ต่อฉุกเฉินถึง31ก.ค. ผุดแคมป์แยกต่างด้าวบิ๊กตู่มั่นใจคุมโควิดอยู่


เพิ่มเพื่อน    

  "ในหลวง-พระราชินี" พระราชทานเครื่องช่วยหายใจแก่ "สำนักการแพทย์ กทม.-รพ.ภูมิพล" ศบค.เผยผู้ติดเชื้อใหม่ 2,636 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 25 ราย แนะ กทม.เร่งตั้ง "แคมป์ควอรันทีน" ดูแลผู้ป่วยแรงงานต่างด้าว "เรือนจำ" ติดเชื้อเพิ่ม 999 ราย สธ.เตรียมฉีดวัคซีนให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขังทั่วประเทศ  "บิ๊กตู่" มั่นใจคุมสถานการณ์โควิดได้ "เลขาฯ สมช." เตรียมชง ศบค.ชุดใหญ่ 21 พ.ค. ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือนถึง 31 ก.ค. "ทำเนียบฯ" เริ่มผ่อนคลายสื่อเข้าทำข่าว

    เมื่อวันที่ 20 พ.ค. เวลา 10.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กลับมาแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อนำไปจัดหาเครื่องช่วยหายใจชนิดอัตราไหลสูง hi flow nasal cannula (HFNC)  NeoHif - i7 จำนวน 33 เครื่อง พระราชทานแก่สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปใช้รักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่มีปัญหาระบบการหายใจเพิ่มขึ้นจำนวนมากในขณะนี้ โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาล คณะแพทย์ และผู้บริหาร เข้าร่วมพิธีรับพระราชทานหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ยังความปลื้มปีติแก่ผู้ป่วย แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ต่างล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
    จากนั้น เวลา 13.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อนำไปจัดหาเครื่องช่วยหายใจชนิดอัตราไหลสูง
hi flow nasal cannula (HFNC)  NeoHif-i7 จำนวน 10 เครื่อง พระราชทานแก่โรงพยาบาลภูมิพล กรมแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ เพื่อนำไปใช้รักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีปัญหาระบบการหายใจเพิ่มขึ้นจำนวนมากในขณะนี้ โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาล และคณะแพทย์เข้าร่วมพิธีรับพระราชทานหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ยังความปลื้มปีติแก่ผู้ป่วย แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ต่างล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณา
    ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,636 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,907 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,385 ราย จากการคัดกรองเชิงรุก 522 ราย อยู่ในเรือนจำที่ต้องขัง 671 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 58 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 119,585 ราย ผู้ป่วยหายเพิ่ม 2,268 ราย ยอดผู้หายป่วยสะสม 76,636 ราย อยู่ระหว่างรักษา 42,246 ราย อาการหนัก 1,213 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 405 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 25 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 7 ราย อยู่ใน จ.กทม. 11 ราย, ปทุมธานี 3 ราย, เชียงใหม่ 2 ราย, ลำปาง ลำพูน ยโสธร ราชบุรี เพชรบูรณ์ สระบุรี  ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และสมุทรปราการ อย่างละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีการติดเชื้อในครอบครัว ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 703 ราย
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศมีถึง 7 คนที่เดินทางจากกัมพูชาโดยใช้ช่องทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่ระบุอาชีพแอดมินออนไลน์ จึงขอไม่ว่าจะออกจากต่างประเทศถูกต้องหรือไม่ แต่ให้กลับเข้ามาอย่างถูกต้อง เพราะถ้าติดเชื้อและเข้าไปอยู่ในชุมชน จะเป็นปัญหาทางสาธารณสุข ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อ 165,550,534 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 3,431,513 ราย
ลั่นคุมสถานการณ์โควิดอยู่
