GCNT จับมือ สอวช. จัดโปรแกรม Circular Design ชวนภาคเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน


เพิ่มเพื่อน    

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT (Global Compact Network Thailand) เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เชิญชวนภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนเศรษกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตั้งเป้า 100 องค์กรใน 10 เส้นทางธุรกิจ เข้าร่วมกิจกรรมการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ภายใต้โครงการการพัฒนานโยบายเพื่อสร้างขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน  

 

นางสาวธันยพร กริชทายาวุธ  ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับ สอวช. ดำเนินโครงการสร้างขีดความสามารถด้านการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) เพื่อสร้างความร่วมมือของภาคเอกชนในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน  โดยใช้องค์ความรู้จาก CIRCO  ด้วยการสนับสนุนของสถานทูตเนเธอร์แลนด์  จัดการอบรมให้กับผู้นำอบรม (Trainer) ออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) จำนวน 100 องค์กร ใน 10 เส้นทางธุรกิจ (Track)  อาทิ อาหาร ก่อสร้าง พลาสติก ยานยนต์ ชุมชน ฯลฯ โดย ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องการพัฒนาที่ยั่งยืน  ตามพันธกิจของสมาคมฯ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ตลอดกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยส่งเสริมการปรับวิธีคิด ปรับการออกแบบให้เป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ (new business model) ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หวังว่าผู้ประกอบการจะได้เห็นโอกาสสำหรับธุรกิจ ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ก่อมูลค่าทางเศรษฐกิจและตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

นอกจากนี้  ยังมองเรื่องการขยายผลและต่อยอดไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือและการออกแบบของ CIRCO International Hub ที่เหมาะสมกับบริบทไทย รวมทั้งสร้างเครือข่ายและระบบนิเวศ (Eco-System) ด้านการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ตลอดจนถอดบทเรียนปัจจัยและช่องว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย  เพื่อพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เหมาะสมกับประเทศไทยด้วย

 

ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์  ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) โมเดลเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันเป็นวาระแห่งชาติ แต่การขับเคลื่อนโดยภาครัฐยังมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการบูรณาการการขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างครบวงจร จึงจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศและปัจจัยเอื้อสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน ความร่วมมือ ระหว่าง สอวช. และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการพัฒนานโยบายเพื่อสร้างขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ได้ผลลัพธ์ตอบ 2 ปัจจัยเอื้อ ได้แก่ การลงมือพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการจริง และเป็นการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือของเครือข่าย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศของเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยต่อไป

 

ทั้งนี้ หลักสูตรการออกแบบหมุนเวียนของ CIRCO ถูกพัฒนามาจากกระบวนการ design thinking , business model design และ supply chain analysis ผนวกกับแนวคิด  “Products that Last” ซึ่งถูกวิจัยและพัฒนา โดยมหาวิทยาลัย Technical University of Delft (TU Delft) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และถูกนำไปฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศอื่น ๆ อีก 8 ประเทศ เช่น สิงคโปร์ บราซิล ตุรกี ศรีลังกา อินโดนีเซีย โดยเป็นเครื่องมือขยายการดำเนินงานเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้และสร้างเครือข่าย Innovation hub จากการดำเนินหลักสูตรนี้ในประเทศต่างๆ ด้วย

 

ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตร Circular Design ดังกล่าว จะได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งวิธีการเปลี่ยนต้นทุนทางธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เคยสูญเสียไปให้เป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆได้อีกครั้ง โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน (value destruction) การหาคุณค่าด้านการหมุนเวียน (circular proposition) จนสามารถสร้างเส้นทาง (Roadmap) ที่สามารถนำไปดำเนินงานต่อในองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนและจุดประกายไอเดียใหม่ๆ กับองค์กรที่หลากหลายในชั้นเรียน และกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากนานาชาติที่กำลังเริ่มต้นเส้นทางสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยแนวคิด “Creating business through circular design”

 

“การเข้าร่วมโครงการ circular design จะตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่ต้องการหาเครื่องมือที่ช่วยลดปัญหาต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ และมองหานวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สำคัญของภาคธุรกิจให้มีขีดความสามารถในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และธุรกิจของตน ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ธันยพร กล่าวทิ้งท้าย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"