ปฏิวัติแบบอัจฉริยะ


เพิ่มเพื่อน    

          ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมกำลังมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาแทบจะตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากก็คือ การนำระบบอัจฉริยะหรือที่หลายๆ คนเรียกกันอย่างสั้นๆ ว่าสมาร์ทนั้น เข้ามาเป็นเฟืองหลักสำหรับขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน ทุกวันนี้ก็ต้องมีคำว่าสมาร์ทเข้าไปร่วมอยู่ด้วย แม้กระทั่งสิ่งของที่เราใช้กันอยู่ที่ทุกวันนี้อย่างสมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี หรือสมาร์ทคาร์

            ซึ่งระบบอัจฉริยะนี้เป็นจุดขายและดึงดูดความสนใจได้มากทีเดียวในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากความง่ายและความสะดวกสบายที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ รวมทั้งยังตอบโจทย์เทรนด์การพัฒนาของโลกได้อย่างถูกต้อง จุดนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่สังคมจะหยิบยกเรื่องระบบอัจฉริยะมาใช้ให้ครอบคลุมทุกมิติ จนปัจจุบันที่การพัฒนาธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ก็นำความอัจฉริยะนี้เข้ามาใส่เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว 

            เช่นเดียวกับการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม ที่เดิมไม่ได้เน้นในเรื่องของความอัจฉริยะเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเห็นถึงความสำคัญก็มีแนวทางที่จะพัฒนาโรงงานอัจฉริยะขึ้นมา ซึ่งควบรวมทุกเรื่องในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิตที่มีความทันสมัย การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เอื้อต่อการทำงานให้สะดวก ง่าย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งในเรื่องของการประหยัดพลังงานและการใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

            โดยระบบสมาร์ทเหล่านี้นับเป็นสิ่งที่หลายๆ สถานประกอบการควรหันมาใช้และให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างทั้งภาพลักษณ์ การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้รับมือได้ทันกับบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

            และประเทศหนึ่งซึ่งให้ความสำคัญกับการนำระบบสมาร์ทมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมคือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเห็นได้จากการนำระบบไอโอที หุ่นยนต์ เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย และระบบการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการดำเนินงานหลายๆ ประเภท โดยระบบสมาร์ทต่างๆ ของญี่ปุ่นยังเป็นต้นแบบและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมของหลายๆ ประเทศ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมในไทย 

            นายทาดาชิ โยชิดะ ประธานสมาคมบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น หรือ JMA กล่าวว่า โรงงานอัจฉริยะจะไม่ใช่แนวคิดในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอีกต่อไป หากแต่จะเป็นพัฒนาการและการปฏิวัติรูปแบบโรงงานแบบใหม่ที่หลายๆ ระบบจะต้องมีความเป็นอัจฉริยะ มีฟังก์ชันการใช้งานที่ชาญฉลาด และมีเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในการก้าวไปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะนั้น สถานประกอบการต่างๆ จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติของความเป็น “SMART” 4 ประเภท ได้แก่

            1.Smart People คือการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะและมีความพร้อมกับการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในยุคใหม่อยู่เสมอ ซึ่งควรจะเริ่มตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา เช่น ทักษะการเขียน Coding ทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเฉพาะทาง การผลิตวิศวกรที่สามารถรองรับความต้องการและผลกระทบทางอุตสาหกรรม 2.Smart Technology & Innovation โดยเป็นการนำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในทุกกระบวนการทางอุตสาหกรรม เพื่อให้ผลลัพธ์ในกระบวนการผลิตและการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และลดผลเสียให้น้อยลงที่สุด 

            3.Smart Maintenance หรือระบบบำรุงรักษาอย่างชาญฉลาด ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างวิศวกรรมการซ่อมบำรุงรักษา ระบบการบริหารจัดการการผลิต ระบบสารสนเทศ การวิเคราะห์ข้อมูล การเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต คลาวด์ และบิ๊กดาต้า และ 4.Smart Environment & Community ซึ่งเป็นการจัดการบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงาน เช่น พื้นที่ที่สามารถแลกเปลี่ยนแนวความคิดเพื่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือมีโซลูชั่นที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมกับชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเติบโตและยั่งยืน

            เห็นได้ว่าการพัฒนาโรงงานแบบอัจฉริยะนั้นไม่ใช่เพียงตอบโจทย์ต่อกำลังการผลิตเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมในทุกส่วนการทำงานให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยจำเป็นต้องหยิบยกเรื่องนี้ให้เป็นเป้าหมายในการปฏิวัติและพัฒนาองค์กรเป็นอันดับแรก. 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"