม่ใช่เชื้อโควิด เป็นเชื้อที่ไม่เป็นอันตรายกับคน และอ่อนแอแล้ว ไม่เพิ่มจำนวน แล้วเอาส่วนของโควิดไปใส่ พอเข้าไปแล้วก็ไปกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน

ส่วนแบบดั้งเดิมอย่างของซิโนแวค ที่ราคาต่อโดสจะสูงกว่า เพราะกระบวนการผลิตเป็นเทคโนโลยีเก่า ซึ่งการที่จะทำให้เชื้อตาย การเพาะเลี้ยงเชื้ออย่างไรในปริมาณที่สูงที่ทำให้เชื้อตายแล้วมาผลิตเป็นวัคซีน ซึ่งรอบเวลากว่าจะผลิตออกมาได้ก็จะช้ากว่า เพราะกระบวนการจะยุ่งยากกว่า  ซึ่งเทคโนโลยีวัคซีนใหม่ๆ ส่วนหนึ่งที่เขาคิดมา ก็หวังจะรองรับเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินระดับโลกแบบนี้ เพราะวัคซีนที่ใช้ เทคโนโลยีเก่า กว่าจะผลิตได้แต่ละล็อตใช้เวลานานและทำยาก แต่อย่าง mRNA การผลิตแต่ละรอบผลิตได้เร็ว ก็จะเห็นอย่างซิโนแวคที่ฉีดที่จีน จะมีปริมาณเยอะ แต่ตอนหลังวัคซีนที่ผลิตที่สหรัฐฯ หรือยุโรปจะออกมา เพราะผลิตได้เร็วกว่าและทำให้ราคาต่อโดสถูกกว่า

ส่วนที่คนถามกันว่าแพงแล้วทำไมซื้อ ก็คือเป็นเรื่องภาวะฉุกเฉิน ตอนนั้นแอสตร้าเซนเนก้าจะเป็นวัคซีนหลัก ที่เราตั้งต้นจะฉีดให้ประชาชนเดือนมิถุนายน แต่ยังไม่ทันถึงเดือนมิถุนายนเราก็มาเจอการระบาดหนักรอบนี้ มีอะไรก็ต้องทุ่ม ต้องเอามาเพื่อหยุดชะลอไว้ก่อน โดยข้อดีของ แอสตร้าเซนเนก้า คือการฉีดเข็มแรกจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นไปในระดับที่สูงมาก สูงใกล้เคียงแบบฉีดสองเข็ม โดย แอสตร้าเซนเนก้า พบว่าฉีดที่อังกฤษ ที่เป็นต้นทางของโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ได้ผลดีและเป็นการระบาดในปัจจุบัน (ประเทศไทย) แต่ของ ซิโนแวค ต้องฉีดให้ครบสองเข็มก่อน ภูมิคุ้มกันถึงจะขึ้นมาเต็มๆ เยอะๆ โดยเข็มแรกอาจจะยังขึ้นช้าอยู่

ส่วนผมเองก็ฉีดซิโนแวค ก็ขอให้มั่นใจ คือถึงเวลานี้ หากฟังอาจารย์หมอหลายท่านที่ออกมาพูด คือมีวัคซีนตัวไหนที่จุดฉีดที่ไปก็ฉีดได้เลย ฉีดได้อย่างสบายใจ อาจารย์หมอจากโรงเรียนแพทย์ให้ความเห็นแบบไม่มีการเมือง ให้ความเห็นแบบไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ อย่างอาจารย์โรงเรียนแพทย์ก็ฉีดซิโนแวค ก็อยากบอกประชาชน จะเป็นวัคซีนยี่ห้อไหน อย่ากังวลเลยในเรื่องของความปลอดภัย การป้องกันการเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล วัคซีนดีเท่ากัน ความเสี่ยงก็น้อยเท่าๆ กัน ไม่ต้องไปกังวล และเป็นมาตรฐานเดียวกันกับวัคซีนที่ใช้ในสหรัฐฯ และยุโรปเช่นอังกฤษ 

            สำหรับเรื่องจำนวนคนที่จะมาฉีด ที่แสดงตัวว่าต้องการฉีดวัคซีนจริงๆ ที่ตอนนี้มีการลงทะเบียนไว้ประมาณหกล้านคน ซึ่งการลงทะเบียนอาจมีจำนวนมากจริง แต่พอวันจริง เช่นลงทะเบียนไว้จะฉีดวันนี้ 400 คน แต่ถึงเวลาคนมาฉีดเท่าไหร่ต้องดูกันอีกที เช่นคนอาจมีความไม่พร้อมทางร่างกายในวันที่ฉีด ที่ต้องย้ำว่าสุดท้ายการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องของความสมัครใจ อย่าให้ฉีดด้วยความรู้สึกว่า ฉันไม่พร้อม เพราะมันจะกลายเป็นความรู้สึกไม่มั่นใจ ยิ่งหากกังวล โอกาสที่จะกังวลเครียดแบบลึกๆ แล้วพอไปฉีดโอกาสที่จะรู้สึกอะไรต่างๆ ทั้งที่จริงไม่ได้เป็นอะไร มันก็มี จึงต้องเป็นการฉีดโดยความสมัครใจ

โอกาสโควิดสายพันธุ์อินเดีย

ระบาดในประเทศไทย?

-ในฐานะนักระบาดวิทยา มองว่าโควิดสายพันธุ์อินเดียมีโอกาสเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยได้หรือไม่?

            ยังคงต้องติดตามกันอยู่ว่าเป็นโควิดที่มีความรุนแรงกว่าปกติหรือไม่ แต่ที่อินเดียก็มีสองสายพันธุ์ย่อยที่กลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ โดยมีตัวหนึ่งที่ดูเหมือนจะแพร่ได้ไว และอีกตัวหนึ่งดูเหมือนจะแพร่ลักษณะเดียวกับสายพันธุ์อังกฤษ  ซึ่งเดิมที่อินเดียเป็นโควิดสายพันธุ์อังกฤษเป็นหลัก แต่ในเรื่องความกังวล หากในแง่ของวัคซีน ผมก็มองว่าต่อให้แม้แต่วัคซีนอาจจะดูดรอปลง ก็จะไม่กระทบกับการตัดสินใจฉีดวัคซีน เพราะอย่างตัวผมก็บอกกับพี่น้องเครือญาติของผม  คือยังไงผมก็จะฉีดวัคซีน เพราะกับวัคซีนปัจจุบัน ที่ทำออกมาภายใต้ชุดความรู้ที่มีอยู่ในเวลานั้น จนได้วัคซีนที่ดี ก็ควรฉีดไปเพื่อจะได้ควบคุมโควิดได้ในช่วงปัจจุบันนี้

หากมีสายพันธุ์ใหม่มา แล้วเราพัฒนาวัคซีนสำหรับสายพันธุ์ใหม่ จนได้รับการยอมรับ ก็ไปฉีดต่อ ก็จะเกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อ ผมคาดหวังอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องของสายพันธุ์ใหม่ของโควิด แล้วเริ่มจะไปรู้สึกว่าวัคซีนอาจจะไม่ดี พอไปถึงช่วงนั้นวัคซีนรุ่นสองอาจจะผลิตออกมาแล้วก็ได้ โดยหากเราอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ได้อยู่กันหนาแน่นเกินไป และมีร่างกายแข็งแรง ก็อย่าไปกังวลจนเกินไป แต่ก็ไม่อยากให้ถึงกับเบาใจจนคิดว่าจะติดหรือไม่ติดโควิดก็ช่าง จนคิดจะไม่ไปฉีดวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนยังไงก็ได้ประโยชน์กับปัจจุบัน รวมถึงกับสายพันธุ์อื่นๆ ที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน

            ส่วนปัญหาการลักลอบข้ามชายแดนที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดนั้น โดยธรรมชาติของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ก็ต้องมีการพบปะเจอกัน มีการเดินทาง จะห้ามสนิทก็คงยาก ก็มีช่วงหนึ่งคนพม่าเขาเดินทางกลับบ้านเขาเยอะ โดยหากระบบทำให้เขาเดินทางเข้ามาไทยโดยช่องทางปกติได้ดี ไม่ต้องหลบซ่อนเข้ามา มันก็จะช่วยในการป้องกันได้ โดยเมื่อตอนนี้อยู่ในช่วงการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน มีกำลังฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคงที่ตรวจตรา ก็มีการรายงานจากที่บริเวณชายแดนจุดต่างๆ ที่มีการลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ

                -การที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ของไทย  เป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้เรามีความมั่นคงทางวัคซีน?

            ผมให้แปดเต็มสิบเลย คือก่อนหน้าที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จะได้เป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เราเคยคุยกันมานานในเรื่องการผลิตวัคซีน ที่อยากให้เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ที่จะลงทุนแล้วเกิดโรงงานผลิตวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าพอจะไปสนับสนุนเอกชน บริษัทรายใด ก็จะมีเรื่องของระเบียบราชการ เช่นมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร ลำเอียงหรือไม่ ยิ่งก่อนหน้านี้ ยังไม่มีใครทำอะไรเป็น โอเคมีคนที่มีความรู้ระดับดอกเตอร์  รู้เทคโนโลยี แต่อุปกรณ์อะไรต่างๆ ในการผลิตก็ไม่มี ทำให้ในความเป็นจริงการทำให้เกิดโรงงานผลิตวัคซีนมันทำได้ยากมาก

ที่ประเทศอินเดีย ที่เป็นประเทศใหญ่มีคนยากจนเยอะ  แต่ผลิตวัคซีนได้ อินเดียเป็นแหล่งผลิตวัคซีนพื้นฐานของโลก จนคนบอกว่าหากเกิดแผ่นดินไหว จนโรงงานผลิตวัคซีนที่อินเดียผลิตวัคซีนไม่ได้ โลกจะขาดวัคซีน เพราะยุโรปเลิกผลิตวัคซีนแล้ว เพราะวัคซีนมันราคาถูก อีกทั้งในยุโรปโรคติดต่ออะไรต่างๆ ก็มีน้อย หรืออินโดนีเซียผลิตวัคซีนได้มาตรฐานส่งออกได้เลย โดยประเทศที่ซื้อหลักก็คือกลุ่มประเทศมุสลิม แต่ประเทศไทยเราผลิตไม่ได้ เราเคยทำวัคซีนวัณโรคอะไรต่างๆ ก็ใช้ได้ แต่มันมีระเบียบ ที่ว่าสิ่งที่หน่วยราชการผลิต ไม่ต้องไปตรวจคุณภาพเพราะถือว่า มาตรฐานผ่าน มันก็เลยไม่ผ่านของนานาชาติ ส่งออกก็ไม่ได้  โดยคนก็รู้ว่าประเทศไทยผลิตวัคซีนได้เอง ประเทศเพื่อนบ้านก็อยากจะซื้อ แต่เพราะยังไม่ผ่านมาตรฐาน GMP  (Good Manufacturing Practice) เพราะที่ผลิตก็ใช้กันแต่ภายในประเทศ ที่ก็มีมาตรฐานตามหลักเช่นการฆ่าเชื้อ แต่ในส่วนของโรงงานผลิตวัคซีน ก็มีบางแห่งที่เคยพยายามจะตั้งกัน เช่นขององค์การเภสัชกรรม แต่ก็มีข้อติดขัด เช่นขนาดพื้นที่ของโรงงานที่ยังกว้างไม่พอ ต้องไปหาซื้อที่สร้างโรงงานใหม่ เพราะการผลิตวัคซีนเป็นสเกลที่ใหญ่มาก แต่พอแอสตร้าเซนเนก้าเข้ามาดูมาตรฐานการผลิตต่างๆ ของสยามไบโอไซเอนซ์ จนเกิดความเชื่อมั่น ถึงตอนนี้เร็วมาก แค่ภายในหนึ่งปีเรากลายเป็นประเทศที่ผลิตวัคซีนของเชื้อที่เพิ่งเกิดภายในปีเดียว

 สิ่งนี้จะเป็นฐานที่ดี เช่นหากแอสตร้าเซนเนก้าเห็นว่า  โควิดสายพันธุ์แอฟริกาทำให้วัคซีนประสิทธิผลดรอปลง เราก็รับเทคโนโลยีมาแล้วก็ผลิตใหม่ได้เลย ผมก็มีความหวังลึกๆ ว่า ตรงนี้คือสิ่่งที่เป็นความมั่นคงจริงๆ เพราะเรามีคนที่ทำเป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าใหม่เลย ไม่มีโครงสร้างการผลิต ไม่มีนักวิจัยอะไรเลย เพราะตอนนี้นโยบายก็ชัด แล้วมีประสบการณ์การผลิตวัคซีนเองแล้วในประเทศไทย และพร้อมจะเป็นฐานส่งให้ประเทศอื่น 

-วิกฤติโควิดรอบสามดูแล้วจะยืดเยื้อนานแค่ไหน โดยเฉพาะใน กทม. และเดือนหน้ามิถุนายน แนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะสูงแบบเดือน พ.ค.หรือไม่?

            จากที่ผมเห็นตัวเลข จากมาตรการที่ออกมาเมื่อ 18  เมษายน ตอนนั้นก็คิดว่าสักสองสัปดาห์ พอสิ้นเดือนเมษายนมันก็น่าจะผ่อนลง หากเว้นระยะกันได้ดี แต่ปรากฏว่าแม้ปิดสถานบันเทิงไปแล้ว แต่การแพร่เชื้อต่อจากนั้นมันยังอยู่ ดูแล้วช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม ตัวเลขก็อาจไม่ได้ลงไปต่ำแบบช่วงธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งหากตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำกว่าวันละพันก็เป็นความฝัน แต่มันพูดยากเพราะตัวเลขแต่ละวันจะออกมาเท่าไหร่ แต่มันก็น่าจะทรงๆ ไปประมาณนี้

ก่อนหน้านี้มีคนทำ scenario ว่าหากควบคุมกันได้ดี ก็จะเหลือประมาณวันละ 300-400 คน ซึ่งหากมองในด้านดีจากพื้นฐานนักระบาดวิทยา หลังจากนี้ก็หวังว่ามันจะลดลงมาต่ำกว่าระดับวันละพันคน ให้กลับไปสู่จุดนั้นให้ได้ก่อน  จากที่เราเห็นตอนนี้วันละเฉลี่ยสองพันกว่าคน หากควบคุมกันได้ดี

            สำหรับคำถามที่ว่า เดือนมิถุนายนจะเห็นตัวเลขที่เยอะแบบเดือนพฤษภาคมหรือไม่ ก็อาจจะยังเห็นอยู่ ส่วนเดือนกรกฎาคม ถ้าเป็นไปได้ดีขึ้น และทำให้พฤติกรรมของคน ทำให้ห่างกันได้ โดยความร่วมมือกัน คาดหวังว่าเดือนกรกฎาคมอาจจะเห็นในทางดี คือตัวเลขอาจจะเริ่มลดลงจากเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตามเรื่องวัคซีนจะเห็นได้ว่า หลายประเทศฉีดวัคซีนให้ประชาชนกันแล้ว แต่จำนวนผู้ป่วยไม่ได้ลด แต่ความสบายใจในแง่ที่ว่า หากป่วยโควิดแล้วอาการจะไม่หนัก ดังนั้นหากจับจ้องที่จำนวนตัวเลขผู้ป่วย อาจจะเห็นว่าบางทีตัวเลขไม่ได้ลดลงแบบราบคาบ เพราะก็จะยังมีจำนวนผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอยู่ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลงชัดเจน

            "ขอย้ำว่า วัคซีนที่ดีที่สุด ก็คือวัคซีนที่ได้ฉีดเร็วที่สุด เพราะวัคซีนที่เลือกมาแล้ว ได้มาตรฐานทั้งเรื่องความปลอดภัย และการป้องกันผลทางสุขภาพ เพื่อไม่ให้ป่วยหนักรุนแรง การฉีดให้เร็วจะมีผลต่อการใช้ชีวิตและการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ หากเรายังลังเล รีรอ  จะไม่เกิดประโยชน์ และจะมีความเสี่ยงทั้งกับตัวเองและคนในครอบครัว รวมถึงในภาพรวมของสังคม การทำงานในอาชีพต่างๆ ที่จะกลับมาก็จะยิ่งช้าไปอีก ก็อยากบอกว่าอย่าลังเล มาร่วมกันฉีดวัคซีนตามระบบ” นพ.เฉวตสรรกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง. 

                                                                        โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

............


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"