ป้อมเอาแน่ดาวเทียมคสช. ปฏิรูปกองทัพลดกำลังพล


เพิ่มเพื่อน    

    ดาวเทียมทหาร! "บิ๊กป้อม" เอาแน่ สั่งเหล่าทัพพัฒนากิจการอวกาศ ยกระดับบริหารสถานีเอง รองรับหลังหมดสัญญา "ไทยคม" ปี 64 กห.ปฏิรูปกองทัพ ลดกำลังพล โอนคนที่ไม่จำเป็นต้องมียศ บรรจุ ขรก.พลเรือนกลาโหมแทน
    ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภากลาโหม ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน จะมีการนำเสนอแนวความคิดด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหม เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2561-2570 โดยมีเป้าหมายให้กระทรวงกลาโหมจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการใช้เทคโนโลยีอวกาศด้านความมั่นคงของประเทศโดยตรง มิใช่เพียงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับหน่วยงานอื่นเท่านั้น ทั้งนี้ วิสัยทัศน์กระทรวงกลาโหมเป็นองค์กรหลักด้านกิจการอวกาศ ที่มีศักยภาพในการเตรียมกำลัง ผนึกกำลัง และพัฒนาด้านกิจการอวกาศ เพื่อการป้องกันประเทศ”
    อย่างไรก็ตาม มีการเผยแพร่ข้อมูลอ้างอิงเอกสารวาระการประชุม โดยระบุถึงพันธกิจกระทรวงกลาโหม ด้านการพัฒนา เสริมสร้าง และบูรณาการขีดความสามารถด้านกิจการอวกาศ เพื่อการป้องกันประเทศ ตามยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ( พ.ศ.2560-2579) ด้วยการเตรียมกำลัง การผนึกกำลัง และการพัฒนา
    ประเด็นยุทธศาสตร์ย่อย ประกอบด้วย 1.การสร้างความพร้อมด้านกิจการอวกาศของหน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหม ให้สามารถนำเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจทางด้านความมั่นคง ในการป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติ รวมทั้งเพื่อการพัฒนาประเทศ และการช่วยเหลือประชาชน ทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ 
    2.การสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และบูรณาการทรัพยากรที่มี เพื่อให้กระทรวงกลาโหมมีศักยภาพด้านกิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ เมื่อได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและเมื่อถึงเงื่อนไขที่กำหนด สร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ และรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ได้อย่างบังเกิดผลเป็นรูปธรรม 
    3.การสร้างนวัตกรรม องค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านกิจการอวกาศ การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ให้ทันต่อภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ เทคโนโลยี และสถานการณ์ความมั่นคงของโลก มีการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมอวกาศในการก้าวไปสู่กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ 
    ทั้งนี้ จะมีการชี้แจงโครงการดาวเทียม THEIA โดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดคุณสมบัติและประสิทธิภาพการใช้งานตามแนวคิดร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว และต้องใช้งบประมาณสูงมาก 
    ภายหลังการประชุมสภากลาโหม พล.ท.คงชีพ  ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ติดตามพัฒนาการของภัยคุกคามด้านกิจการอวกาศ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และให้บูรณาการงานร่วมกับกองบัญชาการกองทัพไทยและเหล่าทัพ รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ   พัฒนาขีดความสามารถด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหม ให้เป็นไปตามแผนงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถของกำลังพลจากระดับผู้ใช้งาน สู่การเป็นผู้ควบคุมและบริหารสถานีดาวเทียม เพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเองและรองรับระบบงานความมั่นคงด้านอวกาศของประเทศในอนาคต (การใช้ดาวเทียมสอดแนม ระบบขีปนาวุธนำวิถีด้วยดาวเทียมนำร่อง และระบบนำร่องอากาศยานไร้คนขับในการทิ้งระเบิดเป้าหมาย)
    พล.ท.คงชีพกล่าวว่า ขณะนี้เราเช่าดาวเทียมไทยคมเพื่อการสื่อสารอยู่ ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2564 ในส่วนของความมั่นคง เราใช้ธีออส ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต่อไปเราจะพัฒนาเป็นดาวเทียมของเราที่ใช้ในระบบเอง โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีสร้างธีออส 2 ขึ้นมาใหม่ 
    เมื่อถามว่า จะผนวกการให้ความมั่นคงใช้ธีออส 2 ด้วยใช่หรือไม่ พล.ท.คงชีพกล่าวว่า แผนตรงนี้ยังไม่ชัดเจน แต่เป้าหมายคือการพัฒนาให้มีดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของรัฐ แต่จะเรียกรวมว่าดาวเทียมทหารเลยคงไม่ใช่ เพราะเป็นการใช้รวมกันทั้งหมด
    “ตอนนี้เราเช่าดาวเทียมเขาอยู่ แต่ถ้ารัฐมีเองเราก็ให้คนอื่นเช่าได้ เพราะเรามีช่องสัญญาณความมั่นคงที่เราคุมเอง เพราะในขณะนี้มีการใช้ดาวเทียมมากขึ้น ระบบต่างๆ ควบคุมด้วยดาวเทียมมากขึ้น เราจึงต้องเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนากิจการอวกาศไปสู่จุดที่มี และใช้ด้วยตัวเราเอง ทุกวันนี้เราเป็นผู้ใช้ ต่อไปต้องพัฒนาตัวเราไปเป็นผู้บริหารสถานีดาวเทียมด้วย“ โฆษกกระทรวงกลาโหมระบุ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามแผนจะใช้เวลาเท่าไหร่ในการที่ไทยจะมีดาวเทียมใหม่ พล.ท.คงชีพกล่าวว่า คาดว่าคงภายในปี 2564 เพราะไทยคมจะหมดสัมปทานในปี 2564 เราจึงต้องเตรียมตัวของเราไว้ด้วย โดยงานหลักที่รับผิดชอบคือกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เราจะดูในส่วนของกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณ ยังไม่แน่ชัดว่าวงเงินเท่าใด แต่ถ้ามีจะคุ้มค่า ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ งานด้านการทหาร ความมั่นคง  การเฝ้าระวังทางอากาศ การสื่อสาร การสำรวจเพื่อการพัฒนา และภาพถ่ายทางอากาศ  
    นอกจากนี้ ที่ประชุมสภากลาโหมยังรับทราบทิศทางการปฏิรูปกองทัพสู่อนาคต ต้องมีความชัดเจนและเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ  โดยขอให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมกับกองบัญชาการกองทัพไทย ศึกษาและหารือกับเหล่าทัพ ทำความเข้าใจร่วมกัน และจัดทำข้อมูลหรือแผนงานที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายในกรอบเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะด้านกำลังพล ได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ไปพิจารณา ลดอัตรากำลังพลลงและปรับอัตรากำลังพลที่ไม่จำเป็นต้องมียศ โดยพิจารณาบรรจุข้าราชการพลเรือนกลาโหมแทน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"