คาดไตรมาส4ศก.ฟื้น กู้7แสนล.หนี้แตะ60%


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" คาดเศรษฐกิจฟื้นตัวในไตรมาส 4 ร้อยละ 2.3-2.5 และขยายตัวต่อเนื่องในปีหน้า ขณะที่ “กสิกร” ห่วงรัฐตะลุยกู้สู้โควิด-19 เพิ่มอีก 7 แสนล้านบาท ดันยอดหนี้สาธารณะแตะเพดาน 60% ของจีดีพี ทำรัฐต้องเร่งขยายเพดานหนี้เพิ่ม คาดสิ้นปีงบประมาณหนี้ประเทศอยู่ที่ 59.6% ของจีดีพี พร้อมคงจีดีพีปีนี้โต 1.8

    เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิกเกอิ เนื่องในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 26 ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์นิกเกอิ ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังคงมีสัญญาณบวกในบางสาขา อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ การอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และ SMEs ได้แก่ 1.มาตรการเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และคงการไหลเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ 2.มาตรการทางการเงินและทางภาษี 3.มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งจากมาตรการเศรษฐกิจและแผนการด้านวัคซีนของรัฐบาลตามเป้าหมาย เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ที่ร้อยละ 2.3-2.5 ส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 การท่องเที่ยวฟื้นตัว เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7 ในปีหน้า ทั้งนี้ ไทยยินดีที่รัฐบาลและและเอกชนญี่ปุ่นเชื่อมั่นในศักยภาพเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสให้ไทยและญี่ปุ่นร่วมมือเพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ไทยคำนึงถึงข้อแนะนำของเอกชนญี่ปุ่นและพร้อมร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม การเสริมสร้างอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งสามารถร่วมมือกันในลักษณะ win-win
    ด้านแผนและมาตรการเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งไทยได้เปรียบเรื่องที่ตั้งที่เป็น “connecting point” ของภูมิภาค จึงมีศักยภาพสำหรับการขับเคลื่อนการลงทุน โดยได้ผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนและของภูมิภาค โดยมุ่งเน้นสาขาที่ไทยมีศักยภาพ
    นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดการปัญหาโลกร้อน รัฐบาลไทยพร้อมดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อน ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งค่าเป้าหมายขั้นต่ำในการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ร้อยละ 20 และขั้นสูงไว้ที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติภายในปี ค.ศ.2030 โดยไทยยึดมั่นที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหานี้ตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส รวมทั้งได้บูรณาการประเด็นดังกล่าวในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 7 แสนล้านบาท โดยระบุว่า การกู้เงินเพิ่มเติมนี้จะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยเข้าใกล้เพดานหนี้ที่ 60% ของจีดีพีเร็วขึ้น และภาครัฐจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยการขยายเพดานหนี้สาธารณะนั้นยังอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้
    ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ราว 58.7-59.6% ของจีดีพี จากระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน มี.ค.2564 อยู่ที่ 54.3% ของจีดีพี ภายใต้สมมติฐานที่รวมกรอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาทแล้ว และคาดว่าจะมีการกู้เงินจริงประมาณครึ่งหนึ่งของวงเงินทั้งหมด ภายในสิ้นปี 2564
    โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงตัวเลขประมาณการอัตราการขยายตัวของจีดีพีในปี 2564 ไว้ที่ระดับ 1.8% แม้ปกติการกู้เงินและใช้จ่ายเพิ่มเติมของรัฐบาลน่าจะมีส่วนกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ดำเนินอยู่ ทำให้รายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภคแตกต่างไปจากในช่วงปกติ โดยสุดท้ายแล้วผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจของการกู้และใช้จ่ายเพิ่มเติมของรัฐบาล จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาด ทำให้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จึงจะสามารถสรุปผลของ พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้านบาท ต่อตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ ซึ่งจากนี้จะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ เพื่อใช้ในการประมาณการในช่วงถัดๆ ไป
    “การกู้เงินเพิ่มเติมดังกล่าวจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นแก่รัฐบาลในการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยการใช้วงเงินกู้จริงคงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและภาวะเศรษฐกิจในช่วงข้างหน้า ในทางตรงข้าม หากไม่มี พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาทนี้ แต่การแพร่ระบาดยังไม่ทุเลาลง รัฐบาลก็จะขาดเครื่องมือทางการคลังในการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกกระทบ”
    อย่างไรก็ดี ประเด็นติดตามอยู่ที่ปฏิกิริยาตอบสนองของนักลงทุนต่อการกู้เพิ่มของภาครัฐ ซึ่งการสื่อสารจากทางภาครัฐและแผนการรักษาวินัยทางการคลังต่อจากนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยหากนักลงทุนมีมุมมองว่าการกู้เพิ่มในครั้งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับวินัยทางการคลัง การกู้เพิ่มอีก 7 แสนล้านอาจจะไม่ได้เป็นประเด็นต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่หากนักลงทุนมีคำถามเกี่ยวกับประเด็นการรักษาวินัยทางการคลังที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงและความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว การกู้เงินเพิ่มเติมอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมนั้นเพิ่มสูงขึ้น
    นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การกู้เงินเพิ่มอีกถึง 7 แสนล้านบาทจะยิ่งทำให้หนี้สาธารณะพุ่งทะลุเกิน 9 ล้านล้านบาท และหนี้จะทะลุเกิน 60% ของจีดีพี เพราะการเก็บรายได้ในปีนี้จะขาดมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้สถานะทางการคลังของไทยย่ำแย่ลงไปอีก อีกทั้งในอนาคตรัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาใช้หนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ พิสูจน์แล้วว่าใช้เงินมาก แต่หาเงินไม่เป็น  การจัดเก็บรายได้พลาดเป้ามาทุกปี ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นตลอด และปัจจุบันการเก็บรายได้คิดเป็นแค่ 15% ของจีดีพีเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลจะไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ หนี้ของประเทศจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ แต่ประเทศไม่ได้พัฒนาเลย จริงอยู่แม้การช่วยเหลือประชาชนในยามลำบากเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ก็ควรจะตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และไม่อยากให้เป็นช่องทางของการทุจริตคอร์รัปชัน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"