    "จังหวัดผู้ที่ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กทม. 1,001 ราย, เพชรบุรี 124 ราย,  นนทบุรี 99 ราย, ปทุมธานี 89 ราย, ชลบุรี 65 ราย โดยมีถึง 24 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อคือ ระยอง ภูเก็ต ขอนแก่น พัทลุง พิษณุโลก ลำพูน ลำปาง ร้อยเอ็ด นครพนม ยโสธร น่าน ชุมพร พะเยา เลย แพร่ อุตรดิตถ์ ชัยนาท หนองคาย พังงา อำนาจเจริญ มุกดาหาร หนองบัวลำภู บึงกาฬ และสตูล และถ้าดูจากตัวเลขการติดเชื้อระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค. มี 3 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อคือ ลำพูน ชัยนาท และหนองบัวลำภู และมี 39 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย ขณะที่ข้อมูลการติดเชื้อในเรือนจำและสถานที่ต้องขังระหว่างวันที่ 1-20 พ.ค. มีทั้งสิ้น 13,159 ราย มากที่สุดคือเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  รองลงมาคือเรือนจำธนบุรี และคลองเปรม" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า จากการประชุมศูนย์บริหารแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในกทม.และปริมณฑล มีการพูดคุยเฉพาะการติดเชื้อใน กทม. ที่มีถึง 1,001 ราย แบ่งเป็นจากระบบเฝ้าระวังฯ คนไทย 541 ราย ต่างด้าว 167 ราย จากการค้นหาเชิงรุกคนไทย 132 ราย ต่างด้าว 161 ราย ทำให้ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานต่างด้าว เพราะจากข้อมูลมีแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายใน กทม.และปริมณฑลทั้งสิ้น 1,318,641 คน อยู่ในกทม.ถึงกว่า 500,000 คน และจากการประมาณการ มีแรงงานต่างด้าวแบบไม่ถูกกฎหมายทั่วประเทศหลักล้าน ซึ่งคนเหล่านี้มักจะไม่อยู่นิ่ง เพราะต้องหลบหนีเคลื่อนย้ายอยู่ตลอด โดยจะไปอยู่เป็นกลุ่มก้อนกับแรงงานที่ถูกกฎหมายในสถานที่แออัด จึงเป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ
    "ที่ปรึกษา ศบค.จึงเสนอให้จัดตั้งศูนย์คัดแยกแรงงานต่างด้าวเป็นการเฉพาะ อาจจะทำเป็นแคมป์ขึ้นมา เช่น กรณีโรงพยาบาลสนามที่ปทุมธานีใช้ตลาดเก่าเป็นที่ดำเนินการ เพื่อแยกออกมาจากชุมชน และมีการส่งข้าวส่งน้ำ ซึ่งโมเดลนี้ กทม.ควรรีบทำ ใครที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายก็ต้องอาจนิรโทษกรรมและนำเข้ามาในระบบให้ถูกต้อง ขณะที่การระบาดในพื้นที่ กทม.มีคลัสเตอร์ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 36 คลัสเตอร์ กระจายใน 25 เขต ที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุดมี 23 คลัสเตอร์ อาทิ ตลาดห้วยขวาง แฟลตดินแดง แคมป์ก่อสร้างเขตหลักสี่ ตลาดบางกะปิ ฯลฯ กลุ่มเฝ้าระวังมี 4 คลัสเตอร์ และที่พบใหม่ 1 คลัสเตอร์คือแคมป์คนงานเขตบางพลัด และที่ควบคุมการระบาดได้แล้วมีจำนวน 8 คลัสเตอร์" โฆษก ศบค.กล่าว
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.ต้องการทีมสอบสวนโรค ทั้งพยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ทีมละ 4 คนเพิ่มขึ้น เพื่อลงไปในแต่ละเขต และต้องการทีมฉีดวัคซีนเพิ่ม ที่มีแพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร ขอแรงมาทำงาน โดยสามารถโทร.ไปได้ที่เบอร์ 06-4805-2620
    นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า กทม.ได้ประกาศปิดตลาดที่เกิดการแพร่ระบาดแล้ว 10 แห่ง เพื่อล้างทำความสะอาดและฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ และตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ให้กับผู้ประกอบการค้าและลูกจ้างที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงประชาชนและชุมชนใกล้เคียง 1.ตลาดยิ่งเจริญ 2.ตลาดกลางดินแดง 3.ตลาดบางกะปิ 4.ตลาดคลองเตย 5.ตลาดสามย่าน 6.ตลาดสดหนองจอก 7.ตลาดสายเนตร 8.ตลาดศาลาน้ำร้อน 9.ตลาดลำนกแขวก และ 10.ตลาดนัดผู้ใหญ่อ้วน   
    ที่กรมราชราชทัณฑ์ นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ (ศบค.รท.) แถลงสถานการณ์โควิดในเรือนจำและทัณฑสถานว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ในวันนี้จำนวน 999 ราย ทำให้มีผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการรักษา 13,534 ราย มีเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศที่พบผู้ติดเชื้ออยู่จำนวน 11 แห่ง
    "หลังอธิบดีกรมราชทัณฑ์เข้าหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ.เตรียมจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับฉีดให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำทัณฑสถานทั่วประเทศ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน" โฆษก ศบค.รท.กล่าว
    นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลบุษราคัม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่าขณะนี้โรงพยาบาลบุษราคัมรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามาดูแลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีแผนขยายเตียงรองรับเพิ่มอีก 1,000 เตียง
    วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิกเกอิ เนื่องในการประชุม International Conference  on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 26 ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์นิกเกอิ โดยพล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามประเด็นการบริหารสถานการณ์ภายในประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ว่า ขณะนี้ไทยยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง บุคลากรทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ การดูแลประชาชนได้ทั่วถึง รวมทั้งการมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด้วย
ต่อ พรก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน
    "รัฐบาลได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค และได้ดำเนินการทั้งเชิงป้องกันและการรักษาผู้ติดเชื้อ รวมทั้งดำเนินการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากร อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะฉีด วัคซีนให้คนต่างชาติในไทยด้วย และเมื่อเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ในเดือนมิถุนายนได้ตามแผน เชื่อว่าสถานการณ์จะยิ่งดีขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 21 พ.ค. จะมีการพิจารณาขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะนำมาใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้ โดยขณะนี้ ศบค.ชุดเล็กกำลังประเมินสถานการณ์ว่าจะขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีกกี่เดือน เพื่อเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ แต่ส่วนตัวมองว่าการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ควรจะนาน เบื้องต้นเห็นว่าควรขยายตลอดเดือน มิ.ย.นี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้บางพื้นที่เกิดการทำงานอย่างบูรณาการ
    มีรายงานว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 7/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธาน วันที่ 21 พ.ค. จะมีการหารือกันในหลายวาระด้วยกัน โดยวาระที่สำคัญ พิจารณาความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ตามข้อเสนอของ ศปก.ศบค.ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็น ผอ.ศปก.ศบค.เสนอ
    "การพิจารณาขยายต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ทาง ศปก.ศบค.ได้เสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ให้พิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออก 2 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค. โดย ศปก.ศบค.ยึดตามเหตุผลของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้มีการประเมินสถานการณ์ไว้ว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 2 เดือนในการควบคุมการการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากต่อเพียง 1 เดือนหรือ 30 วันอาจจะไม่เพียงพอ" แหล่งข่าวระบุ
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากที่ทำเนียบฯ ออกมาตรการเข้มในการป้องกันโควิด-19 โดยขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และสื่อมวลชนเวิร์กฟรอมโฮม และขอความร่วมมือออกมาตรการให้สื่อมวลชนงดเข้ามาปฏิบัติงานภายในทำเนียบฯ นับตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุด น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ ผอ.สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า ในวันจันทร์ที่  24 พ.ค.นี้ ทาง สลน.อนุญาตให้สื่อมวลชนมาปฏิบัติหน้าที่ภายในทำเนียบรัฐบาลได้แล้ว แต่กำหนดให้สถานีโทรทัศน์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่วันละ 2 ทีม สำนักข่าววันละ 2 คน และต้องปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด.
    

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"