ไทยติดเชื้อเพิ่ม 3,481 ราย ดับ 32 คน คร่าหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ผงะ! โควิดสายพันธุ์อินเดียโผล่แคมป์คนงาน 36 คน สธ.แจงผู้ป่วยอาการยังไม่รุนแรง ยันวัคซีนเอาอยู่ นายกฯ สั่งคุมเข้มสกัดแพร่ "อนุทิน" ถกด่วนหน่วยเกี่ยวข้อง สั่งปิดไซต์งานใช้บับเบิลแอนด์ซีลตรวจหาเชื้อทั้งหมด กทม.ลุยฉีดวัคซีน 7 ชุมชนรอบแคมป์หลักสี่ วางมาตรการเข้มทั่วกรุง
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม เวลา 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค. ครั้งที่ 7/2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เห็นชอบให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. - วันที่ 31 ก.ค. โดยเหตุผลเพื่อการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 เป็นหลัก
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ได้รับทราบตามที่ ศปก.ศบค.อนุมัติเรื่องการเลื่อนการเปิดเทอมออกไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการ และ กทม.เสนอเป็นกรณีไปในบางพื้นที่ แล้วจัดให้มีการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ โดย ศบค.ยังมีมติด้วยว่า ให้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ยังคงไม่อนุญาตให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไซต์ ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด 17 จังหวัด ให้ใช้อาคารได้ แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และให้จัดการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ออนไซต์ได้ ทั้งนี้ ให้ทางโรงเรียนประเมินความพร้อม ส่วนพื้นที่ควบคุม 56 จังหวัด ให้จัดการเรียนการสอนได้ ให้มีการรวมกลุ่มคน แต่จะต้องมีการกำหนดมาตรการ หรือจัดให้มีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ได้ อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ ได้นำเสนอการวางแผนมาตรการแนวปฏิบัติของสถานศึกษาเพื่อดำเนินการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 14 มิ.ย. โดยย้ำให้สถานศึกษาต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด ขณะเดียวกัน โรงเรียนจะต้องมีการประเมินความพร้อม ไทยสต็อปโควิด ที่เป็นแบบประเมินตนเอง เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ มั่นใจต่อผู้ปกครองและนักเรียนว่าจะดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลและส่วนภาพรวมได้ และหลังจากประเมินแล้วขอให้ทางโรงเรียนขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเพื่อเปิดเรียนอย่างเต็มรูปแบบขึ้นมา
ในที่ประชุม ศบค. ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,481 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,518 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,644 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 874 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 951 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 123,066 ราย หายป่วยสะสม 79,504 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วย 2,868 ราย อยู่ระหว่างรักษา 42,827 ราย อาการหนัก 1,248 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 408 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 32 ราย เป็นชาย 17 ราย หญิง 15 ราย อยู่ใน กทม. 15 ราย นนทบุรี 6 ราย สมุทรสาคร 2 ราย นครปฐม พัทลุง สุรินทร์ นครราชสีมา ยะลา สมุทรปราการ ร้อยเอ็ด พังงา นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว สาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่ติดจากคนในครอบครัว อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้เป็นหญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ 1 ราย ผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุดคือ 21 ปี ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 735 ราย
ทั้งนี้ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 1,036 ราย สมุทรปราการ 457 ราย นนทบุรี 163 ราย ปทุมธานี 162 ราย ชลบุรี 127 ราย เพชรบุรี 77 ราย ระนอง 54 ราย ตาก 45 ราย สมุทรสาคร 40 ราย สงขลา 36 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 165,842,599 ราย เสียชีวิตสะสม 3,444,656 ราย
ไวรัสอินเดียโผล่แคมป์หลักสี่!
"มีการรายงานสถานการณ์การระบาดใน กทม. ระหว่างวันที่ 22 เม.ย. – 20 พ.ค.ว่า การระบาดมีทั้งหมด 35 คลัสเตอร์ กระจายตัวอยู่ใน 23 เขต และที่ระบาดหนักอยู่ใจกลาง กทม. ได้แก่ คลองเตย ราชเทวี ปทุมวัน บางรัก ป้อมปราบศัตรูพ่าย หลักสี่ ดินแดง และนายกรัฐมนตรีได้รับทราบว่ามีการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่แคมป์คนงานก่อสร้างหลักสี่ โดยมี 15 ราย ที่ตรวจพบว่าเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย ขณะนี้โรงพยาบาลดูแลอย่างดี มีการส่งทีมสอบสวนโรคเข้าไปดูแลและควบคุมป้องกันการติดเชื้อ หลังมีหลายประเทศพบสายพันธุ์อินเดียระบาด" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
ขณะเดียวกัน นายกฯ ยังได้กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และมอบหมายให้ศูนย์บูรณาการแก้ไขโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ให้ร่วมมือทำงานกับทุกภาคส่วน โดยมีจุดมุ่งเน้นดังนี้ คือ เน้นตรวจสอบสภาวะอนามัยในแคมป์คนงานที่ยังไม่มีการติดเชื้อ จัดระเบียบตลาดนัด ร้านค้า ชุมชน ดูแลสุขภาวะอนามัยในร้านอาหาร ผู้ขับรถขนส่งอาหาร จัดระเบียบการเดินทางขนส่งสาธารณะทุกประเภท และเน้นย้ำมาตรการเวิร์กฟรอมโฮมของทุกหน่วยงานว่ามีหารปฏิบัติกันอย่างจริงจังหรือไม่
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ในที่ประชุม นายกฯ ระบุว่า ทุกวันนี้เราไล่ตามผู้ติดเชื้อแล้วมารายงานตัวเลข จึงเน้นย้ำว่าต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างจริงจัง โดยยกตัวอย่างมาตรการของจีนที่ประสบความสำเร็จในการเผชิญหน้ากับโควิด-19 ที่อู่ฮั่น จำนวน 4 ข้อ ได้แก่ 1.พื้นที่ที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดต้องใช้การป้องกันและดูแลเป็นพิเศษ ไม่ให้มีการนำเชื้อเข้ามาในพื้นที่ 2.พื้นที่ที่เริ่มมีผู้ป่วย ให้ใช้มาตรการค้นหาควบคุมการระบาดในพื้นที่ 3.พื้นที่ที่มีการระบาดเป็นกลุ่ม ต้องคุมการแพร่โรค ป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อไปพื้นที่อื่น ให้การรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุด และ 4.พื้นที่ที่มีการระบาดมาก ต้องดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก ควบคุมการแพร่เชื้อ ควบคุมการเดินทาง ซึ่งเรารับรู้มาตรการเหล่านี้เป็นอย่างดี และนำข้อมูลมาบูรณาการในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ นายกฯ ยังห่วงที่สุดเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันที่สูงขึ้น โดยระบุว่าการเสียชีวิตมีแค่รายเดียวก็เป็นความสูญเสียที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงขอให้ฝ่ายการแพทย์ร่วมมือกันวางยุทธศาสตร์และดูแลผู้ป่วยอย่างดี บูรณาการทรัพยากรต่างๆ ยาเวชภัณฑ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และขอให้ติดตามความก้าวหน้าการวิจัยยาภูมิปัญญาไทยที่นอกเหนือไปจากวัคซีน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวตอนท้ายว่า หลังจากนี้จะมีการปรับรูปแบบการสื่อสารกับประชาชน จากเดิมที่เราอธิบายเรื่องของโรค ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีความเข้าใจกันแล้ว จากนี้จะนำเสนอชุดข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับรายงานพบแรงงานในแคมป์คนงานหลักสี่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย 15 คน ซึ่งจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ รวมถึงประสานกับ กทม.เจ้าของพื้นที่ด้วย เบื้องต้นคงต้องปิดหรืองดการทำงาน และนำคนงานทั้งหมดมาตรวจคัดกรองหาเชื้อ จากนั้นบับเบิลแอนด์ซีล จากการสอบถามทีมแพทย์ยังให้ความมั่นใจว่าวัคซีนที่ได้นำมาฉีดในประเทศไทยทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวคนั้น ยังป้องกันอาการหนักและป้องกันการเสียชีวิตได้ เมื่อติดโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งนี้ นายกฯ ได้กำชับให้กวดขันในแคมป์คนงานให้มาก บริษัทที่ว่าจ้างคนงานต้องมีมาตรการที่เข้มข้น
สธ.ยันวัคซีนเอาอยู่
ที่กระทรวง?สาธารณสุข? นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า มีการค้นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียในประเทศไทย หรือ B.1.617.2 โดยสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ค้นพบที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งสายพันธุ์ที่ทั่วโลกพูดถึงและจับตาดูอยู่จะมีสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้ โดยเป็นสายพันธุ์ที่ประเทศไทยมีการถอดรหัสพันธุกรรมและรวบรวมข้อมูล รวมถึงใช้หลักระบาดวิทยามาอ้างอิง ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่มีการระบาดในประเทศไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ การแพร่กระจายเชื้อเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ประเทศจีน
ส่วนสายพันธุ์อินเดียมีการค้นพบในหลายประเทศ โดยประเทศที่มีการถอดรหัสพันธุกรรมและค้นพบมากที่สุดคือ ประเทศอังกฤษ รวมทั้งประเทศมาเลเซีย และล่าสุดที่มีการระบาดที่สนามบินชางงี สิงคโปร์ ข้อมูลล่าสุดพบว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย ขณะที่เมียนมาและกัมพูชายังมีข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมที่ค่อนข้างจำกัด แต่เชื่อได้ว่าอาจจะมีสายพันธุ์อินเดียอยู่แล้วเหมือนกัน ดังนั้นประเทศไทยมีโอกาสที่จะพบสายพันธุ์อินเดียหลุดรอดเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยได้
"การแพร่ระบาดที่แคมป์คนงานก่อสร้างเขตหลักสี่ และได้มีการนำตัวอย่าง 61 ตัวอย่าง ไปตรวจหาสายพันธุ์ พบว่าเป็นสายพันธุ์ที่ตรงกับสายพันธุ์อินเดียอยู่ 15 ตัวอย่าง หรือ 15 คน โดยเป็นเพศชาย 7 คน เพศหญิง 8 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี ทั้ง 15 คน ขณะนี้ส่วนใหญ่อาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง ยังรักษาอยู่ใน รพ. โดยในจำนวน 15 ตัวอย่างนี้ พบว่าเป็นคนงานที่อยู่ในแคมป์ก่อสร้าง 12 คน ส่วนอีก 3 คน เป็นผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านกับคนในแคมป์คนงาน โดยจะมีการสอบสวนควบคุมโรคและติดตามผู้สัมผัสต่อไป" อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุ
สำหรับสายพันธุ์ดังกล่าว มีข้อมูลจากประเทศอังกฤษ Public Health England พบว่า สายพันธุ์อังกฤษกับสายพันธุ์อินเดีย การแพร่กระจายเชื้อไม่แตกต่างกัน ส่วนความรุนแรงของโรคยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์อินเดียมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษ และเรื่องการดื้อวัคซีนพบว่า สายพันธุ์อินเดียยังไม่ดื้อต่อวัคซีน โดยเฉพาะยี่ห้อหลักที่ประเทศไทยนำเข้ามาใช้อยู่คือ แอสตร้าเซนเนก้ายังสามารถป้องกันสายพันธุ์อินเดียและอังกฤษได้ โดยเห็นได้ว่าที่ประเทศอังกฤษมีการใช้แอสตร้าเซนเนก้า ปรากฏว่าการระบาดลดน้อยลง
ต่อมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 กรมได้ตรวจรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่างที่ส่งมาจากแคมป์คนงานก่อสร้าง และบริเวณใกล้เคียง จำนวน 80 ตัวอย่าง พบว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) จำนวน 36 ราย เป็นคนไทย 21 ราย คนงานชาวพม่า 10 ราย และกัมพูชา 5 ราย ที่เหลือเป็นสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) และยังมีตัวอย่างจากการค้นหาเชิงรุก จากพื้นที่อื่นใน กทม.อีก 2 แห่ง แต่พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทย เชื้อที่พบจะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ 87% เพิ่งตรวจพบสายพันธุ์อินเดีย และจะได้ขยายการนำตัวอย่างจากคลัสเตอร์อื่นๆ มาตรวจรหัสพันธุกรรม เพื่อดูการกระจายตัวต่อไป
คุมเข้มไซต์คนงานทั่วกรุง
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผ่านระบบซูม มีตติ้งว่า ที่ประชุมได้ชี้แจงแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยผู้ประกอบการควรจัดให้มีการคัดกรองเบื้องต้น ด้วยการสังเกตผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ให้หยุดปฏิบัติงานและพาไปพบแพทย์ จัดหาหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่ หรือจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ สำหรับคนงานอย่างเพียงพอ เตรียมวางแผนการปฏิบัติ และทำความเข้าใจกับคนงาน กรณีมีผู้ป่วยยืนยัน เช่น การห้ามโยกย้าย การใช้พื้นที่ในการแยกผู้ป่วย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง การจัดการผู้ป่วยที่หายแล้วกลับมาทำงาน การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ทันทีเพื่อรับทราบและปฏิบัติตามคำแนะนำ ทั้งนี้ กรณีพบผู้ป่วยให้ผู้ประกอบการแจ้งอีโอซี (EOC) สำนักอนามัย โทร.09-4386-0051 หรือ 08- 2001-6373 หรือ 0-2245-4964
สำหรับมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างพื้นที่เขตใน กทม. ให้ผู้ประกอบการแจ้งฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตต้นทางและปลายทางทราบ ก่อนเดินทางไม่น้อยกว่า 7 วัน และให้เคลื่อนย้ายแรงงานให้เรียบร้อย ภายใน 1 วัน ระบุเหตุผลความจำเป็น และข้อมูลในการเดินทางเพื่อการทำงานข้ามเขต และให้แจ้งเขตปลายทางทราบ รวมทั้งให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตอย่างเคร่งครัด โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.นี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ กทม.ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ คำแนะนำในการป้องกันโควิด-19 ในสถานที่ก่อสร้าง ทั้งภาษาไทย ภาษาเมียนมา ภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการและแรงงานในการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งสำนักงานเขตจะร่วมกับภาคีเครือข่ายตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง
นายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ กทม. แจ้งว่า กรณีแคมป์คนงาน (ที่พัก) บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ซอยยายผล เขตหลักสี่ ซึ่งจากผลการตรวจค้นหาเชื้อเชิงรุกคนงานทั้ง หมด 1,667 ราย พบว่ามีคนงานติดเชื้อจำนวน 1,081 คน โดยคนงานทุกรายมีสถานพยาบาลรองรับเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันสำนักงานเขตหลักสี่ได้ตรวจคัดกรองเชิงรุกประชาชนในชุมชนโดยรอบแคมป์คนงาน 7 ชุมชน พร้อมทั้งจะดำเนินการฉีดวัคซีนเร่งด่วนเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันเสริมและจำกัดวงการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายในวงกว้าง ในวันที่ 25-29 พ.ค.64 ณ โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์)
วันเดียวกัน นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงว่า พบการติดเชื้อรายใหม่ในทัณฑสถานหญิงธนบุรี ทำให้มีเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศที่พบผู้ติดเชื้ออยู่จำนวน 12 แห่ง โดยมีผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 842 ราย รักษาหาย 319 ราย รวมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการรักษา 14,049 ราย ทั้งนี้ มีการตรวจเชื้อในผู้ต้องขังแล้วจำนวน 36,627 ราย ตรวจครบ 100% จำนวน 8 แห่ง คือ 1.เรือนจำกลางเชียงใหม่ 2.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 3.ทัณฑสถานหญิงกลาง 4.เรือนจำกลางคลองเปรม 5.เรือนจำพิเศษธนบุรี 6.ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง 7.เรือนจำจังหวัดนนทบุรี และ 8.ทัณฑสถานหญิงธนบุรี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |