'นพ.ประเวศ  วะสี'  เผยแพร่บทความ 'วิกฤติชาติบวกวิกฤติการเมือง ทางออกคืออะไร' 


เพิ่มเพื่อน    

20 พ.ค.64 - ศ.นพ.ประเวศ  วะสี   เผยแพร่บทความ เรื่อง วิกฤติชาติบวกวิกฤติการเมือง ทางออกคืออะไร มีเนื้อหา ดังนี้

วิกฤติอีโคโมโนโควิด (Ecomono Covid Crisis) ซ้ำลงบนวิกฤตเก่าแห่งความเหลื่อมล้ำ และขาดความเป็นธรรม คือ วิกฤติชาติ ที่ระบบการเมืองไม่มีสมรรถนะจะแก้ได้ เพราะการเมืองก็วิกฤติด้วย

วิกฤติความซับซ้อน (Complexity crisis) นั้นยากสุดๆ ที่อำนาจใช้ไม่ได้ผล การเมืองเรื่องอำนาจ หรือการเมืองเกมอำนาจ ที่ขาดความรู้และปัญญาไม่สามารถฝากความยากไปได้ การเมืองถูกออกแบบมาให้แตกแยกและอ่อนแอจึงวิกฤติ การเมืองฝรั่งเศสเคยอ่อนแอและวิกฤติแบบนี้ ไม่มีทางออกต้องหันไปพึ่ง นายพลชาร์ล เดอโกล เราก็ไม่มีคนอย่าง ชาร์ล เดอโกล ให้เป็นที่พึ่ง แล้วจะทำอย่างไร

รัฐสภาของเราแม้จะมีจุดอ่อนหลายอย่าง ถ้าใครตามสังเกตระยะยาว จะเห็นหลายครั้งที่รัฐสภามีความไวต่อความรู้สึกของสังคม หรือกระแสสังคม และตอบสนอง

ฉะนั้นเฉพาะหน้าขณะนี้ สังคมกับรัฐสภาจะต้องร่วมกันหาทางออก จากสภาวะวิกฤติชาติ 

วิธีหนึ่ง ถ้านาวาประยุทธ์ล่ม คือ ตั้ง รัฐบาลเฉพาะกาล โดยรัฐสภา ด้วยการปรึกษาหารือกับภาคสังคม สรรหาและลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีปัญญาบารมี เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และให้อิสระแก่นายกรัฐมนตรีในการสรรหาคนที่ดีที่สุด เก่งที่สุด มาร่วมบริหารประเทศ โดยไม่ใช้ระบบโควต้าของกลุ่มการเมือง

ระบบโควต้าของกลุ่มการเมืองที่จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นระบบที่ไร้ศีลธรรม นำไปสู่ความเสื่อมเสียนานาประการ

ควรจะเป็นสิทธิของประเทศที่จะได้คนที่ดีที่สุดเก่งที่สุด มาเป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่สิทธิของกลุ่มก๊วนใดๆ ระบบสิทธิของกลุ่มก๊วนในการได้โควตารัฐมนตรี ควรจะยกเลิกไปตลอดกาล 

เมื่อได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ (โดยอเนกนิกรสโมสรสมมติ) ดังกล่าว และนายกรัฐมนตรีมีอิสระในการเลือกคนที่ดีที่สุด เก่งที่สุด มาเป็นคณะรัฐมนตรี รัฐบาลเฉพาะกาลก็จะมีสมรรถนะสูงและสามารถดึงทุกภาคส่วนของสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้วิกฤติชาติ นี้คือกระบวนการที่เรียกว่า “เปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง” 
ระบบอำนาจนั้น ปิดพื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ทางปัญญา ทำให้ชาติไม่มีพลัง ออกจากสภาวะวิกฤติไม่ได้ 

พลเอกประยุทธ์เป็นคนประเภทปิดหรือเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญา ก็ควรจะได้รับการวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ของสังคมไทยหากรัฐบาลเฉพาะกาล กับการเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวางได้ผลดี ในช่วงเวลาปีครึ่งถึงสองปี ก็จะเป็นรูปแบบที่จะวางระบบการเมืองที่ดีต่อไปในอนาคต

หมายเหตุ การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐสภากับสังคม เป็นการบรรจบกันของประชาธิปไตยทางอ้อมกับประชาธิปไตยทางตรง รูปแบบหนึ่ง

ระบบรัฐสภาที่ใช้กันในปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม (Indirect democracy) หรือ ประชาธิปไตยตัวแทน เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกในยุคโบราณ ที่การคมนาคมและการสื่อสารยังไม่สะดวก ราษฎรต้องเลือกตัวแทนขี่ม้า หรือนั่งเกวียนไปประชุมที่เมืองหลวง

สมัยนี้การคมนาคมและการสื่อสารสะดวกทั่วถึงทั้งประเทศ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้โดยตรง เป็นประชาธิปไตยทางตรง (Direct democracy) ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่ง คือ การมีสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนของสังคม เช่น ถ้าในสังคมนับได้ว่ามี ๑๐๐ ภาคส่วน ถ้าแต่ละภาคส่วนเลือกตัวแทนได้ ๕ หรือ ๑๐ คน สมาชิกสมัชชาแห่งชาติก็จะมี ๕๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ คน สมาชิกสมัชชาแห่งชาติจะมีความหลากหลายครบทุกภาคส่วนของสังคม มากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยคนค่อนข้างประเภทเดียวกัน คือคนที่เชี่ยวชาญในการหาเสียงให้ได้รับเลือกตั้ง 

ประชาธิปไตยทางตรงอีกรูปแบบหนึ่งคือ การมีศูนย์บิ๊กดาต้าประชาธิปไตย ที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารรับฟังความคิดเห็นของคนทั้งประเทศตลอด ๒๔ ชั่วโมง ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง และโดยวิธีนี้สามารถทำประชามติได้รวดเร็ว ราคาถูก สามารถทำประชามติทุกวันก็ได้ อีกวิธีหนึ่งคือการมีสภาองค์กรชุมชนและท้องถิ่น เป็นเครื่องมือให้ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระดับชาติ 

การเชื่อมโยงระหว่างประชาธิปไตยทางอ้อมกับประชาธิปไตยทางตรง จะทำให้ประชาธิปไตยมีฐานกว้างขึ้น เกมการเมืองแบบเก่าๆ ในสภาผู้แทนราษฎรจะทำไม่ได้ต่อไป ระบบประชาธิปไตยจะสมบูรณ์และมีคุณภาพมากขึ้น ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องศึกษาระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และสร้างสมรรถนะของชาติ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"