ศบค.ย้ำประชุมสภายึดมาตรการ สธ. ห้ามจับกลุ่ม เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ให้อำนาจประธานผ่อนผันถอดได้ขณะอภิปราย "จุรินทร์" ยัน ปชป.หนุนร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 65 เรียก ส.ส.คุย 26 พ.ค.ห้ามแตกแถว "ฝ่ายค้าน" จี้ รบ.ทบทวนร่าง พ.ร.บ.งบฯ อ้างไม่ตอบโจทย์ปัญหา "พท." เตรียม 50 ส.ส.ชำแหละละเอียดยิบ "หญิงหน่อย" ซัดกู้เงิน 7 แสนล้านทำหนี้ประเทศพุ่ง "จตุพร" นัดอภิปรายไล่ประยุทธ์ 9 วันติด
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค.ครั้งที่ 7/2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการด้านสาธารณสุขในการจัดการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 พ.ศ.2564 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.นี้ โดยมีการเน้นย้ำให้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าตลอดการประชุม ยกเว้นในกรณีที่ผู้ควบคุมการประชุมจะผ่อนผันให้ถอดได้ขณะที่มีการอภิปรายเป็นการชั่วคราวในบางคราว แต่ถึงอย่างไรขอให้ใช้ตลอดเวลา โดยมอบหมายให้ทาง กทม.ร่วมกับสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นหน่วยงานกำกับติดตามในการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข ที่ กทม.ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนด
"อย่างเช่น ห้ามรวมกลุ่ม มีระยะห่าง ที่สำคัญที่สุดมีความกังวลกันว่าสำหรับผู้ติดตามที่จะมีจำนวนมากที่จะเข้ามาในการนำเสนอให้ข้อมูลการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ โดยได้คิดไปถึงกรณีที่จะต้องมีคนขับรถที่มารับ-ส่ง ซึ่งอาจจะไปรวมกลุ่มกันรับประทานอาหาร ขณะเดียวกันมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนจำนวน 2,000 โดส เพื่อให้มีการฉีดในช่วงก่อนที่จะมีการประชุมหรือระหว่างเริ่มเปิดประชุม โดยเริ่มฉีดในวันที่ 21-25 พ.ค.นี้" โฆษก ศบค.กล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระแรกของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวน่าจะผ่านไปได้ ส่วนที่ฝ่ายค้านจะรับร่างหรือไม่รับร่างขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านพิจารณา ในอดีตมีทั้ง 3 กรณีที่ฝ่ายค้านรับร่าง งดออกเสียง และไม่รับร่าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เพราะฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล หนึ่งในสิ่งที่ต้องตรวจสอบคือ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติ ฉะนั้นรัฐบาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจ
“ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะฉะนั้นตามหลักทั่วไปพรรคร่วมรัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องให้การสนับสนุน และสมมติว่าร่าง พ.ร.บ.งบฯ ซึ่งเป็นร่างของรัฐบาลเกิดไม่ผ่านที่ประชุมสภา โดยหลักสากลประชาธิปไตยรัฐบาลก็ต้องลาออก หรือไม่ก็ต้องยุบสภา เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่ว่าจะลงมติอะไรก็ได้ แต่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในระบอบรัฐสภาด้วย” นายจุรินทร์กล่าว
ถามว่า ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าการจัดงบประมาณครั้งนี้ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาโควิด-19 นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายค้านต้องท้วงติงว่ามีอะไรบ้าง รัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องรับฟัง อะไรมีเหตุผลก็นำไปปรับปรุงแก้ไข อะไรที่คิดว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ รัฐบาลก็ต้องยืนในจุดที่รัฐบาลยืนอยู่
"สำหรับพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาล รัฐมนตรีของพรรค 7 คนนั่งอยู่ในที่ประชุม ครม. ซึ่งให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา เพราะฉะนั้นที่ประชุม ส.ส.ของพรรคต้องให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบฯ ซึ่งนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธาน ส.ส.พรรค ก็จะนัดประชุม ส.ส.พรรคในวันที่ 26 พ.ค.นี้ช่วงบ่าย" หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ เท่าที่ดูเบื้องต้นฝ่ายค้านส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลไปทบทวนทำใหม่ เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นงบประมาณที่ไม่ได้สะท้อนปัญหา ไม่ได้ตอบโจทย์ของประเทศในปัจจุบันที่มีปัญหาโควิดกับเศรษฐกิจ แล้วมีการกู้เงินแบบซ้ำซ้อน ไม่มีรายละเอียดออกมาให้ ทั้งในร่าง พ.ร.บ.งบฯ และ พ.ร.ก.ที่เพิ่งผ่านมติ ครม. การจัดงบครั้งนี้ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับปัญหาของประเทศ ถ้าเข้าสภาก็เชื่อว่าสมาชิกฝ่ายค้านจะให้ผ่านได้โดยลำบาก ดังนั้นเวลาที่เหลือก็อยากให้รัฐบาลทบทวนปรับแก้ไขใหม่
นายสุทินกล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ปรับแก้เรื่องนี้ก็คงต้องไปต่อสู้กันในชั้นกรรมาธิการและวาระสอง วาระสามต่อไป เชื่อว่าสังคมเองก็ตามเรื่องนี้ และเชื่อว่าสังคมก็มีความคิดไม่ต่างจากฝ่ายค้าน ถ้ารัฐบาลไม่ฟังฝ่ายค้านก็น่าจะฟังสังคม
"พรรคร่วมฝ่ายค้านจะขอทำหน้าที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณให้ดีที่สุดเสียก่อน หลังจากผ่านเรื่องนี้ไปก็จะมาดูว่ามีแนวโน้มหรือมีความหวังว่าวิธีคิด วิธีทำงานของรัฐบาลจะดีขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ดีขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเข้มข้นเป็นลำดับจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ" ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรค พท. กล่าวว่า พรรค พท.เตรียมความพร้อมในเรื่องการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 แล้ว โดยอยู่ในช่วงของการแบ่งเนื้อหาสำหรับการอภิปราย ซึ่งมีสมาชิกที่ประสงค์อภิปรายแล้วประมาณ 50 คน โดยการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ ครั้งนี้จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การใช้เงินของรัฐบาล และแจกแจงออกมา ให้ประชาชนได้เห็นถึงกระบวนการใช้เงินของรัฐบาลอย่างละเอียด
"กรอบการอภิปรายเป็นหลายเรื่อง เรื่องแรกจะอภิปรายโครงสร้างการบริหารที่ล้มเหลว โดยจะพูดถึงภาพรวมการบริหารล้มเหลว ทำให้การจัดทำงบประมาณไม่สอดคล้องกับปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันในหลายกระทรวง เช่น กระทรวงกลาโหม ที่กองทัพเรือยังคงเสนอซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ ซึ่งไม่ควรในสถานการณ์ปัจจุบัน และมีการจัดงบที่อาจส่อไปในแนวทางทุจริต เอื้อประโยชน์พวกพ้อง มีหลายประเด็น เช่น การจัดงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม เรื่องที่สามคือจัดงบประมาณโดยไม่ให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เหล่านี้เป็นกรอบการอภิปรายที่เรากำหนดเอาไว้" ส.ส.พรรค พท.รายนี้ระบุ
ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณี ครม.มีมติเห็นชอบให้อำนาจกระทรวงการคลังออก พ.ร.ก.กู้เงินจำนวนไม่เกิน 700,000 ล้านบาท เพื่อใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 โดยแสดงความกังวลเรื่องจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสำหรับปีงบประมาณ 2565-2568 เท่ากับ 57.6/ 58.6/ 59 และ 58.7 ตามลำดับ ซึ่งการกู้เงินอีกจำนวน 700,000 ล้านบาท จึงเกิดข้อกังวลว่าการกู้ครั้งนี้ย่อมทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงเกินกว่าร้อยละ 60 อันเป็นกรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลังที่ยึดถือกันมาโดยตลอด
เช่นเดียวกับนายประมวล เอมเปีย หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าววว่า มติออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 7 แสนล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 นั้น พอเป็นที่เข้าใจว่ารัฐไม่มีรายได้จึงต้องกู้เพื่อมาแก้ปัญหาโควิด แต่ถามว่าที่ผ่านมา 2 ปี เงินกู้ก้อนแรก 1.1 ล้านล้านบาท ยังไม่เห็นว่าจะใช้แก้ไขปัญหาอะไรที่เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ต้องถามว่าเงินกู้ 1.1 ล้านล้านเอาไปทำอะไร เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาเลย
อย่างไรก็ดี นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ยืนยันการทำงานของนายกฯ และรัฐบาลตั้งแต่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน มีผลงานหลายอย่าง และปฏิรูปประเทศไปแล้วในหลายด้าน ทั้งการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปคุณภาพชีวิตชาวชุมชน รวมทั้งการเยียวยายามวิกฤติ
ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ peace talk ชวนประชาชนติดตามฟังและชมการอภิปรายออนไลน์ เริ่มตั้งแต่ 22 พ.ค.ติดต่อกัน 9 วัน ในหัวข้อ “7 ปีรัฐประหาร 9 วันไล่ประยุทธ์” ในการยึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค.2557.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |