รัฐบาลบอกว่าจะฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสให้แก่คนไทย 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชากร
หากได้อย่างนั้น รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจอยากให้เศรษฐกิจปีนี้โตประมาณ 3-4%
แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิดรอบ 3 ทำให้ตัวเลขเติบโตจีดีพีอันพึงประสงค์ถูกลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญ
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าถ้าหากฉีดวัคซีนล่าช้าไม่ถึง 64.6 ล้านโดสในปีนี้ ก็อาจจะฉุดจีดีพีดิ่งเหลือ 1% และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูงถึง 8-9 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
ประเมินจาก 3 ฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
กรณีที่หนึ่ง ถ้าจัดหาวัคซีนและฉีดได้ประมาณ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมีเฉพาะกับไตรมาส 1 หลังจากนั้นเศรษฐกิจจะเริ่มกระเตื้อง
กรณีนี้คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัว 2% และปีหน้า 4.7%
กรณีที่สอง หากได้เพียง 64.6 ล้านโดสภายในปีนี้ จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาส 3 ปีหน้า จะมีผลกระทบต่อจีดีพี -3% หรือประมาณ 4.6 แสนล้านบาท จะส่งผลให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวที่ 1.5% และปีหน้า 2.8%
กรณีที่สาม ถ้าได้ฉีดวัคซีนน้อยกว่า 64.6 ล้านโดสในปีนี้ ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดในไตรมาส 4 ปีหน้า จะมีผลให้จีดีพี -5.7% หรือประมาณ 8.9 แสนล้านบาทในช่วงปี 64-65 คาดว่าจีดีพีปีนี้จะลดลงเหลือ 1% และปีหน้า 1.1% เท่านั้น
แปลว่าวัคซีนคือปัจจัยตัดสินทุกอย่าง
คุณทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.เมื่อ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3
ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว
ด้านการเงิน มาตรการที่สำคัญคือ การกระจายสภาพคล่องไปยังธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่
โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะช่วยลดภาระทางการเงินได้อย่างตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ และยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดระลอกที่ 3
เพราะมีผลกระทบจากการใช้จ่ายในประเทศ และแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากการเปิดประเทศที่ช้ากว่าคาด และนโยบายจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน
แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
แต่ผลดีต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานโดยรวมยังมีจำกัด
ขณะที่มาตรการเยียวยาและมาตรการการเงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น
แรงกระตุ้นภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 อาจลดลงบ้างจากการเร่งเบิกจ่าย พ.ร.ก.กู้เงินในปีงบประมาณปัจจุบัน
ความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ได้แก่
(1) การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีนป้องกัน COVID-19
(2) การฟื้นตัวที่แตกต่างกันและไม่ทั่วถึง ทำให้ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น และส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนและการบริโภคภาคเอกชน และ
(3) ฐานะการเงินที่เปราะบางเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามรายได้ที่ลดลง
ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลง ทำให้ความสามารถในการรองรับค่าใช้จ่ายหดตัวลง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ
แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น
จำเป็นต้องติดตามให้การขยายตัวของสินเชื่อทั่วถึงมากขึ้นหลังมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูมีผลบังคับใช้
ทั้งหมดนี้คือ การส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะที่ถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงรุนแรงในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจริงๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |